เมืองไทย 360 องศา
ตามกำหนดการที่แพลมออกมาก่อนหน้านี้พอรับรู้ได้ว่าภายในสัปดาห์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะเดินทางไปตรวจราชการและเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน
แม้ว่ายังไม่มีกำหนดการออกมาแบบเป็นทางการ ว่า จะเดินทางไปที่จังหวัดใด หรือพื้นที่ไหนบ้าง อาจจะด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย หรือว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเปิดเผยออกมาให้สื่อหรือสังคมได้รับรู้ล่วงหน้าหลายวันก็ตามที ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นมันอยู่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะลงไปพบปะกับประชาชนในภาคอีสาน มากกว่า
แน่นอนว่า กำหนดการแบบนี้ก็ต้องมีการอธิบายออกมาจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายทางการ ในทำนองว่า เป็นการเดินทางไปราชการไปตรวจความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้ มีปัญหา มีความคืบหน้าตามเป้าหมายหรือไม่ รวมไปถึงการไปรับฟังปัญหาจากปากของพี่น้องประชาชนโดยตรง เป็นแบบคำตอบมาตรฐาน จะออกมาแบบนี้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในทางการเมือง มันก็สามารถมองแบบนั้นได้ทุกครั้งที่คนอย่างนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางลงพื้นที่ พบปะกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งต้องยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่ฐานเสียงทางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ต่อยอดมาในนามพรรคเพื่อไทยของเขา และคนในครอบครัวของเขามานานหลายปี เรียกว่า สร้างการสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องนานนับสิบปี เป็นฐานการสนับสนุนแบบเหนียวแน่น แม้ว่าเบื้องหลังของการสนับสนุนดังกล่าว ล้วนมาจากโครงการประชานิยม ใช้งบประมาณของชาวบ้านไปแจกชาวบ้านแบบที่ตัวเองไม่ต้องลงทุนสักบาทก็ตาม แต่เอาเป็นว่าเขาได้สร้างความประทับใจ ดุจเทวดาก็แล้วกัน
แต่หลังจากเกิดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ผ่านมากว่าสองปี ก็เริ่มได้เห็นความเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยก็เห็นสัญญาณการสนับสนุนของฐานมวลชนในพื้นที่เริ่มลดน้อยลง ที่สังเกตเห็นได้ชัดที่สุด ก็คือ ผลจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา แม้ว่าหากพิจารณาในภาพรวมก็จะพบว่าภาคอีสานเป็นภาคที่ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพิจารณากันในรายละเอียดโดยการเปรียบเทียบตัวเลขก็จะเห็นประจักษ์ว่า จำนวนคนที่รับกับไม่รับ นั้นมันใกล้เคียงกัน เรียกว่า “ช่องว่าง” นั้นแคบเข้ามาจนสังเกตได้ ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาในบางจังหวัด กลับพบว่า มีตัวเลข “รับร่าง” มากกว่า
นั่นเท่ากับว่า ในพื้นที่แถบนี้ “เริ่มสั่งไม่ได้เต็มร้อย” แล้ว ซึ่งก็มีลักษณะใกล้เคียงกับพื้นที่ทางภาคเหนือ ที่แม้ว่าโดยรวมตัวเลขรับมากกว่าไม่รับ และเมื่อดูตามรายจังหวัดมีเหลือที่ไม่รับไม่มากนัก นี่ก็ถือว่าบรรยากาศเริ่มเปลี่ยนไปมากเหมือนกัน
ที่ผ่านมา หลังทราบผลการลงประชามติที่ “รับร่างรัฐธรรมนูญ” ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาขอบคุณประชาชน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันออกมาใช้สิทธิ์จนเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์ ทำให้อนุมานได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเห็นชอบของชาวบ้านส่วนใหญ่
ที่น่าสนใจก็คือ เขาได้ขอบคุณไปถึงพี่น้องในภาคอีสาน ที่ออกมาใช้สิทธิ์ และยืนยันว่า จะดูแลพี่น้องทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะออกเสียงรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม โดยย้ำว่า “ทุกคนเป็นคนไทย” เป็นพี่น้องร่วมชาติอะไรประมาณนี้แหละ
อย่างไรก็ดี หากมองอีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนกับการ “ตอกหน้า” ฝ่ายตรงข้าม คือ ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยพูดเอาไว้หลังชนะเลือกตั้ง ว่า “จะดูแลประชาชนในพื้นที่ที่เลือกพรรคของเขา” ก่อน ส่วนพื้นที่อื่น ๆ เอาไว้ทีหลัง ซึ่งนั่นเป็นวิธีคิดของพวกนักการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบ ไร้ธรรมาภิบาล
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติในคราวนี้ ก็ต้องยอมรับว่า มัน “เปิดทางให้นายกฯคนนอก” ได้มากขึ้น และคนนอกที่ว่านั้นมันก็เป็นไปได้สูงเหมือนกันที่จะเป็น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งที่ผ่านมา เขาก็ไม่เคยปฏิเสธ อย่างมากก็แค่พูดแบบตัดบทว่า “ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด” เท่านั้น
ดังนั้น เมื่อยังไม่ปฏิเสธ มันก็ยังพอลุ้นได้ถึงอนาคตภายหน้า ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงกำหนดการเดินทางไปพื้นที่ภาคอีสาน ที่กำลังจะมีขึ้นหากมอง “ในทางการเมือง” มันก็มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งในเรื่องหนทางข้างหน้าในกรณี “คนนอก” ก็ต้องมองไปที่ฐานเสียงด้านมวลชนที่ยังถือว่ามีช่องโหว่อยู่บ้าง ก็ต้องลงมือกระชับพื้นที่เสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขายได้ไม่ยาก เนื่องจากเขาก็เป็น “ลูกอีสาน” เหมือนกัน ถือว่ามีบุคลิกครบเครื่อง
หากย้ำกันอีกทีว่า กำหนดการลงพื้นที่ภาคอีสานเที่ยวนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมมีความหมายในทางการเมืองภายหน้า มันก็เหมือนกับการเคลียร์ทางไว้ล่วงหน้าหรือเปล่า แต่อย่างน้อยนี่ก็คือโรดแมปของเขา ส่วนจะเป็น “โรดแมปใหม่” หรือไม่ก็ต้องจับตามอง แต่มันเริ่มเข้าเค้ามากขึ้นทุกทีแล้วแหละ !!