xs
xsm
sm
md
lg

“เสรี” แจง ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ลงมติกี่ครั้งก็ได้ ชี้ต้องใส่คำถามพ่วงใน ม.272

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เสรี สุวรรณภานนท์ ปธ.กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปท. (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง มองแก้ร่างรัฐธรรมนูญต้องนำสาระคำถามพ่วงบัญญัติแทนมาตรา 272 ส่วน ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ และลงมติกี่ครั้งก็ได้ในรอบ 5 ปี

วันนี้ (18 ส.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวแสดงความเห็นต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วงว่า เมื่อประชาชนได้ออกเสียงประชามติด้วยคะแนนกว่า 15 ล้านเสียง ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามที่มีข้อความว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”ดังนั้น การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องนำ “ผลการออกเสียงประชามติ” ในส่วนคำถามพ่วงที่มีสาระดังกล่าวไปบัญญัติไว้แทนมาตรา 272 ที่บัญญัติในวาระเริ่มแรกของบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน และไม่สามารถนำข้อความเดิมของมาตรา 272 ดังกล่าวมาใช้ได้เพราะมีบทบัญญัติของคำถามพ่วงดังกล่าวมาแทนที่ไปแล้ว และต้องดำเนินการให้ไปตามคำถามพ่วงเป็นอันแรกก่อนว่า บทเฉพาะกาลตามคำถามพ่วงนี้ ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ว่าจะเลือกนายกรัฐมนตรีกี่ครั้งก็ตามในช่วงเวลา 5 ปีแรกดังกล่าว

ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญใหม่ มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ จากคำถามพ่วงที่กำหนดข้อความว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่เป็น “ผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ” บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีนี้ เมื่อ ส.ว.เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้ว ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบดังกล่าว ส.ว.แต่ละคนจึงเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบคนที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งจะต้องตีความอย่างกว้างให้เป็นไปตามผลของการทำประชามติว่าจะต้องพิจารณาตั้งแต่การเริ่มต้นกระบวนการ คือ การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงเป็นส่วนหนึ่งของ การพิจารณาบุคคล ตั้งแต่เริ่มแรกตามเจตนารมณ์ของผลประชามติที่ให้ ส.ว.เข้ามาร่วมกับ ส.ส.ในการเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีดังกล่าว และเพื่อให้กระบวนการเสนอชื่อโดยสมบูรณ์จึงต้องนำมาตรา 159 วรรคสองมาเทียบเคียงและบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 เพิ่มเติมต่อไปเป็นวรรคสองว่า “การเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของสมาชิกรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา”


กำลังโหลดความคิดเห็น