ปชป.รุมค้านแนวคิด ให้ ส.ว.ร่วมสรรหานายกฯ คนนอกทันที ระบุโดยหลักต้องโหวตนายกฯ ที่มาจาก ส.ส.ตามบัญชีก่อน หากผิดไปจากนี้ทำไม่ได้ แต่ถ้า กรธ.ดึงดันเจอร้องศาล รธน.วินิจฉัย ด้าน “สาธิต” ชี้หากใช้ กม.พรรคการเมืองปี 24 เหมือนเป็นการเซตซีโร่ ขณะที่รองประธาน สนช.ยันทำตามหลักการ ไม่ต้องกังวล
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนสาระคำถามพ่วงประเด็นการให้ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีคนนอกว่า ตามหลักการ ส.ส.ต้องได้รับการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน ตามบัญชีรายชื่อที่เสนอมาของแต่ละพรรค แต่ถ้าเลือกไม่ได้ ค่อยไปขอยกเว้น โดยต้องให้ ส.ว.ยินยอมด้วย แต่ถ้ามีใครมาแก้ไข โดยตัดข้ามขั้นตอนของ ส.ส.ออกไปตามที่เป็นข่าว ตนว่ามันทำไม่ได้ ถ้าทำแล้วรูปแบบการเลือกนายกฯ จะต่างจากร่างที่นำไปให้ประชาชนลงประชามติ
“เรื่องนี้อย่าคิดว่าใครโกหกหรือไม่โกหก ผมไม่คิดว่าใครจะกล้าทำ ถ้ามีคนทำอาจจะต้องถูกส่งตีความที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า มันไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว และไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลวงประชามติ”
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ว่าร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่เพิ่งผ่านประชามติไปนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อเลือกนายกฯ ตามบัญชี แต่ถ้าเลือกกันไม่ได้ ในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ต้องให้เสียงกึ่งหนึ่งของ ส.ส.หรือเกิน 250 คน เสนอต่อประธานรัฐสภา ให้รัฐสภา มีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีรายชื่อ จากนั้นจึงใช้เสียงของรัฐสภา คือ ส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีรายชื่อซึ่งถือเป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่เสนอให้ประชาชนลงคะแนนผ่านประชามติ ดังนั้น เรื่องนี้จะแก้ไขกันอย่างไรต้องเป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติแล้ว ใครจะไปตัดตอน เพิ่มเติม ให้ขาด หรือเกินไปจากนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถือว่าไม่เคารพเสียงของพี่น้องประชาชน
ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการร่างกฎหมายลูกเร่งด่วน 4 ฉบับเพื่อรองรับการเลือกตั้งตามแผนโรดแมปของ คสช.ว่า ขอให้ กรธ.ตั้งหลักคิดให้ดีในการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หากต้องการส่งเสริม สนับสนุนให้พรรคการเมืองเข้มแข็งเพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพก็ต้องเขียนระบุให้ชัดเจน หากมีผู้เสนอให้มีการลดทอน หรือทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงก็อย่าบัญญัติไว้ ถึงแม้จะมีข่าวออกมาว่าไม่มีการเซตซีโร่ พรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ แต่ก็มีข่าวออกมาว่าจะมีการเขียนกฎหมายพรรคการเมืองอิงฉบับปี 2524 ที่แบ่งเป็นสองขั้นตอน คือ 1. ยื่นขออนุญาตขอจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองโดยคณะบุคคลตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป โดยต้องไปหาสมาชิกพรรคทั่วประเทศให้ครบ 5,000 คนตามที่กรอบเวลากฎหมายกำหนด จึงสามารถจัดประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคได้ 2. จากนั้นถึงสามรถจดขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองและสามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้นั้นก็เสมือนเป็นการเซตซีโร่เช่นกัน
นายสาธิตกล่าวต่อว่า หากประเทศไทยต้องการส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็งจริงก็ควรให้พรรคการเมืองพัฒนาการตัวเอง กฎหมายที่ออกมาต้องเอื้อต่อการสนับสนุนพรรค ไม่ใช่บั่นทอน เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับการบั่นทอนพรรคใหญ่ที่มีมาแต่เดิมและส่งเสริมพรรคขนาดกลางและเล็กให้มีอำนาจในการต่อรอง เมื่อเป็นเช่นนี้การเมืองจะมีเสถียรภาพได้อย่างไร ยิ่งขณะนี้ทราบว่ามี สปท.บางส่วนมีแนวคิดเสนอให้ออกแบบในลักษณะบังคับประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ตามกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ ให้ทุกคนต้องเสียเงินค่าสมาชิกพรรคปีละ 200-300 บาท โดยอ้างเหตุผลว่าทุกคนจะได้มีส่วนร่วมและถือว่าเป็นเจ้าของพรรค แต่ตนเห็นว่ากลับเป็นการตัดตอนชาวบ้านที่ต้องการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพราะทุกคนต่างมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่แล้วจะยิ่งเป็นการตัดการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนมากกว่า
ขณะที่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวว่า การที่ สนช.เข้าไปหารือกับ กรธ.เพื่อช่วยกันทำงานให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป จะได้เป็นไปตามขั้นตอนไม่โยนกันไปมา เราเพียงเสนอไป แต่จะรับฟัง ปรับแก้แค่ไหนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กรธ. แต่ยืนยันว่า สนช.จะไม่เสนอ หรือทำอะไรเกินเลยจากหลักการ ไม่ต้องกังวล เราคำนึงถึงหลักความถูกต้อง หากนักการเมืองอาจจะส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ตนว่าคงไม่ต้องส่ง เพราะเมื่อ กรธ.แก้ไขร่างเสร็จก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอยู่ดี ไม่ต้องเป็นห่วง รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เราระมัดระวังเต็มที่ ไม่หมกเม็ด ไม่หัวหมอแน่ อย่ากังวลเกินไป