xs
xsm
sm
md
lg

กสม.เตือนใช้ “กุญแจเท้า” กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ละเมิดสิทธิ-ศักดิ์ศรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตำหนิกรมราชทัณฑ์ใช้กุญแจเท้ากับนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ แนะทบทวนการรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ใช้เฉพาะคดีอุกฉกรรจ์ เตรียมเสนอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่อ กรธ. ระบุร่างรัฐธรรมนูญบางเรื่องก้าวหน้า บางเรื่องมีปัญหา

วันนี้ (9 ส.ค.) นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงกรณีมีการร้องเรียนว่า กรมราชทัณฑ์ใช้เครื่องพันธนาการประเภทกุญแจเท้ากับนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่กระทำผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมาเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนว่า กสม.ได้ตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่นักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้จัดกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างไม่ได้เป็นการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงสะเทือนขวัญต่อประชาชน จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่จะใช้กุญแจเท้ากับผู้ต้องขังได้ การที่เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ใช้กุญแจเท้ากับผู้ต้องขังทั้ง 7 ราย จึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยไม่มีอำนาจทางกฎหมาย และการทำให้ภาพของการใส่กุญแจเท้าปรากฏต่อสาธารณชนไปทั่วโลก เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทั้งนี้ ทาง กสม.จึงเห็นควรเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาโดยให้กรมราชทัณฑ์กำชับตักเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย และป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีก รวมทั้งควรมีการทบทวนความรู้ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ให้เป็นมาตรฐานสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามการพาตัวผู้ต้องหาออกจากเรือนจำไปด้านนอกตามกฎหมายสามารถใช้กุญแจมือได้ หรือไม่ใช้ก็ได้แล้วแต่ดุลพินิจของผู้คุม มีเพียงคดีอุกฉกรรจ์เท่านั้นที่จะใช้กุญแจเท้าหรือตรวน

นายวัสยังกล่าวถึงการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าขณะนี้ทาง กสม.ได้เตรียมร่างเนื้อหาที่จะเสนอคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่กฎหมายเกี่ยวกับ กสม.เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติในประเด็นสิทธิและเสรีภาพนั้น ส่วนตัวมองว่ามีความคิดเห็นที่หลากหลายบางคนบอกว่าดี บางคนบอกพอไปได้ ขณะที่บางคนบอกว่าไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่มีการเพิ่มหน้าที่ของรัฐเข้ามา เป็นเรื่องวิธีคิดที่ต่างกัน บางเรื่องก้าวหน้าขึ้น แต่บางเรื่องก็อาจเป็นปัญหา



กำลังโหลดความคิดเห็น