ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ แจงเครื่องพันธนาการ 7 นักโทษประชามติ เป็น “กุญแจเท้า” ไม่ใช่ “โซ่ตรวน” เผย เป็นไปตามกฎเมื่อพาผู้ต้องขังไปนอกเรือนจำ ลั่นขออภัยแทน “อังคณา” ที่ให้ข่าวทำให้เข้าใจผิด โบ้ยเป็นแค่ความเห็นส่วนตัว
วานนี้ (8 ก.ค.) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกหนังสือ เรื่อง “การให้ข่าวกรณีควบคุมตัว 7 นักศึกษาผู้ต้องขัง” ความว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชน ว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติท่านหนึ่ง (นางอังคณา นีละไพจิตร ) ได้ให้ข่าวว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนนำ 7 นักศึกษาผู้ต้องขังตามหมายขังของศาลทหารไปยื่นคำร้องขอฝากขังต่อ โดยมีการใส่โซ่ตรวนไว้ที่ข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ภาพที่ออกมาเป็นการละเมิดต่อสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลเหล่านี้ และต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของตน หากไม่ทำ แล้วผู้ต้องหาหลบหนีไป ใครจะรับผิดชอบ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยมาพบตน มีการหารือกันว่า มีอะไรข้องใจก็มาคุยกันได้ ไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เป็นกระแสของสื่อ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดนั้น
ข้อเท็จจริงปรากฏดังนี้
1. การควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 ดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวตามหมายขังของศาลทหารกรุงเทพพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 กรณีห้ามมั่วสุมเกิน 5 คน และทำกิจกรรมยั่วยุปลุกปั่นทางการเมือง อันสืบเนื่องมาจากการดำเนินการเพื่อออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่จังหวัดสมุทรปราการ
2. ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 7 เป็นครั้งที่ 2 โดยมีการควบคุมตัวผู้ต้องขังไปยังศาลทหารกรุงเทพ ขณะที่ผู้ต้องขังลงจากรถยนต์ มีภาพผู้ต้องขังถูกพันธนาการเผยแพร่สู่สาธารณชนไปทั่วประเทศและทั่วโลก
ประธาน กสม. ขอชี้แจงดังนี้
1) ตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 เครื่องพันธนาการที่จะใช้แก่ผู้ต้องขังมี 5 ประเภท คือ (1) ตรวน (2) กุญแจมือ (3) กุญแจเท้า (4) ชุดกุญแจมือและกุญแจเท้า และ (5) โซ่ล่าม กรณีการพันธนาการผู้ต้องขังทั้ง 7 เป็นการใช้กุญแจเท้า ไม่ใช่โซ่ตรวนตามที่มีการให้ข่าว
2) ตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ข้อ 28 วรรคสาม ในกรณีที่ต้องนำตัวคนต้องขังหรือคนฝากไปนอกเรือนจำ ถ้าใช้เครื่องพันธนาการ ให้ใช้กุญแจมือ เว้นแต่คนต้องขังในคดีอุกฉกรรจ์จะใช้ตรวน หรือกุญแจเท้า หรือชุดกุญแจมือและกุญแจเท้าก็ได้ และตามข้อ 30 ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการอย่างอื่นซึ่งกำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นผู้บัญชาการเรือนจำจะอนุญาตให้ใช้เครื่องพันธนาการอย่างอื่น ซึ่งเห็นว่าเบากว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ก็ได้
3) โดยที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรกลุ่ม ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง 7 คน ตามที่เป็นข่าว กสม. ซึ่งเป็นองค์กรกลุ่ม จึงยังไม่สามารถจะให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขังว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
การให้ข่าวกรณีการควบคุมตัวผู้ต้องขัง 7 คน เป็นการให้ข่าวของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะ กสม. ซึ่งเป็นองค์กรกลุ่ม หรือตัวแทนของ กสม. และสำนักงาน กสม. แต่ประการใด
4) ในกรณีการควบคุมตัวผู้ต้องขัง 7 คน ตามข่าวดังกล่าวข้างต้น เมื่อผู้มีอำนาจหน้าที่ได้ตัดสินใจใช้เครื่องพันธนาการใดแล้ว มาตรการที่พึงใช้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ต้องขังในอนาคตควรเริ่มต้นพิจารณาใช้เครื่องแต่งกายของผู้ต้องขังให้สามารถปกปิดเครื่องพันธนาการไว้ และในระหว่างนำตัวผู้ต้องขังไปฝากขังต่อศาล ควรป้องกันมิให้มีการถ่ายภาพผู้ต้องขังดังกล่าว โดยอาจใช้ฉากกั้นมิให้มองเห็นภาพขณะผู้ต้องขังลงหรือขึ้นรถยนต์ที่ใช้ควบคุมผู้ต้องขังไปศาล หรือกลับจากศาล หรือใช้มาตรการอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้
5) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ประธาน กสม. และคณะ ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา) เพื่อปรึกษาหารือข้อราชการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่สถาบันแห่งชาติ เพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของไทยจะถูกลดสถานะจากระดับ A เป็น B รวมทั้งหารือข้อราชการเกี่ยวกับการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยจะต้องประสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงาน กสม. ซึ่งเป็นหน่วยแรกที่รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากประชาชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
6) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 กระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งที่ 94/2559 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ มีปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการ กสม. หรือ รองเลขาธิการ กสม. ที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 และผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้ได้เริ่มประชุม เพื่อดำเนินการประสานความร่วมมือด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้ว และที่ผ่านมา การประสานงานภายใต้กลไกนี้ก็เป็นไปด้วยดี
7) หากการให้ข่าวของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติท่านใดที่มิใช่ความเห็นร่วมกันของ กสม. ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในปัญหาข้อเท็จจริง หรือปัญหาข้อกฎหมาย หรือกระทบกระเทือนแก่บุคคล หรือองค์กรใด ประธาน กสม. ใคร่ขออภัยแทนมา ณ โอกาสนี้