xs
xsm
sm
md
lg

ปูด “คุณยาย” 82 ปี ถูกจับเพราะทวงคืนผืนป่า - กสม.แจงปมโซ่ตรวนใช้ “กุญแจเท้า” จริงไม่ดราม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงผลงานครบรอบ 15 ปี เฉพาะชุดปัจจุบัน 7 เดือน รับเรื่อง 488 เรื่อง เตรียมยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แจง “โซ่ตรวน” จับนักศึกษาฝ่าฝืนกฎหมายประชามติ เรียกว่า “กุญแจเท้า” จริงไม่ดรามา คณะอนุกรรมการกำลังพิจารณา แนะระวังละเมิดศักดิ์ศรี “เตือนใจ” ระบุ 200 เรื่อง ร้องนโยบายทวงคืนผืนป่า ยกหญิงชราระนอง วัย 82 ปี ถูกดำเนินคดี เพราะตัดต้นยางที่พายุพัดล้มในที่ดินตัวเอง แถมเรื่อง พ.ร.บ. แร่ค่าภาคหลวง ไม่คุ้มสุขภาพ

วันนี้ (13 ก.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ได้แถลงข่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า 7 เดือนที่ กสม. ชุดนี้เข้ารับหน้าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วทั้งสิ้น 488 เรื่อง ในจำนวนนี้ที่มีการร้องเรียนมากที่สด เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากรธรรมชาติ 200 เรื่อง ซึ่ง กสม. ชุดนี้ค่อนข้างโชคร้าย เพราะเข้ามาในช่วงที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ ไอซีซี กำลังพิจารณาจะปรับลดสถานะด้านสิทธิมนุษยชนของไทย เหตุจากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของไทยไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส โดย กสม. พยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากหลายประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ จึงไม่ทันต่อการพิจารณาปรับลดระดับของไอซีซี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่เป็นปัญหานั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการลงประชามติ มีบทบัญญัติที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และยกระดับสถานะของไทยเข้าสู่สากลได้ 100% โดยสำนักงานก็ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่บรรจุสาระตามที่องค์กรระหว่างประเทศ เรียกร้องไว้ครบถ้วนแล้ว ส่วนการทำงานของ กสม. นอกจากเน้นการส่งเสริม ตรวจสอบ แล้วปัจจุบันก็ได้มีการนำหลักการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามหลักการปารีสมาใช้ด้วย หากคู่กรณีมีความสมัครใจ ซึ่งก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้เสียหายทำได้รวดเร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ นายวัส ยังชี้แจงกรณีตนเองระบุถึงโซ่ตรวนที่มีการใส่ให้นักศึกษาคดีประชามติว่าเป็นกุญแจเท้า ว่า อยากให้อ่านคำชี้แจงของตนที่ออกมาเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ในกรณีดังกล่าวอย่างละเอียดแล้วจะมีคำตอบ อ่านอย่างมีสติ อย่ามโน ซึ่งตนบอกว่า เครื่องพันธนาการที่ใส่ให้นักศึกษานั้น ไม่ใช่โซ่ตรวนอย่างที่มีการเรียกกัน แต่เขาเรียกว่ากุญแจเท้า โดยในคำชี้แจงตนไม่ได้บอกว่า การที่เจ้าหน้าที่ใส่กุญแจเท้านั้นเหมาะสมหรือไม่ แต่ระบุว่า คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ ซึ่งในข้อเท็จจริง การจะใส่กุญแจเท้าผู้ต้องหา หลักการคือ ต้องดูว่า ผู้ที่ใช้กุญแจเท้ากับนักศึกษามีอำนาจที่จะดำเนินการหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมุนษย์

แต่ถ้ามีอำนาจแล้ว ขณะที่ควบคุมไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น ไปขึ้นศาล ซึ่งต้องผ่านสาธารณชน อาจมีการบันทึกภาพ ก็ควรมีการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซ้ำสอง เหมือนเช่นในต่างประเทศ จะเห็นว่า มีการใช้ผ้าพันไม่ให้เห็นกุญแจมือซึ่งทำให้ผู้ต้องขังเสียหายน้อยลง โดยกรณีดังกล่าวคณะอนุกรรมการด้านสิทธิฯ เมื่อทำการศึกษาแล้วเสร็จ ก็จะได้มีข้อเสนอไปยังรัฐบาล รวมไปถึงความเห็นของ กสม. ต่อประกาศ คสช. ฉบับต่าง ๆ ที่ กสม. ห่วงใยว่าจะกระทบสิทธิประชาชน ขณะเดียวกัน ในประเด็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเสียหายจากเหตุความรุนแรงทั้งภาคใต้ และทางการเมือง ที่กฎหมายกำหนดการเยียวยาที่แตกต่างกัน กสม. ก็กำลังรวบรวมเพื่อที่จะจัดทำเป็นข้อเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การเยียวยาเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ด้าน นางเตือนใจ ดีเทศน์ ในฐานประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากรธรรมชาติ ได้กล่าวถึงเรื่องร้องเรียน 200 เรื่อง ว่า ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล ที่แม้รัฐจะมีเจตนาดีในการพิทักษ์ผืนป่า แต่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ผู้ที่อยู่มาก่อนกลายเป็นผู้บุกรุก มีตัวอย่างที่ จ.ระนอง กำลังมีการดำเนินคดีกับหญิงชราวัย 82 ปี จากเหตุให้ลูกหลานเข้าไปตัดต้นยางที่ล้ม เพราะลมพายุในที่ดินของตัวเอง ผู้สูงอายุที่เป็นเจ้าของที่ดินในจังหวัดระนอง ถูกดำเนินคดีหลังจากลูกหลานตัดต้นยางที่ล้มจากลมพายุในที่ดินของตัวเอง หรือกรณีร่าง พ.ร.บ. แร่ ทาง กสม. มีข้อเสนอกับรัฐบาล ว่า มีผลในเชิงลบกับสุขภาพประชาชนมากกว่าค่าภาคหลวงที่ได้ ซึ่งหลายกรณีทำให้ กสม. กำลังมีแนวความคิดว่าที่จะจับเข่าคุยกับรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา





กำลังโหลดความคิดเห็น