อดีตหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ใช้สิทธิประชามติ ชูวันสำคัญประชาธิปไตย ชี้สถานการณ์ปี 50 เบากว่า “จาตุรนต์” ย้ำผ่านไม่ผ่านก็ต้องมีเลือกตั้ง ไม่ห่วงขัดแย้ง คาดถ้าร่าง รธน.ล้มอาจเป็นไปได้ 2 ทาง บอกนึกไม่ออกมีหลักฐานอะไรทำให้ตั้งข้อหาเมียให้ที่พักคนทำผิดกฎหมายประชามติ พร้อมไปพบตำรวจ แต่ซัดเป็นส่วนหนึ่งในการขัดขวางการแสดงความเห็น ด้าน “เสนาะ” ลั่นไม่มีที่ ส.ป.ก.
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่เขตบางเขน กทม. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติที่หน่วยออกเสียงที่ 7 ภายในวัดบางบัว ซอยพหลโยธิน 46 โดยให้สัมภาษณ์ว่า ตนถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนที่ยังไม่ออกมาใช้สิทธิเพื่อเป็นประชาชนชาวไทยในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิทธิที่จะเลือกรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ และเป็นอำนาจของประชาชน ทั้งนี้ ตนเห็นว่าบรรยากาศการลงประชามติปี 2550 สถานการณ์เบากว่าตอนนี้ที่ค่อนข้างรุนแรง มีความคิดแตกต่างค่อนข้างมาก
ขณะที่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อเวลา 08.30 น. นายจารุตนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมครอบครัวฉายแสง เช่น นางฐิติมา นายวุฒิพงษ์ นายอนันต์ และนางจิราภรณ์ เดินทางมาใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นคำถามเพิ่มเติม ที่หน่วยออกเสียงที่ 3 วัดอุภัยติการาม (ซำปอกง) ต.หน้าเมือง ซึ่งหน่วยดังกล่าวมีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 636 คน โดย นายจาตุรนต์ เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงลำดับที่ 66 ท่ามกลางประชาชนมาเข้าแถวที่หน่วยอย่างต่อเนื่อง
นายจาตุรนต์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงประชามติว่า ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องมีการเลือกตั้งตามกำหนดที่วางโรดแมปไว้ และไม่น่าเป็นห่วงว่ามีความขัดแย้งวุ่นวาย หรือการเผชิญหน้า เพราะว่าถ้าผ่านคงเป็นไปตามโรดแมป ไม่ผ่านก็มีการเลือกตั้งตามโรดแมป ส่วนจะมีเลือกตั้งอย่างไร และมีการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร จะเกิดการหารือจากหลายฝ่ายด้วยเหตุด้วยผล หาทางออกที่ดีได้ โดยไม่มีการเผชิญหน้า และเชื่อว่าถ้าผ่านเรื่องการดำเนินคดียังมีต่อไป ขณะที่การปิดกั้นแสดงความเห็นขั้นตอนต่อไปในการร่างรัฐธรรมนูญคงมีความจำเป็นน้อยลง แต่ถ้าไม่ผ่านเป็นไปได้ 2 ทาง คือ พยายามปิดกั้นไม่ให้เกิดเป็นกระแสที่ผู้คนแสดงความเห็นมากๆ หรือผู้มีอำนาจอาจไปทบทวนการปิดกั้นแสดงความเห็นไม่เป็นที่ยอมรับ และลดการปิดกั้นลง
ส่วนการผ่อนปรนให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้นั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนคิดว่าหลังการทำประชามติไปแล้ว น่าเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นมากขึ้น การที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมน่าเป็นในทางที่ดี ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เพื่อเปิดฟังความเห็นมากขึ้น
นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จ.เชียงใหม่ แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี นางจิราภรณ์ ในข้อหาช่วยเหลือผู้อื่นกระทำผิดให้ที่พำนักโดยซ่อนเร้นแก่ นายวิศรุต คุณะนิติสาร ผู้ต้องหากระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่หลบหนีคดีนำจดหมายบิดเบือนแจกจ่ายทางไปรษณีย์ใน จ.เชียงใหม่ ว่า การจะตั้งข้อหาอะไรหรือไม่คงขึ้นอยู่กับการไปหาพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งยังนึกไม่ออกว่า จะมีพยานหลักฐานอะไรที่จะทำให้ตั้งข้อหาได้ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง คิดว่าน่าจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะคงไม่ใช่ไปหาทางทำให้กลายเป็นถูกตั้งข้อหาถึงขั้นที่จะเป็นข้อหาร้ายแรง อย่างที่มีการดำเนินการไปกับผู้ต้องหาที่กำลังถูกคุมขังอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เป็นเหตุเป็นผลเลยกับการผูกไปกับสถานการณ์พิเศษ ตอนนี้ได้แต่เตรียมพร้อมไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากมีหมายเรียก หรือหมายจับ แต่โดยรวมแล้ว อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามขัดขวางการแสดงความเห็นต่าง
ส่วนที่ จ.สระแก้ว เมื่อเวลา 11.45 น. นายเสนาะ เทียนทอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยภรรยา นางอุไรวรรณ เทียนทอง และบุตรชาย นายสรวงศ์ เทียนทอง เดินทางไปลงประชามติที่หน่วยเลือกตั้งที่ 8 อาคารเรียน โรงเรียนอนุบาลศรีวัฒนาวิทยา เมื่อออกเสียงลงประชามติเรียบร้อยแล้วก็เดินทางกลับทันที อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เดินทางไปขึ้นรถได้มีการสอบถามเรื่องที่ดินส.ป.ก. นายเสนาะ ได้พูดกับนักข่าวว่า “ผมไม่มีที่ดิน ส.ป.ก. มีแต่ที่ดินที่เป็นโฉนด ออกมาเมื่อ 50 ปีกว่าแล้ว” จากนั้นก็ปิดประตูรถ และเดินทางกลับ