เมืองไทย 360 องศา
ไม่รู้ว่าจะว่าอย่างไรดีกับผลสำรวจที่ออกมาล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ออกมาว่าชาวบ้านนิยมชมชอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาล"เผด็จการ"มากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเปอร์เซ็นต์ความชื่นชอบทิ้งห่างกันมาก ซึ่งผลออกมาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องน่าศึกษาเป็นอย่างมากว่ามันเกิดขึ้นแบบนี้ได้อย่างไร
ผลสำรวจของ"สวนดุสิตโพล" ที่สำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,077 คน ระหว่างวันที่ 19-24 ธ.ค.59 ที่ผ่านมา โดยหากโฟกัสเฉพาข้อเปรียบเทียบระหว่าง "รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหาร" กับ "รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง" ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร ปรากฏว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหารดีกว่า ร้อยละ 48.84 โดยให้เหตุผลว่า ทำงานเร็ว คล่องตัว มีอำนาจพิเศษ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ทำงานในทิศทางเดียวกัน มีผลงานให้เห็น ฯลฯ
รองลงมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดีกว่า ร้อยละ 23.72 โดยให้เหตุผลว่า มาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย รู้ปัญหา มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ฯลฯ ส่วนร้อยละ 17.93 ระบุว่า ดีพอๆ กัน โดยให้เหตุผลว่า ไม่ว่าจะมาจากระบบใดก็สามารถบริหารบ้านเมืองได้ ทำงานได้ดี มีนโยบายที่ทำเพื่อประชาชน ฯลฯ และร้อยละ 9.61 ระบุแย่พอๆ กัน เพราะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนไม่ได้ ยังมีการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่โปร่งใส มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์
แน่นอนว่าจมีเสียงโต้แย้งว่าการสำรวจความเห็นประชาชนเพียงงแค่พันคนเศษคงไม่อาจใช้เป็นมาตรชี้วัดอะไรได้มากนัก หากคิดแบบนั้นมันก็อาจเข้าข่ายไม่ยอมรับคสามจริงก็เป็นได้ เพราะแม้ว่าหากไม่ยอมรับผลสำรวจดังกล่าว แต่หากนำไปเปรียบเทียบกับผลสำรวจหลายครั้งก่อนหน้านี้แล้วนำมาเปรียบเทียบ ประมวลก็สรุปได้ว่า สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับความนิยมจากประชาชนค่อนข้างสูง ซึ่งผ่านมากว่าสองปีแล้วยัง"แรงดีไม่มีตก" ซึ่งถือว่าหาได้ยากในหมู่ผู้นำที่แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นจะบางคนอาจได้รับความนิยมแต่เมื่อเวลาผ่านไปสักปีสองปี ความนิยมจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ แต่สำหรับพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา กลับตรงกันข้าม
ขณะเดียวกันหากกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือสัญลักษณ์ของ "เผด็จการ"มันก็คงไม่มีใครเถียงเพราะที่มาของอำนาจและรัฐบาลของเขามาจากการรัฐประหาร และหากว่าไปแล้วรัฐบาลในปัจจุบันก็คือ"รัฐบาลทหาร" แต่กลับกลายเป็นว่า "ยังได้รับความนิยมสูง" ซึ่งอาจเป็นข้อยกเว้นต่างจากเผด็จการรายอื่น หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพใกล้ๆแบบไม่นานเกินไปนักก็เห็นจะเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่จบลงแบบไม่ค่อยสวยจนแทบจะถูกสาปแช่ง
แต่สำหรับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เป็นแบบนั้น อาจเป็นเพราะมีการสรุปบทเรียน หรือเตรียมการรับมือมาอย่างดี มีการทำการบ้านไว้พร้อมหรือเปล่าก็ได้ เพราะหลังจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 57 เป็นต้นมาเขาไม่ยอมปล่อยมือ มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ควบตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจเบ็ดเสร็จ อย่างไรก็ดีสิ่งที่เขาอาจแตกต่างจากเผด็จการคนอื่นในอกีตก็คือ"รู้จักใช้อำนาจ" มีขอบเขต ส่วนใหญ่จะใช้กลไกทางกฎหมายปกติ ยกเว้นที่ติดขัดหรือต้องการการแก้ปัญหาเร่งด่วนเป็นครั้งคราว ที่สำคัญยังพออนุมานได้ว่าเป็นการใช้อำนาจเพื่อคนส่วนใหญ่
ประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือทั้งตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลของเขายังไม่เรื่องทุจริตอื้อฉาวในแบบ"เรื่องใหญ่"ที่สังคมยอมรับไม่ได้ออกมา อาจมีบ้างที่มีเสียงวิจารณ์จากคนใกล้ชิดในครอบครัว แต่ที่ผ่านมาก็ถูกสังคมรุมจำหนิจนหงอไปเอง และคงกลายเป็นบทเรียนให้มีการความรมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิม
ขณะเดียวกันด้วยบุคลิกส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความโดดเด่นดูเหมือนมีความรอบรู้ รับทราบปัญหาบ้านเมือง มีการโต้ตอบได้ฉับไว มีบุคลิกทำงานเร็ว เด็ดขาดตามแบบฉบับทหาร ซึ่งจะว่าไปแล้วบุคลิกดังกล่าวนี่แหละที่คนไทยชื่นชอบและอยากให้มี จะว่าไปแล้วบุคลิกแบบนี้แหละที่ก่อนหน้านี้ ทักษิณ ชินวัตรเคยเป็น เพียงแต่ว่าในบั้นปลายน่าจะต่างกันไป
อย่างไรก็ดีเอาเป็นว่านั่นเป็นบุคลิก และวิถีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ตามลักษณะและองค์ประกอบก็คือ "เผด็จการ"เบ็ดเสร็จ แต่กลายเป็นว่าเผด็จการคนนี้กลับฉีกแนวเป็นขวัญใจของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย และหากไม่พูดให้เกินเลย เผด็จการคนนี้แหละที่ถูกเรียกร้องให้เป็นผู้นำต่อไปอีก และที่น่าปวดใจก็คือเป็นเผด็จการที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับผู้นำในยุคประชาธิปไตย ยุคเลือกตั้งแบบชนะขาด และยิ่งทำให้พวกนักการเมือง"ติดลบ"ในสายตาชาวบ้านในแบบไม่ฟื้นในทางบวกมาเลย
ปรากฏการณ์แบบนี้มันก็ทำให้หัวร่อไม่ออกร้องให้ไม่ได้เหมือนกัน ในเมื่อเป้าหมายหรือโรดแมปกำลังเดินไปสู่การเลือกตั้ง ไปสู่เป้าหมายประชาธิปไตย แต่กลไกสำคัญหรือนักการเมืองกลับยังถูกรังเกียจแบบที่ยังไม่มีทีท่าดีขึ้นมาเลย หรือว่าวิธีคิดของชาวบ้านเปลี่ยนไปแล้ว อาจมองว่าว่าไม่ว่าจะเป็นระบอบใดทั้งประชาธิปไตยหรือเผด็จการไม่ใช่หลักประกัน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพลังและความพอใจของประชาชน หากยังพอใจก็ให้การยอมรับ แต่หากวันใดทรยศต่อความไว้วางใจก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และก้าวข้ามไปได้หรือเปล่ามันน่าคิดเหมือนกัน !!