xs
xsm
sm
md
lg

3 ปี คสช.-ประยุทธ์ เริ่มเหนื่อยเสียงวิจารณ์รอบทิศ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


วันนี้ (22 พฤษภาคม) เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นวันที่กลุ่มทหารที่เรียกว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เข้ามาควบคุมการบริหารบ้านเมือง พร้อมกับคำมั่นสัญญามากมายหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาความแตกแยก แก้ปัญหาการทุจริต เข้ามาปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ลดความเหลื่อมล้ำให้ได้

แน่นอนว่า ด้วยสภาวะสุญญากาศทางการเมือง และเสี่ยงต่อการเป็นรัฐล้มเหลว และสงครามกลางเมือง การเข้ามาของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย่อมได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก และที่สำคัญ จากคำมั่นสัญญาที่ว่าจะเข้ามาปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ตามความต้องการของประชาชน มันก็ย่อมมีแต่ดอกไม้ที่ยื่นมอบให้คณะรัฐประหารกลุ่มนี้

แน่นอนว่า เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี เสียงวิจารณ์น่าจะเริ่มดังขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเมื่อผ่านช่วงเวลาหนึ่งก็ย่อมมองเห็นจุดอ่อนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าตามความเป็นจริงถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลได้รับเสียงวิจารณ์และแรงต่อต้านน้อยกว่าคณะรัฐประหารชุดอื่น เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ก่อการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549

อย่างไรก็ดี ด้วยภารกิจสำคัญในสองเรื่องหลักที่ประชาชนตั้งความหวังเอาไว้มากอย่างแรก คือ “การปฏิรูป” โดยเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ การกระจายอำนาจการเมืองการปกครอง และสร้างระบบธรรมาภิบาล เป็นต้น และตามมาด้วยความหวังในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเรื่องดังกล่าวหากจะบอกว่าเป็นภารกิจหลักที่ชาวบ้านต้องการให้เร่งทำโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จดำเนินการให้เป็นผลโดยเร็ว

ที่ผ่านมา หากจำกันได้ในช่วงของการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่ถือว่ามีประชาชนเข้าร่วมหลายล้านคน ก็มีความคิดตกผลึกในเรื่องการปฏิรูปในเรื่องสำคัญ เช่น ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการเมือง การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยให้เริ่มในจังหวัดที่พร้อมก่อน เป็นต้น

แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ภารกิจที่เป็นความหวังหลัก อย่างเช่น การปฏิรูปก็ไม่มีความคืบหน้าสักเรื่องเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “ปฏิรูปตำรวจ” ก็หยุดนิ่ง ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยออกมากล่าวแล้วว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้า อ้างว่าไม่มีเวลา โดยคราวนั้นถูกวิจารณ์ไปไม่น้อย จนทำให้เขาเริ่มมีท่าทีตอบสนองกลับมาบ้าง แต่ในที่สุดก็เงียบหายไป จนกระทั่งมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการกำหนดเรื่องการปฏิรูปเอาไว้รองรับเป็นกฎหมายที่ต้องทำภายใน 1 ปี แต่ก็นั่นแหละมีการเขียนเอาไว้กว้างมาก และต้องผ่านขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการจนเวียนหัว และถึงตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะตรงใจตามความต้องการของชาวบ้าน หรือตรงใจผู้มีอำนาจ หรือข้าราชการที่ต้องการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ไว้แบบเดิมหรือไม่

แน่นอนว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะอ้างว่า รัฐบาลมีผลงานมากมาย สะสางงานที่คั่งค้างสะสมจากรัฐบาลเก่าก่อนมากมาย มีการเสนอกฎหมาย แก้ไขกฎหมายหลายฉบับ แต่คำถามคือ แทบทั้งหมดชาวบ้านไม่รับรู้ จับต้องไม่ได้ แม้รัฐบาลจะอ้างว่าเป็นผลงานเพื่อรองรับอนาคต รองรับการแข่งขันในวันข้างหน้าก็ตาม

แต่สิ่งที่ชาวบ้านตั้งความหวังในเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ที่ปรารถนาให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจผลักดันให้เดินหน้าเป็นผลสำเร็จตามความต้องการก็ไม่ทำ อ้างว่า ไม่มีเวลาต้องรอรัฐบาลหน้า ซึ่งมันก็เป็นคำตอบอยู่ในตัวเองแล้วว่า “การปฏิรูปตำรวจ” ไม่มีทางเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เป็นตามที่ชาวบ้านอยากให้เป็น กับตัวอย่างที่เห็นในเวลานี้ ก็คือ ข้อศึกษาของคณะกรรมาธิการร่วม (ประสานงาน) ระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยแผนการปฏิรูปตำรวจโดยเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นตรงกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการตำรวจมากกว่าข้าราชการหน่วยงานอื่น ซึ่งอ้างว่านี่คือวิธีการปฏิรูปตำรวจเป็นหลักประกันอำนวยความยุติธรรมกับประชาชนแล้ว

อย่างไรก็ตาม เชื่อหรือไม่ว่าคนที่เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาเรื่องดังกล่าวคือ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ซึ่งนอกจากเคยเป็นข้าราชการตำรวจ ยังเป็นคนใกล้ชิด “ศูนย์อำนาจ” ในปัจจุบัน เป็นลูกน้องคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเวลานี้

แม้ว่าหากยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องตำรวจเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า นี่คือ “ปาหี่” พยายามหลอกต้มชาวบ้าน แต่ขณะเดียวกัน กลับเป็นหาความนิยมจากข้าราชการตำรวจทั่วประเทศเสียอีก ซึ่งไม่มีทางเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้าน ขณะเดียวกัน เรื่องสำคัญที่รัฐบาลสร้างพอใจให้ชาวบ้านไม่ได้ ก็คือ เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งในเรื่องหลังหากพิจารณากันอย่างเป็นธรรม ความรู้สึกแบบนี้ก็มักจะเกิดขึ้นกับทุกรัฐบาลในช่วงท้ายๆ หรือในช่วงที่เวลาผ่านไปสักพักใหญ่ ซึ่งรัฐบาล คสช. ชุดนี้กำลังเผชิญอยู่ และเชื่อว่า ความรู้สึกแบบนี้จะมีมากขึ้นอีก

ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุปแม้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา ผลงานของรัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะไม่ถึงขั้นล้มเหลว เสียของเหมือนกับพวกนักการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย พยายามสร้างภาพให้เห็น แต่ก็ไม่น่าประทับใจ “ไม่คุ้มค่า” กับความหวัง เพราะไม่ทำภารกิจ “พิเศษ” ที่ชาวบ้านตั้งตารอและคาดหวังเอาไว้สูงโดยเฉพาะในเรื่องการปฏิรูปที่สำคัญดังกล่าว และอย่าได้แปลกใจที่เสียงวิจารณ์จะดังขึ้นเรื่อยๆ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น