รักษาการเลขาธิการ กกต. เผยพบฉีกบัตรแล้ว 21 หน่วย 14 จังหวัด ส่วนใหญ่เหตุเข้าใจผิดเห็นรอยปรุเลยฉีก ยันต้องดำเนินคดี ด้าน “สมชัย” พบแก๊งพลเมืองโต้กลับทำ 1 แห่ง ส่อแสดงออกทางการเมืองหวังให้หลุดพ้นการลงโทษ หรือเลียนแบบ “ไชยันต์” ปี 49 แต่ยันสุดท้ายไม่รอดเจอแบนแน่
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รักษาการเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจาก ผอ.กกต.จว.ว่ามีการฉีกบัตร โดยพบแล้ว 21 หน่วย 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร หน่วยที่ 47 ประชาอุทิศทุ่งครุ หน่วยที่ 101 ร.ร.ศรีเอี่ยมอนุสรณ์บางนา และหน่วยที่ 19 เขตวังทองหลาง จ.นครปฐม หน่วยที่ 4 ต.สามพราน หน่วยที่ 7 ต.บางเลน หน่วยที่ 3 ต.พระประโทน จ.ฉะเชิงเทรา หน่วยที่ 23 เทศบาลเมือง และหน่วยที่ 1 ต.บางซ่อน จ.สมุทรสาคร หน่วยที่ 5 ต.บ้านบ่อ จ.พะเยา หมู่ 13 ต.ท่าวังทอง จ.ปทุมธานี หน่วยที่ 6 ต.สวนพริกไทย จ.ชลบุรี หน่วยที่ 40 ต.ชากคร้อ จ.สุรินทร์ หมู่ 12 ต.ยาง และหมู่ 7 ต.สลักได จ.นครสวรรค์ หน่วยที่ 9 และหน่วยที่ 84 จ.กาญจนบุรี หน่วยที่ 8 ม.7 ต.เกาะสำโรง จ.อุบลราชธานี หมู่ 7 ต.สมสะอาด จ.บุรีรัมย์ หมู่ 11 ต.สะเดา จ.เชียงราย หน่วยที่ 2 บ้านเทอดไทย แล ะจ.ยโสธร หน่วยที่ 3 ต.ค้อเหนือ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการฉีกออกเป็น 2 ส่วน เนื่องจากเห็นว่าบัตรมีสีที่แตกต่างกันตรงกลางมีรอยปรุรอยพับ ซึ่งอาจเป็นการเข้าใจผิด ตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฉีกบัตรจะตั้งใจหรือไม่นั้นก็จะต้องถูกดำเนินคดี อยู่ที่ดุลพินิจของพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ ยืนยันว่า กกต.ประชาสัมพันธ์มาโดยตลอดว่ามีบัตรใบเดียว สองประเด็น และไม่ได้ให้ฉีกบัตร รวมทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา ก็ไม่เคยให้ฉีกบัตรเป็น 2 ส่วน แต่เมื่อบัตรถูกฉีกแล้วถือว่าเป็นบัตรเสีย และผู้ที่ฉีกบัตรก็ไม่สามารถรับบัตรเพื่อไปใช้สิทธิใหม่ได้ เพราะถือว่าใช้สิทธิไปแล้ว
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ขณะนี้พบการฉีกบัตรที่แสดงเจตนาทางการเมือง โดยเป็นการกระทำของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหน่วยออกเสียงเขตบางนา กรุงเทพฯ การแสดงออกดังกล่าวอาจเข้าใจว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่สามารถไปสู้คดีให้หลุดพ้นจากการลงโทษได้ หรืออาจเป็นการเลียนแบบกรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเคยฉีกบัตรเลือกตั้งที่ถูกดำเนินคดีแล้วเข้าใจว่าศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดที่ศาลได้ลงโทษเป็นตัวอย่างแล้ว โดยแม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 10 ส.ค.55 ว่าเป็นความผิดสั่งลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และศาลฎีกา มีคำพิพากษาเมื่อ 3 มิ.ย. 57 ยืนตามศาลอุทธรณ์สั่งลงโทษ ซึ่งแปลว่า ณ วันนี้อาจารย์ที่ฉีกบัตรดังกล่าวไม่สามารถไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
สำหรับนักศึกษาที่ฉีกบัตร คือ นายปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มธ. และนายกสมาคมเพื่อเพื่อน (FFA) 1 ในสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่มักจะดำเนินการต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ โดยฉีกบัตรระหว่างการไปใช้สิทธิ ที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดชุดที่ 3 เขตบางนา ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่สั่งลงโทษอาจารย์มหาวิทยาลัย คือ นายไชยยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ฉีกบัตรขณะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2549