xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มโนโหวตยื่น กสม.ไม่รับผลประชามติ ชี้ไม่แฟร์-ไม่ฟรี จี้ตั้ง ส.ส.ร.ดัน รธน.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มไม่ยอมรับผลประชามติ ยื่นหนังสือ กสม.แสดงจุดยืนไม่รับประชามติ อ้างไม่เป็นสากล ยก รธน.ทั้งฉบับให้ ปชช.ออกเสียงทั้งที่เข้าใจทั้งหมดได้เป็นเรื่องยาก จุลสารไม่ถึงมือ ปชช.ถือว่าไม่ฟรี ไม่แฟร์ให้ทหารที่มีส่วนได้เสียมารณรงค์ ชี้ถือว่าเป็นโมฆะ แนะการเมือง-องค์กร ผลักดัน ส.ส.ร.แบบปี 39 พร้อมเดินสายร้อง กกต.-OHCHR



วันนี้ (4 ส.ค.) กลุ่มพลเมืองผู้ร่วมของสงวนสิทธิไม่ยอมรับนับผลประชามติที่ไม่แฟร์ ไม่ฟรี นำโดยนางจิตรา คชเดช เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่านนางอังคณา ลีนะไพจิตร กรรมการสิทธิ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง เพื่อแสดงจุดยืนในการขอสงวนสิทธิไม่รับผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการออกเสียงในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยนางจิตรากล่าวว่า เห็นว่าการจัดทำประชามติครั้งนี้ไม่เป็นไปตามหลักการสากล ในต่างประเทศการทำประชามติจะทำเพียงประเด็นเดียวที่ชัดเจน แต่ของไทยกลับนำเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกว่า 300 มาตรา มาให้ประชาชนออกเสียงว่าเห็นชอบหรือไม่ เป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะเข้าใจได้ทั้งหมด ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่างฯ ส่วนการณรงค์ก็มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง การประชาสัมพันธ์ของกกต. ก็ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับจุลสารประชามติของกกต.เลย ทำให้ถือได้ว่าประชามติครั้งนี้ “ไม่ฟรี” ขณะเดียวกัน คสช.ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของประชาชน แต่ก็กลับมีการนำทหารที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ คสช.มาเป็นผู้รณรงค์จึงถือว่าเป็นการทำประชามติที่ “ไม่แฟร์ “

ดังนั้น ทางกลุ่มจึงการทำประชามติครั้งนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมาแต่ต้น เมื่อมีการออกเสียงในวันที่ 7 ส.ค.ทางกลุ่มก็ขอสงวนสิทธิไม่ยอมรับผลประชามติที่จะออกมา และถือว่าประชามติเป็นโมฆะ หากท้ายที่สุดมีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญก็ขอคงสิทธิในการที่จะขอให้เป็นการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น ก่อนที่จะมีการยกเลิกและร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในช่วงที่ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ทางกลุ่มยังได้มีการเชิญชวนให้พรรคการเมือง องค์กรทางการเมือง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ให้สัตยาบันว่าจะผลักดันให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เหมือนปี 2539 แล้วมีการทำประชามติภายใต้กระบวนการให้มีสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกอย่างเป็นธรรม หรือผลักดันให้มีการทำประชามติใหม่ โดยนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ปี 50 หรือฉบับปี 59 มาให้ประชาชนออกเสียงว่าต้องการให้นำฉบับใดมาบังคับใช้ ภายใต้กระบวนการออกเสียงที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกอย่างเป็นธรรม ปราศจากความกลัว

อย่างไรก็ตาม หลังจากทางกลุ่มได้มีการยื่นเรื่องต่อ กสม.แล้วยังได้เข้ายื่นหนังสือดังกล่าวต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมีการระบุจะเดินทางไปยื่นที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำประเทศไทยต่อไปด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น