xs
xsm
sm
md
lg

เบรก “ชายหมู” ตั้งงบผูกพันทิ้งทวนก่อนหมดวาระ สภา กทม.คาดงบปี 60 เบ็ดเสร็จ 9.6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 21-22 ก.ค.ที่ผ่านมา
สภา กทม.ไฟเขียวงบประมาณรายจ่ายปี 60 จำนวน 7.6 หมื่นล้าน เป็นงบลงทุน 1.5 หมื่นล้าน รายจ่ายประจำ 6 หมื่นล้าน เบรก “ชายหมู” ที่ขอตั้งงบผูกพันก่อนหมดวาระ มี.ค.ปีหน้า หวั่นกระทบผู้บริหารชุดใหม่ คาดมีงบฯ อุดหนุนจากโครงการรัฐบาลอีก 2 หมื่นล้าน รวมมีงบเบ็ดเสร็จให้บริหารกว่า 9.6 หมื่นล้าน เผย ส.ก.หวั่นตั้งโครงการไม่คุ้มงบฯ แนะเพิ่มภาษีป้าย “ชายหมู” อ้าง 7 ปี ไม่มีแหล่งภาษีใหม่แต่เก็บเงินได้ตามเป้า

วันนี้ (25 ก.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 21-22 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่มี ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ในฐานะประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธาน โดยมีผู้บริหาร กทม.และ สมาชิกสภา กทม.ร่วมประชุมอย่างครบครัน ก่อนที่สมาชิกจะร่วมอภิปรายและเสนอความคิดเห็นในญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงินงบประมาณรายจ่าย 76,000 ล้านบาท ในการพัฒนากรุงเทพฯ ในด้านต่างๆ ตามนโยบายมหานคร 6 ด้าน ประกอบด้วย ความปลอดภัย สาธารณสุข ขนส่งมวลชน มหานครสีเขียว มหานครแห่งการเรียนรู้ มหานครแห่งโอกาสของทุกคน มหานครแห่งอาเซียน และด้านอื่นๆ สานต่อนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.

หลังจากใช้เวลาอภิปราย 2 วัน ที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2560 จำนวน 36 คน แบ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ 27 คน ฝ่ายบริหาร 9 คน กำหนดกรอบระยะเวลาพิจารณาภายใน 45 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ก.ย. 2559 โดยเลือกนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล เป็นประธาน นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ เป็นรองประธานคนที่ 1 นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา เป็นรองประธานคนที่ 2 นางรัชนีวรรณ อัศวธิตานนท์ เป็นรองประธานคนที่ 3 และ น.ส.เฟื่องฟ้า เทียนประสิทธิ์ เลขานุการคณะกรรมการฯ พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 16 คณะกรอบเวลาพิจารณา 45 วัน ก่อนให้ความเห็นชอบในวาระสองและสามต่อไป

สำหรับงบประมาณรายได้ประจำปี 2560 ฝ่ายบริหาร กทม.ตั้งงบประมาณไว้ที่ 76,000 ล้านบาท เป็นงบลงทุนเพื่อการดำเนินโครงการต่างๆจำนวน 15,353 ล้านบาท และเป็นงบรายจ่ายประจำจำนวน 60,647 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการคาดการณ์งบประมาณที่จะได้รับจากการอุดหนุนการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐบาลอีกจำนวน 20,079 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นปี 2560 กทม.จะมีงบประมาณเพื่อใช้จ่ายกว่า 96,079 ล้านบาท

ทั้งนี้ พบว่าหน่วยงานที่ขอการจัดสรร มากที่สุด ได้แก่ 1. สำนักการโยธา 9,112 ล้านบาท 2. สำนักสิ่งแวดล้อม 6,663 ล้านบาท 3. สำนักการระบายน้ำ 6,598 ล้านบาท 4. สำนักการคลัง 4,651 ล้านบาท และ 5. สำนักการจราจรและขนส่ง 4,031 ล้านบาท ส่วนสำนักงานเขตที่ขอการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด ได้แก่ 1. เขตลาดกระบัง 603 ล้านบาท 2. เขตวังทองหลาง 577 ล้านบาท 3. เขตบางขุนเทียน 561 ล้านบาท 4. เขตหนองจอก 542 ล้านบาท และ 5. เขตจตุจักร 531 ล้านบาท

มีรายงานว่า บรรยากาศในการอภิปราย 2 วันเต็มไปด้วยความตึงเครียด เมื่อสมาชิกสภา กทม.หลายคนตั้งเป้าถึงนโยบายเก่าและใหม่ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ รวมทั้งได้เสนอแนะ เช่น เสนอให้ กทม.หารายได้มากยิ่งขึ้นจากการจัดเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ อาทิ ภาษีป้าย ซึ่งในปี 2558 กทม.จัดเก็บได้ทั้งสิ้น 800 ล้านบาท แต่คาดการณ์ว่าปี 2560 กทม.จะจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,660 ล้านบาท

ขณะที่สมาชิกบางคนตั้งข้อสังเกตถึงโครงการไฟประดับของ กทม.ว่ามีความไม่เหมาะสม แม้ผู้บริหาร กทม.จะนำไปเปรียบเทียบกับโครงการตามนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการไฟในวัดอรุณราชวรารามฯ (วัดแจ้ง) แต่ก็เป็นอำนาจหน้าที่ ส่วน กทม.เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจอื่นๆ เช่น น่าจะนำงบฯ ไปใช้จ่ายด้านการศึกษาจะคุ้มค่ากว่า นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึง โครงการก่อสร้างโรงชำแหละสัตว์ของ กทม.วงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาท จากนโยบายผู้ว่าฯ กทม.ปี 2547 ที่พบว่ายังไม่สามารถเปิดใช้ได้

นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตถึง “โครงการรถโดยสารประจำทางบีอาร์ที” มูลค่า 2,000 ล้านบาท นโยบายเดิมของผู้บริหาร กทม.ที่เปิดให้บริการแล้วกว่า 6 ปี โดยพบว่าขาดทุนรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ยังได้รับงบฯ สนับสนุนในปี 2560 อีก 188 ล้านบาท เช่นเดียวกับปีผ่านๆ มา แม้จะไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารได้ตรงเป้า แถมผู้ใช้บริการก็ไม่ตรงเป้า ไม่มีประสิทธิภาพในควบคุมเวลาเดินทางให้รวดเร็ว

หลังจากมีการตั้งคำถามมากมาย ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ต้องลุกขึ้นตอบคำถามโดยมุ่งไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บงบประมาณ “กทม.ไม่นิ่งนอนใจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนที่ภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของ กทม. ซึ่งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาทาง กทม.ไม่มีแหล่งภาษีใหม่ และไม่มีการแก้ไขปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี ดังนั้นการจัดเก็บภาษีของ กทม.ไม่ได้ถือว่าไร้ประสิทธิภาพ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน กทม.สามารถจัดเก็บภาษีได้มากยิ่งขึ้น”

ผู้ว่าฯ กทม.ยังย้ำถึงหลักเกณฑ์การประเมินความคุ้มค่าการใช้งบประมาณในส่วนของ “โครงการอุโมงค์ไฟประดับ” ว่าเนื่องจากในปี 2558 การท่องเที่ยวของประเทศไทยรวมถึง กทม.นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2557 แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังจากเดือนสิงหาคมปี 2558 เกิดเหตุการณ์ระเบิดบริเวณศาลพระพรหมเอราวัณส่งผลให้การท่องเที่ยวลดลง ซึ่งทาง กทม.มีนโยบายให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวจึงจัดทำอุโมงค์ไฟขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยอุโมงค์ไฟดังกล่าวมีประชาชนเข้าชมถึง 1,600,000 คน มีเงินสะพัดในพื้นที่โดยรอบเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย ท้ายสุดฝ่ายบริหารจะนำข้อเสนอแนะไปพิจารณาเพื่อบริหารงบประมาณให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

มีรายงานว่า สำหรับแนวทางในการพิจารณาข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของ กทม. ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของคณะผู้บริหาร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่จะหมดวาระเดือนมีนาคม 2560 สภา กทม.จะไม่มุ่งเน้นในโครงการที่มีภาระผูกพันอย่างเด็ดขาด หากไม่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง เพราะอาจส่งผลให้เกิดปัญหาแก่ผู้บริหาร กทม.ในชุดถัดไป สำหรับหน่วยงานที่จะต้องมีการพิจารณางบประมาณเป็นพิเศษ คือ หน่วยงานที่โดนตรวจสอบ อาทิ สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว ซึ่งถูกตรวจสอบในโครงการไฟประดับบริเวณลานคนเมือง หรือสำนักการโยธาที่มีการตรวจสอบในโครงการปรับปรุงห้องผู้บริหาร กทม. เพื่อให้หารใช้งบเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้สั่งการให้นายพีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัด กทม.เร่งดำเนินการตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย กรณีให้กรุงเทพมหานครดำเนินการทางวินัยอาญาและแพ่งต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการไฟประดับบริเวณลานคนเมือง มูลค่าโครงการ 39.5 ล้านบาท โดยให้สำนักงานกฎหมายและคดี กทม.เร่งศึกษาถึงกรอบอำนาจหน้าที่ที่กทม. โดยดูว่าโครงการเกิดความเสียหายต่อหน่วยงาน กทม.ขึ้นหรือไม่ ส่วนทางอาญาและทางวินัยนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบของเท็จจริง โดย กทม.จะไม่ตั้งกรรมการสอบซ้ำซ้อน


อึ้ง! “อบจ.ชลบุรี” อปท.ดีเด่นด้านป้องกันการทุจริต ปี 59 กล้องวงจรปิด 18 โครงการ 689 ล้านบาท ภาพไม่ติด-ภาพมัว-ซ่อมช้า
อึ้ง! “อบจ.ชลบุรี” อปท.ดีเด่นด้านป้องกันการทุจริต ปี 59 กล้องวงจรปิด 18 โครงการ 689 ล้านบาท ภาพไม่ติด-ภาพมัว-ซ่อมช้า
สตง.เปิดรายงาน “อบจ.ชลบุรี” ที่เพิ่งได้รับรางวัล อปท.ดีเด่นด้านการป้องกันการทุจริต ปี 2559 จาก ป.ป.ช. พบกล้องวงจรปิด 18 โครงการ 8 ปีงบประมาณ วงเงินรวม 682,593,300 บาท ระบบไม่ติด-ภาพมัว-ซ่อมแซมช้า เผยตำรวจภูธรภาค 2 ขอสนับสนุน ติด 13 สถานี พบ 309 ตัว จาก 723 ตัว ไม่สามารถแสดงภาพได้ที่ห้องควบคุม เฉพาะ สภ.เมืองชลบุรี-สภ.บางละมุง-สภ.บ่อวิน ไม่สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ ตะลึง! กล้องวงจรปิดเส้นทางคมนาคมมีมากเกินความจำเป็น แถมตั้งงบใหม่ 10 ล้านซื้อครุภัณฑ์ทดแทนรายการเดิมหลายรายการ แต่กลับไม่จำหน่ายทรัพย์สินเดิมออก
กำลังโหลดความคิดเห็น