เมืองไทย 360 องศา
เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ได้เห็นนักการเมืองต่างขั้วของสองพรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ ผนึกกำลังกันเห็นไปในทางเดียวกันในเรื่องสำคัญอย่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำลังจะเปิดให้มีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559
นอกเหนือจากที่ก่อนหน้านี้ ระดับแกนนำของทั้งสองพรรคดังกล่าว จะเห็นสอดคล้องกันไปแล้วว่า “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่าในรายละเอียดของความเห็นและท่าทีจะต่างกันบ้าง เช่น พรรคเพื่อไทย ประกาศชัดเจนว่า ไม่รับและรณรงค์คว่ำ ขณะที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ แม้ยังไม่ประกาศออกมาชัดเจนเหมือนกับฝ่ายแรก แต่ก็มีการแสดงความเห็นคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบมาตลอด ซึ่งพอสรุปได้ว่า พวกเขาก็ไม่เอาด้วย เพียงแต่สาเหตุที่ยังไม่ประกาศให้ชัด อาจเนื่องมาจากเกรงจะเสียมวลชนสนับสนุน เพราะต้องเข้าใจว่ายังทับซ้อนอยู่กับกลุ่ม กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศสดุดีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าเป็นฉบับที่ดีสุดยอดในการกำจัดพวกนักการเมืองชั่ว รวมไปถึงการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้ชะงัด
ขณะที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ ที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จำกัดบทบาทและอำนาจของฝ่ายการเมือง จากที่เคยมีในทุกด้าน รวมไปถึงเรื่องการเปิดทางให้มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก
อย่างไรก็ดี ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็นำทีมระดับแกนนำ หรือผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมลงชื่อกับแกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นต้น และร่วมกับกลุ่มที่เรียกว่า “เครือข่ายพลเมืองผู้ห่วงใย 16 องค์กร 117 รายชื่อ ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ เพื่อกดดันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลจัดทำประชามติอย่างโปร่งใส และเปิดกว้างชอบธรรมให้มีพื้นที่แสดงออกทั้งสองฝ่าย
สำหรับข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรดังกล่าว ในจำนวน 5 ข้อที่น่าสนใจ ก็คือ 1. ให้เคารพในทุกสิทธิ์อันชอบธรรมของประชาชน ไม่ว่าเป็นฝ่ายเห็นด้วย หรือเห็นต่าง 2. ต้องมีการเสนอทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะมีกระบวนการอย่างไร จะร่างใหม่หรือไม่ 3 .กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ควรมีกระบวนการอย่างไร เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากฉันทามติของประชาชน 4. หากหลักการตามข้อเรียกร้อง 1 - 3 เกิดขึ้นจริง ทุกฝ่ายควรยอมรับในผลของการทำประชามติ และ 5. รัฐธรรมนูญที่ได้ไม่ควรที่จะถดถอยในด้านสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการถ่วงดุลระหว่าง 3 อำนาจ บัญญัติเรื่องการปฏิรูป และร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรให้แก้ไขยากจนเกินไป เพื่อให้ทันกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
พิจารณาโดยเผิน ๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ดูดีตามประสาของพวกโลกสวยงามทั้งหลาย แต่หากมองกันให้ลึกลงไป ก็จะได้เห็นเป้าหมายที่แท้จริง ก็คือ พวกเขาต้องการอยากรู้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะร่างใหม่แบบไหน จะใช้เวลากี่เดือนกี่ปีอย่างนี้เป็นต้น และที่สำคัญ เนื้อหาต้องไม่เข้มข้นเข้มงวดกับนักการเมือง ซึ่งสะท้อนแฝงออกมาในแบบข้อเรียกร้องในเรื่องสิทธิมนุษยชน ระบบการถ่วงดุลของสามอำนาจ
สิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริงหากประชามติไม่ผ่าน ก็คือ ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และฉบับปี 50 มาปรับปรุงประกาศใช้เป็นฉบับชั่วคราวแค่สองปี จากนั้นก็ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากทุกภาคส่วนมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป
แน่นอนว่า ข้อเสนอแบบนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องผิด น่าจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำไป เพราะต้องการให้เน้นย้ำถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในความหมายก็คือ ในเวลานี้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเห็นคล้อยตามด้วยหรือไม่ เพราะกำลังอยู่ในอารมณ์เหม็นเบื่อพวกนักการเมือง ความเชื่อมั่นศรัทธาลดต่ำลงจนน่าใจหาย ขณะเดียวกัน ยังทำลายความเชื่อมั่นในระบบเลือกตั้งลงไปอีกไม่น้อย เพราะกลายเป็นว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่หลักประกันในเรื่องความถูกต้อง และผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ แต่ถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการอ้างความชอบธรรมในการหาประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มการเมืองและพวกพ้องวงในเท่านั้น เหมือนกับเวลานี้ที่มีความพยายามแอบอ้างตัวเอง ว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” นั่นแหละ
ซึ่งจะว่าไปแล้วนักการเมืองพวกนี้แหละที่เป็นต้นเหตุของการกวักมือเรียกเผด็จการให้เข้ามา อย่างไรก็ดี แม้ว่าในความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นรูปแบบประชาธิปไตย หรือเผด็จการเบ็ดเสร็จหากไม่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ก็จะถูกขับไล่ไปได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าหากมีการบัญญัติข้อห้ามเอาไว้ในกฎหมายสูงสุด เพื่อเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติในวันข้างหน้า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะคงไว้แบบนั้นไปตลอด เพราะเมื่อใดที่มีการใช้อำนาจเกินขอบเขตมันก็จะทำลายความชอบธรรมด้วยตัวมันเอง ซึ่งหากถึงเวลานั้นชาวบ้านก็จะออกมาเอง
ดังนั้น นาทีนี้หากสำรวจความเห็นของชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงมีความรู้สึกว่า นักการเมือง คือ ตัวปัญหามากกว่าใคร และเมื่อพิจารณาจากอารมณ์ในตอนนี้ทำให้ไม่แน่ใจว่าข้อเรียกร้องของบรรดากลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองคราวนี้จะมีพลังมากพอหรือเปล่า ที่แน่ ๆ มั่นใจได้ว่าพลังจะลดน้อยกว่าในยุคปี 34 - 35 ที่เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญปี 40 แน่นอน และแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะถูกมองว่าเป็นฉบับที่ดีฉบับหนึ่ง แต่ก็ถูกทำลายความดีงามจากนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวนั่นเอง
คราวนี้ก็เช่นเดียวกันข้อเรียกร้องนอกจากถูกมองว่ามีการแอบอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพนำทางแล้ว พวกเขายังกังวลในเรื่องถูกลดทอนบทบาทไม่เหมือนเดิม พอ ๆ กับความกังวลในเรื่องของการลากยาวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แม้ว่าจะไม่ได้ระบุออกมาตรง ๆ แต่ก็ทำให้มองเห็นภาพแบบนั้นจริง ๆ !!