xs
xsm
sm
md
lg

สภา กทม.จ่อซักฟอก “ชายหมู” สั่งสอบย้อนหลัง 3 ปีโครงการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ป้องกันสาธารณภัย สุดแพง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุดยานผิวน้ำขับเคลื่อนดัวยกำลังลม ราคาสูงถึง 39.2 ล้านบาท
สภา กทม.สั่งสอบย้อนหลัง 3 ปี จัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์แปลกของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. พร้อมตั้งชุดสอบจัดซื้อรถดับเพลิงเล็ก มูลค่ารวม 160 ล้าน แถมพบหลายโครงการใช้งบประมาณสูง ปูดชุดยานผิวน้ำขับเคลื่อนด้วยกำลังลม ราคาสูงถึง 39.2 ล้านบาท เครื่องอัดอากาศ-เครื่องช่วยหายใจ รวม 11 ล้านบาท แถมมีโครงการจัดเครื่องออกกำลังกายฟิตเนสในร่มอีก 33 ชุด มูลค่า 41 ล้าน ไม่นับจัดกรงงูแบบล้อเลื่อนทำด้วยสเตนเลส-เครื่องฉีดโฟมระบายควัน

วันนี้ (14 ก.ค.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) มี ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุม โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหาร กทม. สมาชิกสภา กทม. และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญจำนวน 11 คน เพื่อศึกษาพิจารณากรณีการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็ก มูลค่ารวม 160 ล้านบาท และกรณีการจัดซื้อการจัดจ้างอื่นๆ ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. (สปภ.) โดยกำหนดระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 180 วัน

ในสภา กทม.เมื่อวานนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ตอบกระทู้สดของนายพรชัย เทพปัญญา สมาชิกสภา กทม. ว่ารถกู้ภัยขนาดเล็กเป็นโครงการที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2555 ในขณะนั้นตนกำลังจะหมดวาระการทำงานในสมัยที่ 1 จึงได้มอบนโยบายต่อสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.(สปภ.) เนื่องจากมีความห่วงใยการปัญหาเพลิงไหม้ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่อาคารสูง และพื้นที่ซอยขนาดเล็กต่างๆ ทำให้ทาง สปภ.จึงมีโครงการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กขึ้นซึ่งรถดังกล่าวอาจใช้เข้าซอยขนาดเล็กไม่ได้ทุกซอย แต่เชื่อว่าซอยส่วนใหญ่รถสามารถเข้าถึงได้อย่างแน่นอน

โดยตั้งแต่มีการรับรถเพื่อมาใช้งานตั้งแต่ เม.ย. 2559 ถึงปัจจุบันนั้น มีการใช้งานรถดังกล่าวไปแล้วถึง 269 ครั้ง ซึ่งใช้ในเหตุต่างๆ ทั้งเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือน เพลิงไหม้หญ้า ไหม้รถยนต์ และเหตุช่วยเหลือประชาชนอื่นๆ

“ตั้งแต่ส่งมอบรถในเดือน เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้นำรถไปใช้งานจริงแล้ว 269 ครั้ง แบ่งเป็นเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนจำนวน 28 ครั้ง เพลิงไหม้หญ้า/ขยะ จำนวน 78 ครั้ง เพลิงไหม้รถ/ยานพาหนะจำนวน 5 ครั้ง แก้ปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรจำนวน 13 ครั้ง จับสัตว์เลื้อยคลานจำนวน 50 ครั้ง และบริการประชาชนจำนวน 95 ครั้ง”

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการจัดซื้อในระยะที่ 1 นั้น จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการประกาศร่างทีโออาร์ ประกวดราคา การประมูลในระบบอีอ็อกชั่น ก็ไม่เกิดปัญหาการร้องเรียนใดๆ ทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าโครงการดำเนินไปอย่างถูกต้อง ส่วนในโครงการระยะที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการชะลอโรงการ และจะชะลอไปจนกว่าเป็นที่ประจักษ์ว่ารถสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกรณีการจัดซื้อรถด้วยพวงมาลัยซ้ายนั้นไม่ใช่เรื่องลึกลับใดๆ เพราะ กทม.ซึ่งซื้อรถแค่จำนวน 20 คัน ผู้ผลิตคงไม่สามารถปรับระบบการผลิตเพื่อให้กทม.แต่เพียงผู้เดียวได้

มีรายงานว่า การขอให้สภา กทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาพิจารณาด้านการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย กรณีการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กและกรณีอื่นๆ สภา กทม.เห็นว่าโครงการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กของ กทม.ถือเป็นโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ จึงต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตรวจ สอบการดำเนินโครงการฯ

หลังจากนายพรชัยได้ตั้งข้อสงสัยใน 3 ด้าน คือ 1. การจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ 2. ราคาและอุปกรณ์ของรถดับเพลิง ซึ่งต้องมีการพิจาณาว่ามีประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ 3. การบริหารโครงการ ซึ่งในการทำงานของ กทม.มักมีรูปแบบให้รองผู้ว่าฯ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลหน่วยงานนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในส่วนนี้ผู้บริหารสูงสุดคือผู้ว่าฯ กทม.ควรต้องเข้ามาดูแลการดำเนินอย่างใกล้ชิดด้วย

ขณะที่ ร.ท.วารินทร์ เดชเจริญ สมาชิกสภา กทม.ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2558 ได้ยื่นญัตติในสภา กทม.เพื่อขอชะลอโครงการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กในระยะที่ 2 ที่ กทม.ได้ขอจัดสรรงบปราณเพื่อจัดซื้อเพิ่มอีกจำนวน 20 คัน มูลค่า 180 ล้านบาท ซึ่งก็ได้ชะลอโครงการออกไปแล้วนั้น ขณะนี้ผลการตรวจสอบการใช้งานของรถกู้ภัยขนาดเล็กในระยะที่ 1 ก็ยังไม่มีการสรุปผลแต่อย่างใดว่าการจัดซื้อดังกล่าว เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานหรือไม่ ดังนั้น เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินโรงการดังกล่าว จึงอยากเสนอให้คณะกรรมการฯ ตรวจสอบในโครงการจัดซื้อรถ วัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ด้วย เนื่องจากการจัดซื้อโรงการต่างๆ ใช้งบประมาณจำนวนมาก เช่น การจัดซื้อรถเครน การจัดซื้อเรือ เป็นต้น

มีรายงานว่า ระหว่างปี 2555-2559 มีการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก นอกจากรถกู้ภัยขนาดเล็กจำนวน 20 คัน มูลค่า 160 ล้านบาทแล้ว ยังพบว่ามีการจัดซื้อชุดยานผิวน้ำขับเคลื่อนด้วยกำลังลม (Air Boat) ติดตั้งเครื่องสูบ จำนวน 4 ชุดมีลักษณะคือติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิง พร้อมรถลากจูง 4 ชุด วงเงินงบประมาณในการจัดซื้อรวมทั้งสิ้น 39,200,000 บาท (สามสิบเก้าล้านสองแสนบาทถ้วน) คันละ 9.7 ล้านบาท เป็นราคาที่รวมภาษีทุกชนิด ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งหมดแล้วโดยประกาศจัดซื้อในช่วงเดือน มี.ค. 2558

โครงการเครื่องอัดอากาศ สำหรับชุดเครื่องช่วยหายใจ (SCBA) 45 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 11,250,000 บาท รวมถึงเครื่องออกกำลังกายฟิตเนสในร่ม จำนวน 33 ชุด มูลค่ารวม 41,068,500 บาท (สี่สิบเอ็ดล้านหกหมื่นแปดพันห้าร้อยบาทถ้วน) ที่ประกาศระหว่าง วันที่ 14-20 มีนาคม 2557 รวมถึงโครงการจัดหากรงงูแบบล้อเลื่อนทำด้วยสแตนเลสพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 17 ชุด เครื่องฉีดโฟมระบายควันพร้อมรถตีนตะขาบบังคับวิทยุระยะไกล เป็นต้น

สำหรับเรือดับเพลิงรุ่นใหม่แบบผิวน้ำหรือแอร์โบ๊ต พบว่า ในเอกสาร “ร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) โครงการจัดหายานผิวน้ำขับเคลื่อนด้วยกำลังลม (Air Boat) ติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิงพร้อมรถลากจูง จำนวน 4 ชุด เป็นเรือค้นหา/กู้ภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย แบบท้องแบนกินน้ำตื้น ทำงานด้วยพลังงานลม ออกแบบให้สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ สามารถใช้งานได้ในพื้นที่น้ำท่วมขัง หรือแหล่งน้ำที่มีระดับความลึกของน้ำตื้น (SHALLOW WATER) พร้อมมีอุปกรณ์ประกอบการใช้งานและอุปกรณ์กู้ภัยประจำเรือครบถ้วนเหมาะสมกับการใช้งาน ส่วนตัวเรือทำตัวโลหะชนิดเบา ด้านหลังมีใบพัดขนาดใหญ่และมีที่นั่งสำหรับพนักงาน 2 ที่ ใช้พลังงานลมในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ เรือดังกล่าวถือว่าเป็นอุปกรณ์เพลิงชนิดใหม่ที่พนักงานดับเพลิงของ กทม.ยังไม่เคยใช้งาน โดยในวันที่ 21 ก.ค.นี้ทางบริษัทเอกชนจะเข้ามาสาธิตพร้อมทั้งสอนวิธีการใช้งานแก่เจ้าหน้าที่ดับเพลิง





กำลังโหลดความคิดเห็น