เปิดคำสั่ง สนช. ปลด 2 บิ๊ก ขรก.สภาฯ กรณีรองเลขาฯ ปมอาคารรัฐสภาใหม่ล่าช้า ก่อความเสียหายงบจำนวนมาก เหตุไม่นัดประชุม คกก. บริหารจัดการที่ดินฯ ส่วน “สมชาติ” ถูกไล่ เพราะลงนามยืมเงินสร้างวัตถุมงคลโดยไร้อำนาจ ถือว่าใช้อำนาจมิชอบ เจ้าตัวลั่นไม่ผิดเตรียมใช้สิทธิอุทธรณ์ สะพัด ขรก. วิจารณ์ไล่ออกน้ำหนักไม่เพียงพอ ทำหวาดหวั่นในการทำงาน เตรียมให้กำลังใจ
วันนี้ (10 ก.ค.) จากกรณีที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงนามคำสั่งให้ข้าราชการระดับสูงของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย นายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ นายสมชาติ ธรรมศิริ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ออกจากตำแหน่งราชการ เพราะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนสร้างความเสียหายแต่ราชการนั้น ล่าสุด ได้มีการเผยแพร่คำสั่งทางการ ทั้งสิ้น 2 ฉบับ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้ 1. คำสั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ 106/2559 เรื่อง ลงโทษปลดออก ซึ่งเป็นกรณีของนายคุณวุฒิ ฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการดินในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างละเอียด รอบคอบ และเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดต่อราชการ กรณีการขนย้ายมูลดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า ทำให้กระทบต่อแผนงานก่อสร้าง และทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้องเช่าอาคารของเอกชนเพื่อใช้เป็นสำนักงาน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณจำนวนมาก สืบเนื่องจากการกระทำของนายคุณวุฒิโดยตรงที่ไม่นัดประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการดินฯ อย่างต่อเนื่อง และพบการทอดเวลานัดประชุมครั้งที่ 8 กับครั้งที่ 9 ไว้นานถึง 4 เดือน ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อราชการ ตามกฎ ก.ร. ว่าด้วยวินัยข้าราชการสามัญ พ.ศ. 2555 ข้อ 2 (5) และข้อ 6 (7) สมควรได้รับโทษปลดออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในท้ายคำสั่ง สนช. ได้ให้สิทธิผู้ถูกลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.ร. ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับคำสั่งลงโทษ
และ 2. คำสั่ง สนช. ที่ 107/2559 เรื่อง ลงโทษไล่ออก เป็นกรณีของนายสมชาติ ฐานะประธานกรรมการสโมสรรัฐสภา และผู้จัดการสโมสรรัฐสภา และรองประธานกรรมการจัดสร้างวัตถุมงคล (หลวงปู่ทวด) ที่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรง กรณีใช้ตำแหน่งประธานกรรมการสโมสรรัฐสภาลงนามอนุมัติให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรยืมเงินของสโมสรรัฐสภา จำนวน 3,450,578 บาท เพื่อใช้ในการจัดสร้างวัตถุมงคล โดยไม่มีอำนาจและไม่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจากการแต่งตั้งกรรมการสโมสรรัฐสภาดังกล่าว ไม่ผ่านการดำเนินงานของกองงานกิจการทั่วไปของสำนักงานฯ และจากการให้ยืมเงินจำนวนดังกล่าว ทำให้สโมสรรัฐสภา ไม่ได้สิทธิรับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคาร และกรณีที่ที่ให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯยืมเงินของสโมสรฯ เป็นจำนวนมากนั้น เป็นการสร้างภาระให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ที่ต้องหาเงินมาชดใช้ อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการดังกล่าว ล่าสุด สโมสรรัฐสภาได้รับเงินคืนเพียง 506,199 บาท และยังมีเงินที่ไม่ได้คืน จำนวน 2,944,379 บาท ซึ่งจากการกระทำของนายสมชาตินั้น ถือว่าใช้อำนาจมิชอบทำให้สโมสรรัฐสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เสียหายร้ายแรง อันเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย และขนบธรรมเนียมราชการ ถือเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามกฎ ก.ร. ว่าด้วยวินัยข้าราชการสามัญ พ.ศ. 2555 ข้อ 2 (2) และ (3) และข้อ 6 (1) และ (7) สมควรได้รับโทษปลดออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในท้ายคำสั่ง สนช. ได้ให้สิทธิผู้ถูกลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.ร. ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับคำสั่งลงโทษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารคำสั่งลงโทษนายคุณวุฒิ ให้ปลดออกจากราชการ และคำสั่งลงโทษนายสมชาติ ให้ถูกไล่ออกจากราชการ นั้น มีการถูกเผยแพร่ไปยังข้าราชการสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาฯ วุฒิสภา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อผลการตรวจสอบการกระทำที่นำมาซึ่งการลงนามคำสั่งลงโทษทางราชการโดยนายพรเพชรเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอที่จะลงโทษข้าราชการระดับสูงด้วยการให้ออกจากราชการ อีกทั้งรายละเอียดการตรวจสอบยังไม่มีความรอบด้านเท่าที่ควร เช่น ความเสียหายต่อราชการที่เป็นมูลค่า หรือมีการตรวจสอบทางบัญชีของผู้ที่ถูกลงโทษ ทั้งนี้ ยังสร้างความหวาดหวั่นต่อการทำงานของข้าราชการในหลายระดับต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือการเรียกประชุมคณะทำงานในความถี่กี่ครั้งต่อเดือนจึงจะถือว่าเหมาะสม และสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบเพียงพอ ทั้งนี้ ในช่วงเช้าของวันที่ 11 ก.ค. มีข้าราชการส่วนหนึ่งเตรียมเข้าให้กำลังใจนายคุณวุฒิ และ นายสมชาติ ซึ่งจะเข้ามาขนย้ายสิ่งของส่วนตัวออกจากห้องทำงานด้วย
ทางด้าน นายสมชาติ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังจากเห็นรายละเอียดคำสั่งให้ไล่ออก ว่า ตนเตรียมที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อกรรมการ ก.ร. เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการทำหน้าที่ เพราะการให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยืมเงินสโมสรรัฐสภา จำนวน 3.4 ล้านบาท นั้น ไม่ได้กระทำโดยทุจริต หรือมีเจตนาไม่ชอบ เพื่อหวังได้เงินของสโมสรรัฐสภามาเป็นของตนเอง เพราะตามระเบียบของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ สโมสรรัฐสภาถือเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานฯ ไม่ใช่เป็นนิติบุคคลภายนอก ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้สร้างความเสียหายใด ๆ แต่งบประมาณของส่วนราชการ ทั้งนี้ ในการทำสัญญายืมเงินดังกล่าว มีการระบุด้วยว่า รายได้ที่ได้จากการจำหน่ายวัตถุมงคลนั้น จะนำไปชดใช้คืนให้กับสโมสรรัฐสภาในจำนวนเท่ากับเงินต้นที่ได้ยืม ส่วนกำไรที่ได้จากการจำหน่ายนั้นจะนำเข้ากองทุนสวัสดิการข้าราชการ และใช้ในเรื่องสาธารณประโยชน์ และช่วยเหลือข้าราชการในสังกัด ทั้งนี้ การนำเงินของสโมสรรัฐสภาให้กับสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยืมนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยที่นายพิทูรย์ พุ่มหิรัญ และ นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร