“สมชัย” ย้อน “ไอลอว์” คงเข้าใจผิด แจงประกาศ กกต.ไม่ปิดกั้นแสดงความเห็น ย้ำรายการ 7 สิงหาฯ เป็นกลางเปิดโอกาสสองฝ่ายแสดงความเห็นเท่าเทียม ยันหากศาลปกครองวินิจฉัยผิด กกต.พร้อมเพิกถอน ท้ากลับไอลอว์แสดงจุดยืนไม่ป่วนหากผลไม่เป็นไปตามต้องการ
วันนี้ (6 ก.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงชี้แจงกรณีกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และเครือข่าย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ 2559 และขอให้ระงับรายการ 7 สิงหาฯ ประชามติร่วมใจว่า ประกาศ กกต.ดังกล่าวออกตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่มีเนื้อหากำหนดการกระทำความผิด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว กรณีที่ไอลอว์ได้ร้องต่อศาลว่าประกาศ กกต.ฉบับนี้ในข้อ 5 (5) ที่ระบุว่าการชักชวนให้ใส่เสื้อ ติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขาย การแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าวถือเป็นความผิดนั้น ถ้าอ่านกฎหมายละเอียดจะรู้ว่าการกระทำลักษณะดังกล่าวไม่เป็นความผิดถ้าไม่มีเจตนาปลุกระดม ที่ผ่านมามีพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นแต่ กกต.ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ดังนั้นไอลอว์คงเข้าใจผิด
ส่วนที่ขอให้ระงับรายการ 7 สิงหาประชามติร่วมใจ โดยอ้างว่าเนื้อหารายการสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่านั้น รายการดังกล่าวจะมีทั้งหมด 13 ครั้ง แยกเป็นของ กกต.2 ครั้ง ของ สนช.-กรธ.รวมกัน 5 ครั้ง เหตุผลที่ต้องให้เวลาแก่หน่วยงานดังกล่าวเนื่องจากมาตรา 10 พ.ร.บ.ประชามติกำหนดให้ กรธ.ต้องจัดให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนอีก 6 ครั้งเป็นการให้สถานีโทรทัศน์เชิญวิทยากรจากผู้มีความคิดเห็นสองฝ่ายมาให้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน โดย กกต.ไม่ได้แทรกแซง
“อย่างที่จะมีการออกอากาศครั้งที่ 4 โดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ประเด็นสิทธิและหน้าที่พลเมืองก็จะมีผู้ร่วมรายการ คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือครั้งที่ 5 ประเด็นรัฐธรรมนูญว่าด้วยรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ที่จะออกอากาศทางช่อง 5 ก็มีการเชิญนายเจษฎ์ โทณวณิก นายถาวร เสนเนียม นายสามารถ แก้วมีชัย จะเห็นได้ว่าสถานีโทรทัศน์ก็เชิญทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ไม่ได้เป็นรายการที่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างที่กล่าวหา ฉะนั้นยืนยันว่า กกต.ดำเนินการอย่างเป็นกลาง”
ส่วนที่ไอลอว์ฟ้องว่าประกาศ กกต.ข้อ 5 (4) ที่การจัดเวทีสัมมนาต้องให้มีสถาบันการศึกษา สื่อมวลชนและหน่วยงานราชการรองรับ เป็นการจำกัดสิทธินั้น กกต.ต้องการหาหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งกฎหมายประชามติได้เปิดกว้างให้จัดเวทีแสดงความเห็นเนื่องจากคำสั่ง คสช.ไม่สามารถจัดเวทีได้เลย การให้หน่วยดังกล่าวมาเป็นเจ้าภาพ เพื่อต้องการให้เวทีมีความชอบธรรมไม่ขัดคำสั่ง คสช.
“ผมขอถามจุดยืนของไอลอว์ว่า เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาที่อาจจะออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1. ไม่รับคำฟ้อง 2. รับแล้วพิพากษาว่า กกต.ไม่ผิด และ 3. รับและเห็นว่า กกต.ผิด ในฐานะ กกต.น้อมรับคำวินิจฉัยทุกกรณี ถ้าผิดพร้อมถอนประกาศฉบับดังกล่าว แต่ถามกลับไอลอว์ว่า ถ้าศาลปกครองมีคำวินิจฉัยออกมาทางใดทางหนึ่ง ไอลอว์จะยอมรับหรือไม่ หรือยังจะตีรวนเหมือนตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสองไม่ขัดรัฐธรรมนูญที่บอกว่าไม่เป็นธรรม หรือต้องให้ศาลทุกศาลต้องตัดสินตามใจไอลอว์เท่านั้นหรือจึงจะยอมรับ”