xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” ชี้ศูนย์รักษาความสงบฯ ป้องกันบิดเบือนเนื้อหาร่าง รธน. ด้าน คสช.ยันไม่ทับซ้อน กกล.รส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์
ประธาน กรธ.ระบุการที่รัฐบาลตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย หวังป้องกันการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อประชาชนตัดสินใจได้ในวันลงประชามติ ด้าน คสช.ยันศูนย์รักษาความสงบฯ ของรัฐบาลไม่ทับซ้อน กกล.รส.ของ คสช.

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยคุมเข้มประชามติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในทุกจังหวัดและอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็น ผอ.ศูนย์ตามลำดับว่า การทำหน้าที่จะไม่ทับซ้อนกับการทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการครู ก.และ ข. เพราะทำหน้าที่กันคนละแบบชัดเจน ส่วนการให้อำนาจใช้ดุลพินิจในการทำหน้าที่นั้น ก็เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดยสามารถหารือกับ กกต.ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมาย หรือสอบถาม กรธ.ว่าเข้าข่ายการบิดเบือนเนื้อหาสาระหรือไม่ พร้อมมองถึงเจตนาของรัฐบาลที่ตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมาเพื่อป้องกันการบิดเบือนเนื้อหาสาระ

ส่วนการแสดงจุดยืนและความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของแกนนำ กปปส.และ นปช.นั้น นายมีชัยกล่าวว่า เป็นเสรีภาพที่สามารถทำได้ หากมีเหตุมีผลด้วย ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญถูกใจมวลมหาประชาชนนั้น นายมีชัยยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ตอบสนองคนแค่กลุ่มเดียว แต่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือการทุจริตเป็นปัญหาสากลที่เป็นความต้องการของทุกคน

นายมีชัยยังกล่าวถึงการทำความเข้าใจต่อประชาชนตั้งแต่ลงพื้นที่ของ ครู ก., ข.และ ค. ซึ่งยังไม่ได้มีการสรุปผลการลงพื้นที่ แต่ยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่บ้าง ขณะที่การแจกจ่ายเอกสารสรุปสาระสำคัญ ก็ยังไม่ถึงมือประชาชนจำนวนมาก โดย กรธ.จะเร่งประสาน กกต.และกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะเร่งจัดส่งเอกสารให้เร็วที่สุด แม้จะเหลือเพียง 1 เดือนก็จะถึงวันออกเสียงประชามติแล้ว

ส่วนที่มีการผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนแล้วพบว่า กว่าร้อยละ 60 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัยมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่พอถึงวันออกเสียงก็คงสามารถตัดสินใจกันได้ ส่วนถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงแล้ว นักการเมืองที่ประกาศตัวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญควรจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่นั้นก็เป็นสิทธิการตัดสินใจของแต่ละคน

ด้าน พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวยืนยันว่า การตั้งศูนย์รักษาความสงบของรัฐบาลเพื่อดูแลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ซ้ำซ้อนกับการดูแลรักษาความสงบของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ของ คสช. เนื่องจากเป็นงานที่กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ผ่านศูนย์ดำรงธรรมให้ดูแลการดำเนินการดังกล่าว โดยมีตำรวจ อาสาสมัครเข้าร่วมเพื่อดูแลติดตามการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของทหารเองมี กกล.รส.อยู่ในพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมอยู่แล้วเพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัย

“ถึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยการประสานงานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยจะติดตาม รายงานผล อำนวยความสะดวก การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลังวันที่ 7 ส.ค.แล้วศูนย์รักษาความสงบก็จะหมดหน้าที่ไปตามตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย”

พ.อ.ปิยพงศ์กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวนั้น ยืนยันว่า คสช.ดำเนินการต่อทุกกลุ่มที่เคลื่อนไหว ขณะนี้ยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าจะเกิดความรุนแรง ทุกอย่างมีความเรียบร้อย

กำลังโหลดความคิดเห็น