สตง.โชว์หนังสือเชิญ 3 ผู้บริหารระดับสูง กทม.ตั้งแต่ 23 มิ.ย. ให้มาชี้แจงระหว่าง 28-29 มิ.ย.แต่ไร้วี่แววถึงข้อเท็จจริงตั้งงบฯ 16.5 ล้าน ซ่อมห้องทำงานผู้บริหาร กทม. พร้อมตั้งประเด็นนำงบฯ เหลือใช้จากสำนักระบายน้ำที่หมดความจำเป็นมาใช้ปรับปรุงห้องจริงหรือไม่ หรือมีการจัดทำเตรียมการเปิดประกวดราคาแบบนี้มาก่อน หรือทำมาบ่อยครั้ง เผยสภา กทม.รับทราบ เบื้องต้นเป็นการนำผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการก่อน จึงประกวดราคา-ประกาศทีโออาร์ทีหลัง พบผู้รับเหมาปรับปรุงห้องทำงาน “ปลัด-รองปลัด กทม.” 4-5 ห้อง ด้วยงบ 4.9 ล้านบาท เป็นการดำเนินการก่อนแต่ยังไม่ได้มีการตั้งงบประมาณ
วันนี้ (1 ก.ค.) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ภายหลังนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 1 ใน 2 คนที่ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้สัมภาษณ์ว่าได้ทำหนังสือเชิญไปให้ข้อมูลนั้น ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่าไม่เคยได้รับหนังสือเชิญจาก สตง.แต่อย่างใด และจากการตรวจสอบเบื้องต้นกับทางสำนักงานฯ เจ้าหน้าที่ยืนยันว่ายังไม่มีหนังสือมาถึงเช่นกัน จึงขอเรียกร้องให้ผู้ว่าการ สตง.ออกมารับผิดชอบต่อคำพูดด้วยการนำหนังสือเชิญมาแสดง เพราะการกล่าวอ้างในลักษณะนี้ทำให้ตนเองเสียหาย ทำให้สังคมเข้าใจผิด โดยยืนยันว่าหากมีหนังสือเชิญมาก็พร้อมไปชี้แจง
ทั้งนี้ มีการเปิดเผยหนังสือฉบับดังกล่าวว่า นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.ได้ส่งหนังสือถึงผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2559 โดยหนังสือระบุถึงการขอความร่วมมือให้ส่งผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง 3 ราย ประกอบด้วย นายจุมพล สำเภาดี รองผู้ว่าฯ กทม. นายพีรพงษ์ สายเชื้อ ปลัด กทม. และนายสิงหา จัดบรรจง นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ เพื่อเข้ามาชี้แจงประเด็นข้อเท็จจริงต่อ สตง.ในกรณีงบประมาณการปรับปรุงห้องทำงานผู้ว่าฯ กทม. และห้องทำงานผู้บริหาร กทม.จำนวนกว่า 16.5 ล้านบาท โดยหนังสือฉบับนี้ระบุให้มาชี้แจงตามลำดับ ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย. 59 แต่ผู้บริหาร กทม.กลับไม่ได้เดินทางมาชี้แจงแต่อย่างใด
รายงานข่าวจาก สตง.ระบุด้วยว่า ทราบว่าขณะนี้นายพีรพงษ์ ปลัด กทม.ได้เข้ารับการผ่าตัด ส่วนรองผู้ว่าฯ ติดราชการ จะเดินทางมาพบในสัปดาห์หน้า ทาง สตง.ได้เร่งจัดทำหลักฐานที่จะแสดงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้สมบูรณ์เพื่อขยายผลการตรวจสอบว่ามีการจัดทำเตรียมการเปิดประกวดราคาแบบนี้มาก่อน หรือ ทำมาบ่อยครั้ง และทาง สตง.ก็จะถามข้อเท็จจริงว่ามีการนำงบประมาณเหลือใช้จากสำนักระบายน้ำที่หมดความจำเป็นมาใช้ปรับปรุงห้องฯ จริงหรือไม่
เมื่อช่วงเช้า นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวยืนยันว่า ตนไม่เคยได้รับหนังสือเชิญจาก สตง.ตามที่ผู้ว่าฯ สตง.ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อบางสำนักโดยการให้สัมภาษณ์ในลักษณะนี้ส่งผลให้ตนได้รับความเสียหายเพราะเป็นการพาดพิงถึงตนโดยไม่ใช่ข้อเท็จจริง ตนอยากให้นายพิศิษฐ์แสดงหลักฐานว่าได้ส่งหนังสือเชิญตนไปให้ข้อมูลจริง แต่หากไม่ส่งก็อยากให้รับผิดชอบในคำให้สัมภาษณ์ด้วย ที่ผ่านมาตนได้ให้ความร่วมมือกับ สตง.มาโดยตลอดเกี่ยวกับการให้ข้อมูลการตรวจสอบโครงการต่างๆ รวมถึงโครงการประดับไฟ 39 ล้านบาท
“การที่ระบุว่าถ้าไม่มีข้อมูลจากผมและนายจุมพล จะไม่สามารถสรุปข้อมูลได้ หรือจะเกิดอะไรไม่รู้นั้น มองว่าการทำงานของ สตง.เหมือนการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นการดำเนินการตรวจสอบตามเอกสาร ตามข้อเท็จจริง การระบุแบบนั้นผมคิดว่าต้องพิจารณาการทำงานของ สตง. อีกทั้งยังทำให้ผมเดือดร้อนเพราะถูกพาดพิง ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ สตง.มีอคติกับ กทม.หรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้โกรธหรือโมโห แต่แค่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ก็ขอความเป็นธรรมผ่านสื่อด้วย” นายอมรกล่าว
ส่วนกรณีนี้จะเข้าไปให้ข้อมูลกับ สตง.หรือไม่ นายอมรกล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับหนังสือขอให้เข้าไปชี้แจงข้อมูลจาก สตง. ไม่มีเอกสารเชิญ ไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้ว่าฯ สตง.จึงให้สัมภาษณ์แบบนั้น ยืนยันว่าไม่เคยได้รับหนังสือ และต้องขอให้สื่อมวลชนให้ความเป็นธรรมต่อตนด้วยเพราะถูกพาดพิงทำให้เกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ ภายหลังจากแถลงข่าวเสร็จ นายอมรขอบคุณสื่อมวลชนและลุกออกไปโดยไม่เปิดโอกาสให้ซักถามอีก เมื่อนายอมรเดินออกจากห้องไปก็ได้หยุดพูดคุยกับสื่อมวลชนเล็กน้อย และยกมือไหว้รอบๆ พร้อมกล่าวว่า ไม่ได้โกรธ ไม่ได้โมโหอะไร แต่ขอความเป็นธรรมให้ตนด้วย จากนั้นก็เดินกลับขึ้นห้องทำงานไป
มีรายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมานายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ว่า ปัจจุบันคณะทำงานได้สรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว พบว่า กทม.ได้ว่าจ้างเอกชน คือ บริษัท ดูอิ้ง-เวล คอนสตรัคชั่น จำกัด เข้ามาปรับปรุงห้องทำงานดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 แต่เพิ่งมาทำสัญญาจ้างเมื่อเร็วๆ นี้ ข้อเท็จจริงส่วนนี้ต้องการคำตอบจากฝ่ายผู้บริหาร กทม.ว่าทำไมจึงดำเนินการเช่นนั้น มีความผิดปกติอะไรตรงไหนหรือไม่ จึงได้ทำหนังสือเชิญนายจุมพล สำเภาพล และนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 2 รายเพื่อมาชี้แจง แต่ทั้ง 2 รายขอเลื่อนไม่มาเข้าชี้แจงโดยอ้างว่าติดภารกิจ ดังนั้นเมื่อยังไม่มีผู้บริหารมาชี้แจง ข้อเท็จจริงจึงยังไม่สมบูรณ์ แต่ทางคณะทำงานได้สรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้นมาแล้ว คาดว่าภายในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2559 คงได้ข้อสรุปที่สมบูรณ์
เมื่อถามว่า ได้ทำหนังสือเชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เข้าชี้แจงด้วยหรือไม่ นายพิศิษฐ์กล่าวว่า เบื้องต้นเชิญแค่รองผู้ว่าฯ กทม.2 รายที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวก่อน แต่เมื่อเชิญแล้วไม่มาก็ต้องสรุปข้อเท็จจริงไปตามนั้น อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบพบว่าในช่วงที่มีการจ้างเอกชนให้เข้ามาปรับปรุงห้องผู้บริหารเมื่อปลายปี 2558 นั้น ผู้ว่าฯ กทม.ก็ปฏิบัติราชการตามปกติ ดังนั้น น่าสังเกตว่าเหตุใดจึงมีการมอบหมายให้รองผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 2 รายเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนในการดำเนินโครงการดังกล่าว
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการโยธาและผังเมือง สภา กทม.ได้เชิญ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. สำนักการระบายน้ำ (สนน.)สำนักการโยธา (สนย.) และสำนักงบประมาณ เข้าให้ข้อมูล ส่วนกองกลางสำนักปลัด กทม.ได้ส่งเป็นเอกสารรายละเอียดมาแทน โดยจากการหารือได้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 จริง โดยสำนักการเลขาฯ ผู้ว่าฯ กทม.ได้แจ้งไปยังสำนักการโยธาว่าห้องทำงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ชำรุด จึงขอให้มาตรวจสอบดูแลในระหว่างที่ผู้ว่าฯ กทม.พักการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงต้นปี 2557 โดยมีกองกลาง สำนักปลัด กทม.เป็นผู้ดูแลพื้นที่ร่วมด้วย
จากนั้นเมื่อนำเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบพบความชำรุดในหลายจุดจึงได้ดำเนินการให้ปรับปรุงซ่อมแซมโดยการซ่อมแซมดังกล่าวได้มีการสำรวจห้องอื่นๆ เพื่อทำการปรับปรุงในคราวเดียวกัน จึงได้ดำเนินการในส่วนของห้องเลขาฯ ผู้ว่าฯ กทม. ห้องที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ร่วมด้วย แต่การดำเนินการดังกล่าวนั้นเป็นการมอบหมายให้เอกชนหรือผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการก่อนตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อปี 2558 โดยไม่มีการประกวดราคาหรือจ้างผู้รับเหมาตามระเบียบของราชการ คือ ดำเนินการก่อนที่จะมีการประกวดราคา จึงมีการประกวดราคาทีหลังเพื่อนำงบประมาณไปชำระให้ผู้รับเหมาส่วนงบประมาณจำนวน 16.5 ล้านบาทนั้น เป็นงบประมาณที่สำนักงบประมาณนำมาจากสำนักการระบายน้ำ เป็นเงินเหลือจากโครงการของสำนักการระบายน้ำ 2 รายการ
ในเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนว่าเป็นการนำผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการก่อนจึงประกวดราคา หรือประกาศทีโออาร์ทีหลัง นอกจากนี้ยังตรวจพบว่า มีการดำเนินการในส่วนของการปรับปรุงห้องทำงานของปลัด กทม. และรองปลัด กทม.อีกรวม 4-5 ห้อง ด้วยงบประมาณ 4.9 ล้านบาท เป็นการดำเนินการก่อนแต่ยังไม่ได้มีการตั้งงบประมาณ ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวมีการเสนอถึงประธานสภา กทม.เพื่อให้พิจารณาดำเนินการแล้ว โดยสภา กทม.จะรอผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กทม.อย่างเป็นทางการ
มีรายงานว่า กทม.ได้ตั้งนายพิชญา นาควัชระ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ คาดว่าจะใช้เวลาสอบสวน 2 เดือน