xs
xsm
sm
md
lg

“พรเพชร” ยินดีมติศาล รธน.ลุยประชามติต่อ-ส.ผู้ผลิตสัตว์ปีกยื่นค้านเพิ่มอากรฆ่าสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปธ.สนช.ยินดีศาล รธน.วินิจฉัย ม.61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติไม่ขัด รธน. ทำให้ประชามติสงบ คงมีสิทธิตาม กม. แจงผิดต่อเมื่อจูงใจ วิจารณ์ร่าง รธน.ดีไม่ดีได้ มอง คสช.ยังไม่ให้ประชุมพรรค เหตุถูกบิดเบือนง่าย ชี้ถึงเวลาปรับปรุงพรรคก็ต้องฟังเสียง ด้าน 9 สมาคมผู้ผลิตสัตว์ปีกเข้ายื่นหนังสือค้านร่าง พ.ร.บ.ที่เพิ่มอัตราอากรฆ่าสัตว์ปีกเป็นตัวละ 2 บาท มีผลต่อผู้บริโภค มีปัญหาคุณภาพส่งออก

วันนี้ (1 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เป็นข่าวที่น่ายินดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญซึ่งจะทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย สมความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ การเดินหน้าที่จะทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.จะเป็นไปด้วยความสงบและเรียบร้อย ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพยืนยันว่ายังมีตามกฎหมาย ตนยืนยันว่าความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่ทุกคนเคารพ ไม่ว่าจะเห็นอย่างไรก็ตาม ทั้งนี้เมื่อมีการยื่นคำร้องนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตนบอกตรงๆ ว่าไม่รู้สึกกังวล เพราะหลักของกฎหมายก็ยืนยันหลักสิทธิเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว อย่ามองว่ากฎหมายนี้ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น

ส่วนที่มีมาตรการบางอย่างที่ไม่ใช่การแสดงสิทธิเสรีภาพ เป็นเรื่องของกระบวนการ เช่น บิดเบือนด้วยคำกล่าวคำเท็จ ข่มขู่ ขู่เข็ญ เพียงเท่านั้นก็ไม่ผิด แต่จะผิดก็ต่อเมื่อมีเจตนาพิเศษในการจูงใจให้รับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ อย่างตนไม่ค่อยพูด เพราะในฐานะประธาน สนช. แต่ถ้าในฐานะประชาชนตนก็สามารถวิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีหรือไม่ดี แต่ไม่ใช่ไปดำเนินการในส่วนที่เขาห้าม โดยเฉพาะการชักจูงให้เกิดความวุ่นวาย คงจำบทเรียนได้การปลุกปั่นเดินขบวน ไปปิดหน่วยเลือกตั้ง พูดความเท็จจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต่อข้อถามว่าประชาชนยังไม่เข้าใจคำถามพ่วงประชามติมากนัก นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่เข้าใจต้องถาม เรามีวิทยากรออกไปชี้แจงซึ่งจะอธิบายให้เข้าใจอย่างชัดเจน แต่เท่าที่ตนลงพื้นที่ก็เข้าใจ บางคนก็เห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วยซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

เมื่อถามว่าขณะนี้พรรคการเมืองเรียกร้องให้เปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ นายพรเพชรกล่าวว่า เรื่องนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรหรือไม่ควรอย่างไร แต่ตนเข้าใจว่า คสช.คงมองว่ายังไม่ถึงขั้นตอนที่จะให้พรรคการเมืองแสดงออกโดยการประชุมพรรค เพราะอาจจะเข้าลักษณะถูกบิดเบือนได้ง่าย เนื่องจากคนหมู่มากมาร่วมประชุมและมีมติอย่างหนึ่งอย่างใดก็จะเป็นเรื่องของเสียงพรรคการเมืองไป ไม่ใช่เสียงของประชาชนที่เขาได้ศึกษาได้ฟังคนอื่นพูด ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งจะได้ประชามติตามความต้องการของประชาชน แต่เมื่อถึงคราวที่พรรคการเมืองจะต้องมีบทบาท เช่นการเลือกตั้ง นักการเมืองก็จะมาแสดงนโยบายของตัวเอง เพราะฉะนั้นเป็นคนละประเด็นกัน ในความเห็นตนที่คสช.ยังไม่เปิดโอกาสในเรื่องของประชามติก็เพราะเหตุนี้

“ตอนนี้เรามองว่าเขาเป็นนักการเมือง แต่ถ้ามีการเคลื่อนไหวในลักษณะของกลุ่มการเมืองก็จะเข้าข่ายของการรวมตัวกันเพื่อปลุกปั่นยุยง”

เมื่อถามย้ำว่าพรรคการเมืองต้องการเวลาในการปฏิรูปองค์กรตัวเอง นายพรเพชรกล่าวว่า เรื่องนี้คิดว่า สปท.ดำเนินการอยู่ เป็นคนละประเด็นกับการมาออกเสียงการทำประชามติ แต่ถ้าถึงวาระที่ต้องปรับปรุงพรรคการเมืองก็ต้องฟังเสียงพรรคการเมือง

ขณะเดียวกัน 9 สมาคมผู้ผลิตสัตว์ปีก ได้แก่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ, สมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อการส่งออก, สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย, สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก, สมาคมสัตว์แพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก, สมาคมสัตว์บาลแห่งประเทศไทย, สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย, สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย นำโดยนายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เข้ายื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ... ออกเป็นกฎหมาย เนื่องจากมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไก่ของไทย

โดยนายวีระพงษ์กล่าวว่า การเพิ่มอัตราอากรฆ่าสัตว์ปีกเป็นตัวละ 2 บาท จากเดิมตัวละ 10 สตางค์ เพิ่มขึ้นถึง 1,900% ทำให้กระทบต่อต้นทุนการผลิต แม้ต่อมารัฐจะมีการยกเว้นอัตราอากรตัวละ 10 สตางค์เพื่อส่งเสริมการส่งออก แต่ไทยก็ยังมีต้นทุนการผลิตไก่ตัวละ 34-35 บาท ขณะที่ประเทศบราซิลมีต้นทุนการผลิตเพียงตัวละ 25 บาท ขณะเดียวกัน ไก่หนึ่งตัวหนัก 2 กิโลกรัม เก็บค่าอากร 2 บาท แต่หมูหนึ่งตัวหนัก 100 กิโลกรัม เก็บค่าอากรเพียง 15 บาท ซึ่งทั้ง 9 สมาคมจึงเห็นว่าหากปล่อยให้มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ฯ จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงที่ต้องแบกรับภาระราคาไก่เพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบในหลายด้านตามมา อาทิ ขีดความสามารถการแข่งขันการส่งออกไก่กับต่างประเทศ ปัญหาไก่ไม่ได้คุณภาพ เพราะอาจมีการหลีกเลี่ยงภาษีโดยนำไก่เข้าโรงเชือดที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงปัญหาการควบคุมโรคระบาดในไก่ และกระทบต่อการอยู่รอดของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในที่สุด

ด้านนายพรเพชรกล่าวว่า จะส่งเอกสารไปยังประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวพิจารณาทบทวนอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น