xs
xsm
sm
md
lg

จีที 200-เรือเหาะ ความอัปยศที่บิ๊ก คสช.-กองทัพไม่อยากให้พูดถึง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา




อาจเป็นเรื่องที่เหนือความควบคุมก็ได้ สำหรับกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 เนื่องจากล่าสุดศาลโอลด์ เบลีย์ ในประเทศอังกฤษ ได้ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่า 7.9 ล้านปอนด์ คิดเป็นเงินไทยประมาณกว่า 395 ล้านบาทจาก นายเจมส์ แมคคอร์มิค นักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้ต้องหาในคดีผลิตและจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม (จีที 200) เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

หากสังเกตให้ดีจะพบว่าคดีที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดี และมีการตรวจสอบเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายยุทธภัณฑ์ดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นในต่างประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ ขณะที่การตรวจสอบในประเทศไทยยังไม่มีความคืบหน้าหรือได้ข้อสรุปออกมาแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นผลสรุปของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เงียบหายไป หรือก่อนหน้านี้ เมื่อสี่ห้าปีก่อน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยทำท่าขึงขังเตรียมเรียกตรวจสอบหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถึง 13 หน่วยงาน เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช. มีการตรวจสอบความผิด มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายทหารกว่า 40 ราย ในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ มีการจัดซื้อในราคาที่แพงเกินจริง และไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เจ้าหน้าที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท รวมทั้งเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่ง 3 หน่วยงานหลังไม่เปิดเผยรายชื่อ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมา

จนกระทั่งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลในประเทศอังกฤษได้ตัดสินคดีและสั่งยึดทรัพย์นักธุรกิจและผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมดังกล่าวออกมา จนทำให้สังคมไทยได้ตื่นตัวและฟื้นฝอยตั้งคำถามกันขึ้นมาอีกครั้ง

หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเปิดโปงเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดดังกล่าว ว่า ใช้ไม่ได้ผล พร้อมทั้งผ่ากลไกภายในให้เห็นว่าเป็นเพียงกล่องเปล่ากับเสาอากาศที่ทำขึ้น เพื่อหลอกลวงเท่านั้น จนต่อมามีการพูดเหน็บแนมว่าไม่ต่างจาก “ไม้ล้างป่าช้า” แต่ทางฝ่ายกองทัพก็ยังโต้แย้งว่ามีประสิทธิภาพใช้การได้ มีการตรวจพิสูจน์จนเป็นที่ฮือฮา แต่ในที่สุดในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการสั่งระงับการใช้ในปี 53

จากข้อมูลที่รายงานโดย “สำนักข่าวอิศรา” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน ที่ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่อง จีที 200 มาใช้งานตั้งแต่ปี 50 - 53 รวม 7 หน่วยงาน รวม 19 สัญญา เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 688,287,264.49 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) โดยหน่วยงานที่จัดซื้อมากที่สุดคือ กองทัพบก โดยกรมสรรพาวุธทหารบก จำนวน 11 สัญญา วงเงินรวม กว่า 659 ล้านบาท กองทัพอากาศ โดยกรมสรรพาวุธทหารอากาศ จำนวน 1 สัญญา วงเงินกว่า 5.5 ล้านบาท กองทัพเรือโดยกรมสรรพาวุธทหารเรือ จำนวน 1 สัญญา วงเงินกว่า 8.5 ล้านบาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 สัญญา วงเงินกว่า 1.2 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับบริษัทเอกชนที่ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาขายเครื่อง จีที 200 มี 3 ราย คือ บริษัท เอวิเอ แซทคอมจำกัด บริษัท โกลบอล เทคนิคอล จำกัด และ บริษัท ดีเพนเทค จำกัด โดยบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญากับรัฐมากที่สุดจำนวน 15 สัญญา และจากการตรวจสอบยังลงลึกไปอีกว่าบริษัทดังกล่าวนี้ยังเป็นตัวแทนหรือ “นายหน้า” จัดซื้ออาวุธให้กับกองทัพอีกหลายรายการ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากท่าทีล่าสุดจากฝ่ายผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะในรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ที่เกิดอารมณ์หงุดหงิดเมื่อถูกถามถึงเรื่องดังกล่าว หลังจากศาลอังกฤษพิพากษายึดทรัพย์ผู้ผลิตเครื่อง จีที 200 ว่า “เขาไม่ได้ฟ้องคนซื้อ เพราะซื้อกันทั้งโลก แต่ศาล (อังกฤษ) ให้เยียวยาคนซื้อ คิดให้เป็นบ้าง” และเมื่อถามว่า จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่ว่า “จะให้ตรวจสอบอะไรอีก เขางดใช้ไปตั้งนานแล้ว ทิ้งถังไปแล้วมั้ง เมื่อใช้ไม่ได้ก็ไม่ได้ใช้” ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น ขณะนี้ยังมาไม่ถึงแต่ถ้าร้องได้ก็จะร้อง

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ที่ผ่านมา เคยใช้ได้ผลดี แต่เมื่อมีการทดสอบว่าไม่ได้ผลก็เลิกใช้ พร้อมทั้งย้ำว่า ที่ผ่านมา การจัดซื้อมีคณะกรรมการจัดซื้ออย่างโปร่งใส แต่ก็ยืนยันพร้อมให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบ

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้บัญชาการทหารบกในช่วงที่มีการจัดซื้อจีที 200 ดังกล่าว ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นอ้างว่าเกรงจะกระทบต่อการเยียวยาในภายหลัง

แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้คงไม่อยากให้ฟื้นฝอย เพราะมันเหมือนกับ “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ” บางครั้งก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออกรู้สึกกระอักกระอ่วน

แต่ขณะเดียวกัน เมื่อมันเกี่ยวพันกับงบประมาณของชาติ เกี่ยวข้องกับกองทัพ และประชาชน มันก็ต้องมีการพิสูจน์ตรวจสอบให้เคลียร์

ยิ่งบอกว่า ในการจัดซื้อต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจัดหาจัดซื้อ ไม่ใช่ใครจะสั่งซื้อตามอำเภอใจได้ เมื่อผลออกมาว่ามันไร้ประสิทธิภาพ หลอกลวงแบบนี้ มันก็ยิ่งสะท้อนออกมาในมุมกลับว่า “ไว้ใจได้จริงหรือไม่” เพราะนอกจากเรื่อง จีที 200 แล้ว ยังมีเรื่องการจัดซื้อ “เรือเหาะ” มูลค่าราว 350 ล้านบาท ที่พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เหมาะกับการนำมาใช้ภารกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งมีข่าวได้ปลดระวางไปแล้วอย่างเงียบ ๆ ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวล้วนเป็นเรื่องที่สร้างความอัปยศ และสร้างบาดแผลในใจมาตลอดจนไม่อยากให้ใครพูดถึง

อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นการจัดซื้อด้วยงบประมาณแผ่นดิน ก็สมควรที่จะต้องมีการตรวจสอบกันอย่างโปร่งใส อีกทั้งในยุคปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคของการปฏิรูปจะตัดบทไม่ได้ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น