ผู้จัดการรายวัน360-"วีระ สมความคิด"จี้ "อนุพงษ์" ขอโทษประชาชน แสดงความรับผิดชอบกรณีไม้ล้างป่าช้า “จีที 200” ถามตรงๆ คนเชื่อไหมทหารไม่ทุจริต หลังมีเรื่องโกงโผล่เพียบ แต่สุดท้ายแค่แถแล้วจบง่ายๆ "วิษณุ"แย้มใช้ช่องทางอัยการสูงสุดเรียกเงินเยียวยา ปัดเรียกค่าโง่ ขอใช้เป็นค่าซื้อความรู้ที่แพงไปหน่อยดีกว่า "บิ๊กต๊อก"รับลูกนายกฯ ตรวจสอบทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ด้านผบ.ทบ.ยังยืนยัน ทำถูกต้องตามระเบียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 มิ.ย.) นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Veera Somkwamkid” ถึงกรณีเครื่องมือตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 เก๊ ว่า ความไม่โปร่งใสจนทำให้เชื่อว่ามีการทุจริตในโครงการจัดซื้อจีที 200 ได้ข้อสรุปเสียที หลังจากศาลอังกฤษตัดสินว่า เจมส์ แมคคอร์มิก เจ้าของบริษัท คอมส์แทร็ค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่อง เอดีอี 651 หรือที่เรียกกันว่า จีที 200 ให้แก่ประเทศต่างๆ มีความผิดจริง ฐานฉ้อโกง
วันนี้อุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิด จีที 200 ที่ไทยเราไปลงทุนซื้อมาด้วยงบประมาณมหาศาล ใน 13 หน่วยงาน จำนวน 1,358 เครื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 1,137,588,990 บาท กลายเป็น “ไม้ล้างป่าช้า” ที่เราเสียค่าโง่ไปจัดซื้อมา หลังจากนี้ ก็เลยต้องมารอลุ้นคดีในไทยกันว่า งานนี้ใครจะต้องรับผิดชอบกับค่าโง่ครั้งนี้กันบ้าง โดยเฉพาะคดีในมือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่แต่งตั้ง “วิชัย วิวิตเสวี” เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน ที่สาวไส้คืบหน้าได้มาก
พอภาพมันชัด ตามรายงานข่าวจากปากวิชัย เอาเป็นว่า อีกประมาณ 2 เดือนน่าจะทราบผลกัน เพราะคดีนี้หลักฐานมันล่อนจ้อนกันเหลือเกิน อีกทางหนึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็กำลังไล่เปิดโปงกระบวนการงาบจีที 200 กันอยู่ เพราะว่ากันว่า มันมีกระบวนการล็อกสเปก ที่ไม่มีสินค้ามาเปรียบเทียบประสิทธิภาพกันเลย
ขณะที่กองทัพเอง งานนี้โดนเข้าเต็มๆ เหมือนกัน ในฐานะหน่วยงานความมั่นคงที่มีการนำไม้ล้างป่าช้าอันนี้ไปใช้งานในพื้นที่จังหวัดภาคใต้มาแล้ว โดนกระแสรุมซ้ำกระหน่ำซัด จน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ปรี๊ดแตก ต้องออกมาคำรามให้หยุดวิจารณ์กันเสียที เพราะวันนี้กองทัพเลิกใช้ จีที 200 กันไปเนิ่นนานแล้ว ทว่ากลับไม่มีใครสักคนออกมาขอโทษประชาชน โดยเฉพาะคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคิวที่ อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ออกมาเรียกร้องให้กองทัพขอโทษประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมามีการนำ จีที 200 มาใช้ในพื้นที่แล้ว
เหมือนกับเอาของที่ไร้ประสิทธิภาพมาใช้ในพื้นที่ ไม่ต่างจากการเอาประชาชนมายืนอยู่บนความเสี่ยง รวมถึงในบางครั้งก็ลิดรอนเสรีภาพประชาชนเช่นเดียวกัน ขยายภาพชัดๆ ยกตัวอย่างบางเหตุการณ์ เคยมีการนำไม้ล้างป่าช้าอันนี้ไปใช้ตรวจสอบวัตถุระเบิดในสถานที่ ที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าไม่พบความผิดปกติ แต่ในที่สุดก็ตูมตาม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
ดังนั้น การขอโทษประชาชนจึงเป็นมาตรฐานด้านจริยธรรมที่ง่ายที่สุด ที่ผู้บังคับบัญชาการระดับสูงจะทำได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านไป แล้วบอกเพียงแค่ว่าเลิกใช้แล้ว ดูไม่เหมาะไม่ควรกับผู้บริหารระดับสูงสักเท่าไร
โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ที่ประชาชนในด้ามขวานชายแดนภาคใต้อยากได้ยินคำขอโทษ หรือออกมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าใคร
ผู้อ่านคิดอย่างไร กรณีที่ทหารถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โครงการจัดซื้อเรือเหาะของกองทัพบก ที่ไม่เคยใช้งาน และการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด จีที 200 ทุกเรื่องมีข้อกังขา มีคำถามถึงความไม่โปร่งใสมากมาย แต่คำตอบของผู้ที่ต้องรับผิดชอบกลับไม่มีความน่าเชื่อถือ ทุกเรื่องจบลงง่ายๆ แบบไม่มีทหารไปร่วมทำความผิด ท่านเชื่อไหมว่าทหารไม่ทุจริต
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ตนรับผิดชอบเรื่องการเรียกเงินเยียวยาจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ซึ่งจะมีการหารือว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นตัวแทนรัฐในการเรียกเงินเยียวยา โดยคาดว่าจะเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพราะเราเป็นผู้เสียหายที่เมื่อซื้อสินค้ามาแล้ว แต่ประสิทธิภาพไม่ตรงตามที่คิด ก็ต้องเรียกเงินเยียวยาอย่างที่หลายประเทศได้ทำ
ส่วนกรณีการจัดซื้อจัดจ้างเป็นความผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงคนซื้อจะมีความผิดด้วยก็ต่อเมื่อมีการทุจริต แต่จะมีหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รัฐจะเข้าไปดูซ้อนไม่ได้ และทางป.ป.ช. ก็แจ้งว่าเรื่องอยู่ในกระบวนการ
"แม้ว่าคดีความที่ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ก็ไม่เป็นปัญหากับการดำเนินการเรียกเงินเยียวยาที่สามารถดำเนินการคู่ขนานกันได้ เพราะ ป.ป.ช. ดูเฉพาะคดีอาญา แต่การขอเงินเยียวยา เราจะตั้งรูปคดีเป็นการฉ้อโกง หลอกลวง ผิดสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง เมื่อสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา และศาลอังกฤษมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน เราก็จะยึดแนวทางนั้น ส่วนจะถามว่าเรื่องนี้จะเรียกเป็นค่าโง่ได้หรือไม่นั้น คงต้องแล้วแต่สื่อ แต่มันไม่ดี เพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่าอะไรที่ควักเงินซื้อดูจะเรียกเป็นค่าโง่ทั้งหมดได้อย่างไร ถ้าเรียกได้ ก็เป็นค่าฉลาด ที่สำคัญถือเป็นค่าซื้อความรู้ แต่แพงไปหน่วย"นายวิษณุกล่าว
ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวว่า นายกฯ มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบการจัดซื้อ และให้นายวิษณุ ไปตรวจสอบข้อกฎหมาย เพื่อขอรับค่าชดเชยในฐานะผู้เสียหาย โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมี 2 ประเด็นต้องแยกกันให้ชัดเจน คือ มีทั้งประเด็นการขอรับค่าชดเชยและประเด็นขั้นตอนการจัดซื้อที่ต้องตรวจสอบ โดยเบื้องต้นยังไม่ได้รับหนังสือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะตามขั้นตอนต้องส่งไปที่นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. ต้องดูรายละเอียดก่อน
ด้าน พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. กล่าวว่า ในส่วนของกองทัพบก ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการในเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว ส่วนที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะดำเนินการตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส ก็เป็นเรื่องของ สตง. ตนยืนยันว่า การจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพบก ถูกต้องตามระเบียบทางราชการทุกอย่าง แต่ว่าขั้นตอนต่างๆ เหล่านั้น เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ดังนั้น ต้องติดต่อหลายหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้ว