เมืองไทย 360 องศา
“จากการติดตามข่าวผมทราบว่าเป็นการเชิญชวนประชาชนมาเพื่อสวดมนต์ แต่ถ้าเป็นการปลุกระดมประชาชนให้มาปกป้องถือว่ามีความผิด แต่คิดว่าเรื่องนี้เป็นคนละกรณีกัน เพราะการที่นายบุญชัย (เบญจรงคกุล) ออกมานั้นเป็นการเชิญชวนให้ออกมาสวดมนต์กันมากๆ อย่างไรก็ตาม หากมีการต่อต้าน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระหว่างดำเนินการถือว่าขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่”
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
“ที่มีบุคคลที่มีชื่อเสียงประกาศเชิญชวนให้ศิษยานุศิษย์ออกมาร่วมปฏิบัติธรรมแผ่เมตตาที่วัดพระธรรมกายให้มากที่สุด เพื่อเรียกคืนความยุติธรรมให้พระธัมมชโยพ้นมลทินนั้น อาจถูกสังคมมองได้ว่า เป็นการปลุกระดมมวลชนที่มีนัยแอบแฝง เมื่อมีคนออกมาจำนวนมากอาจเกิดการกระทบกระทั่งกับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงอยากเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการดังกล่าว”
“รัฐบาลเป็นห่วงคณะศิษย์ที่จะเดินทางไปวัดพระธรรมกายในช่วงที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งศาล เพราะอาจสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการกระทำความผิด เนื่องจากขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งตัวบุคคลและวัดพระธรรมกาย”
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
คำพูดของบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีไปถึง บุญชัย เบญจรงคกุล นักธุรกิจชื่อดังที่เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาในคดีฟอกเงินและรับของโจร โดยเตือนให้ระวังการทำผิดกฎหมาย ในเรื่องของการปลุกระดมและขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
แม้ว่าคำเตือนดังกล่าวจะไม่ได้แสดงท่าทีที่แข็งกร้าว หรืออาจไม่ได้ระบุชื่อออกมาตรงๆนัก แต่ในความหมายมันสื่อสารไปถึงโดยตรง ในทำนองว่า “อย่าล้ำเส้น” มากไปกว่านี้
ขณะเดียวกัน หากมองกันในมุมกลับกันการออกมาพูดของ “เจ้าสัว” บุญชัย เบญจรงคกุล ที่เชิญชวนให้บรรดาลูกศิษย์หรือผู้สนับสนุน ธัมมชโย ที่มีอยู่ประเทศนับล้านคนทยอยเดินทางเข้ามาที่วัดพระธรรมกาย โดยใช้คำพูดให้เข้ามาสวดมนต์และปฏิบัติธรรม เพื่อให้ “หลวงพ่อพ้นภัยจากการถูกกลั่นแกล้ง” หรือคำว่า “ไม่มีหลวงพ่อก็ไม่มีเรา” เป็นต้น
คำพูดเชิญชวนดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการ “ปลุกระดม” มีเป้าหมายเพื่อเป็น “โล่ห์มนุษย์” ป้องกันไม่ให้ ธัมมชโย ถูกจับกุม ซึ่งก่อนหน้านี้มีลูกศิษย์และพระสงฆ์ในวัดพระธรรมกายได้มีพฤติกรรมขัดขวางเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ถือหมายศาลเข้าตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้ต้องหามาแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยประกาศว่า “ธัมมชโยจะมอบตัวก็ต่อเมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย” จนต้องล่าถอยออกมา เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการปะทะเกิดความสูญเสีย
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว ซึ่งเวลานี้เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี ซึ่งพิจารณาตามรูปการณ์แล้วก็มองเห็นว่าทางฝ่ายดีเอสไอคงจะใช้วิธีตามรวบบรรดาลูกศิษย์ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว อีกทั้งจะขอความร่วมมือจากตำรวจเพื่อตั้งด่านบริเวณรอบนอกวัดพระธรรมกายสกัดเพื่อสกรีนและตรวจสอบความเคลื่อนไหวไปในคราวเดียวกัน
แน่นอนว่าเกมนี้คงต้องยืดเยื้อ และยังเดาไม่ออกว่าจะไปจบลงแบบไหน เพราะเครือข่ายของธรรมกายมีอยู่กว้างขวางทั่วประเทศ แม้กระทั่งคนในรัฐบาลก็มีข่าวว่าเป็น “สาวก” ของธัมมชโยด้วย แต่เท่าที่สังเกตในเวลานี้เหมือนกับว่าฝ่ายอำนาจรัฐกำลังสำรวจและแยกแยะดูว่ามีใครเป็นใครกันบ้าง เพื่อให้เห็นตัวตนที่ชัดเจนขึ้น เหมือนกับล่อออกมาให้เห็นตัวมากขึ้น เหมือนหับกรณีของ เจ้าสัวบุญชัย เบญจรงคกุล ดังกล่าว ซึ่งก็ยังมีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคนสำคัญ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากภาพรวมที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวในเบื้องต้นจากฝ่ายรัฐพอทำให้มองเห็นสัญญาณบางอย่างออกมาว่า มีการขยับเตือน “ห้ามล้ำเส้น” ไปมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจะต้องเจอกับมาตรการทางกฎหมาย ขณะเดียวกัน ในทางคดีก็เริ่มจับอาการได้เหมือนกันว่าคงต้อง “รอจังหวะ” อีกระยะ ทางฝ่ายกรมสอบสวนคดีพิเศษก็คงยังไม่ไปขอหมายค้นอีกครั้งในช่วงนี้ ลักษณะเหมือนกับว่า “คุมเชิง” เอาไว้ชั่วคราว อย่างน้อยก็อาจรอให้เลยเดือนนี้ไปก่อน เพราะทางวัดพระธรรมกายได้มีการประกาศเชิญชวนบรรดาสาวกให้เข้ามาสวดมนต์ปฏิบัติธรรมไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน จากนั้นคงมีการประเมินกันใหม่
ในทางการเมืองก็พอมองออกว่าฝ่ายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติคงไม่อยากเปิดศึกพร้อมกันสองด้านนั่นคือ ฝ่ายพรรคเพื่อไทย และกลุ่ม นปช.ที่เพิ่งถูกสกัดในเรื่องตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ซึ่งทั้งธรรมกายกับกลุ่มการเมืองดังกล่าวก็เชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้นประเมินว่าฝ่ายรัฐคงต้องแยกออกมาทีละส่วนไม่ให้รวมพลังกันเป็นสองแรงบวกเข้ามา
ดังนั้น ถ้าให้สรุปนาทีนี้ทั้งคำพูดและความเคลื่อนไหวจากฝ่ายรัฐคงทำได้แค่เตือนไม่ให้อีกฝ่ายล้ำเส้นและแสดงออกว่าท้าทายอำนาจมากเกินไป แต่หากยังแข็งขืนเดินหน้าก็คงมาว่ากัน ขณะเดียวกัน ในทางคดีเชื่อว่าน่าจะลากให้ยาวไปอีกสักระยะ ทางหนึ่งก็เพื่อประเมินสถานการณ์ให้แน่ใจเสียก่อนว่าหากบุกเข้าไปจับแล้วไม่เสียฟอร์มกลับมาอีก!