คณะผู้แทนองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เข้าพบ “ประยุทธ์” แสดงความยินดีไทยยุติการถ่ายทอดเอชไอวี-ซิฟิลิส จากแม่สู่ลูกได้ต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งเป็นประเทศแรกของเอเชีย และเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ชี้เป็นประเทศต้นแบบในความสำเร็จในงานด้านสาธารณสุข
วันนี้ (20 มิ.ย.) เวลา 13.00 น. ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทนองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศประกอบด้วย องค์การอนามัยโลก (WHO) โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (Thailand MOPH - U.S. CDC Collaboration : TUC) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่ไทยได้รับมอบเกียรติบัตรจากองค์การอนามัยโลก บรรลุตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลกยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส จากแม่สู่ลูกต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งเป็นประเทศแรกของเอเชีย และเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส จากแม่สู่ลูกเป็นประเทศแรกของเอเชีย และลำดับที่ 2 ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จของไทยในการลดการติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มเด็กทารกแรกเกิด ตามโครงการลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก โดยเฉพาะพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ต่อแม่และเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี กองทุนที่ทรงจัดตั้งยังคงดำเนินการถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติ ทั้งนี้ ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการพัฒนาองค์ความรู้และการพัฒนาเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนทักษะและประสบการณ์และการดำเนินงานด้านเอดส์ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ภายในปี 2573
นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมองค์การอนามัยโลก (WHO) โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (Thailand MOPH - U.S. CDC Collaboration : TUC) ที่ได้สนับสนุนและร่วมมือกับไทยด้วยดีมาโดยตลอด ทั้งด้านเทคนิค วิชาการ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเรื่องเอดส์ ทั้งลดการติดเชื้อเอดส์รายใหม่ ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ และลดการตีตรา (stigmatize) และการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากสถานะการติดเชื้อเอชไอวี
โอกาสนี้ ดร. Poonam Kertrapal Singh ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาค (Regional Director WHO SEARO) ได้กล่าวแสดงความชื่นชมความเข้มแข็งของความเป็นหุ้นส่วนด้านสาธารณสุขระหว่างไทย และองค์การระหว่างประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกของเอเชีย และเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลกยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส จากแม่สู่ลูก รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติไทย ซึ่งไทยจะเป็นประเทศต้นแบบในความสำเร็จในงานด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการยุติเอดส์ ซึ่งสามารถขยายรูปแบบความสำเร็จดังกล่าวนี้ไปสู่การควบคุมและยุติโรคระบาดอื่นๆ
ดร. Luiz Loures รองผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ(UNAIDS) ได้กล่าวสนับสนุนของความสำเร็จของงานด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส จากแม่สู่ลูก เป็นผลส่วนหนึ่งจากเจตนารมณ์ทางการเมืองและภาวะผู้นำของผู้บริหารประเทศ ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงงานบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งงานสาธารณสุขจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและเป็นการทำงานร่วมกันอย่างรอบด้านของหน่วยงานสาธารณสุขของไทยและต่างประเทศ
ขณะที่ นาย Thomas Davin ผู้แทนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้กล่าวแสดงความประทับความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนางานสาธารณสุข ตลอดระยะเวลา กว่า 20 ปี ตลอดจนงานหลักประกันสุขภาพ มั่นใจว่า ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ภายในปี 2573 ได้อย่างแน่นอน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงความท้าทายของงานด้านสาธารณสุขที่จะต้องสร้างความสมดุล การพาณิชย์ และงานสาธารณสุข ภายใต้สังคมโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ที่มีการติดต่อและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยมีมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน ที่กำหนดงานด้านสาธารสุข การอนามัย และการควบคุมโรค ถูกบรรจุไว้ในกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย ภายใต้แนวทางการแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมและรอบด้าน ตั้งแต่การแก้ปัญหาจากต้นเหตุ กลางทาง ปลายทาง ที่มีการบังคับใช้กฎหมายและการสร้างจิตสำนึกในสังคม รวมทั้งจะเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของไทย และสมาชิกประชาคมอาเซียนอื่นๆ โดยจะกำหนดให้หัวข้องานสาธารณสุขเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการประชุมในเวทีภูมิภาคด้วย