xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ถกทีวีดิจิตอลโวยรัฐ ต้นตอทำขาดทุน รับจะไปรายงานถึง “ประยุทธ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ เป็นตัวแทนหารือปัญหาการร้องเรียนของทีวีดิจิตอล 15 ราย อ้างรัฐมีส่วนทำให้ธุรกิจเกิดความติดขัด เตรียมรวบรวมรายละเอียดรายงานให้นายกฯ ชี้ส่วนใหญ่ระบุว่ารัฐไม่ได้ปฏิบัติส่วนที่ต้องทำให้ครบถ้วน ทำเอกชนขาดทุน ขณะที่ กสทช. แจงจะคลี่คลายปัญหาในส่วนที่รับผิดชอบแล้วแต่ติดขัดเพียงข้อกฎหมาย ชี้หากต้องแก้รัฐยินดีถ้าเป็นประโยชน์

วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมหารือเรื่องปัญหาการร้องเรียนของเอกชนผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และตัวแทนสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายวิษณุให้สัมภาษณ์ว่า ตนเป็นตัวแทนรัฐบาลมารับฟังปัญหาของทางบริษัทเอกชนที่ประมูลโทรทัศน์ดิจิตอล 15 ราย ที่ประสบปัญหาและได้ยื่นเรื่องร้องเรียนมาถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สืบเนื่องจากที่ภาคเอกชนซึ่งประมูลโทรทัศน์ดิจิตอล เมื่อเดือน ธ.ค. 2556 อ้างว่าประสบปัญหาเนื่องจากภาครัฐมีส่วนทำให้การทำธุรกิจเกิดความติดขัด ส่วนใหญ่ระบุปัญหาที่คล้ายกัน และเท่าที่ฟังภาษาของเขาระบุว่าภาครัฐมีหน้าที่ต้องทำอะไรบางอย่างแต่ไม่ได้ทำ อุปมาคล้ายกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เวลาจะสร้างอะไรรัฐต้องส่งพื้นที่ให้ แต่เมื่อรัฐส่งพื้นที่ให้ไม่ได้เขาก็ไปสร้างอะไรไม่ได้ เป็นต้น เราจึงต้องรับฟังว่าปัญหาคืออะไรและต้องการให้แก้ไขอย่างไร

รองนายกฯ กล่าวว่า เราคงจะต้องพิจารณาเรื่องที่เขาแจ้งความต้องการอย่างละเอียดว่าฟังขึ้นหรือไม่ เพราะหากรัฐจะช่วยเหลือต้องมีคำตอบที่อธิบายสังคมได้ว่าการช่วยเหลือไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนจนเกินสมควรและมีความไม่เป็นธรรมหรือไม่ ตนจะรวบรวมรายละเอียดเพื่อรายงานให้นายกฯ และ คสช.ได้รับทราบต่อไป และจะหารือในวงเล็กกับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยจะต้องรับฟังข้อมูลจากภาคของกสทช.ด้วยและหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้เอกชนทราบต่อไป

นายวิษณุกล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือเขาระบุว่ารัฐไม่ได้ปฏิบัติส่วนที่รัฐต้องทำให้ครบถ้วนแต่ยังไม่ขอลงรายละเอียด เพราะบางเรื่องมีการฟ้องร้องคดีโดย กสทช.เป็นจำเลยอยู่ในศาลปกครองขณะนี้ จำนวน 11 คดี เรียกค่าเสียกว่าหมื่นล้านบาท ส่วนเรื่องของปัญหารายได้ของสถานีถือเป็นปัญหาหนึ่งที่มีการพูดคุย แต่เราคิดไปไกลกว่านั้นว่าส่วนที่กระทบกับรายได้ของเอกชนก็เป็นความเสี่ยงของเขาที่เข้ามาบริหาร แต่กำลังดูว่ามีผลกระทบต่อส่วนรวมหรือไม่ และเท่าที่ฟังก็พบว่ามีบ้างจึงต้องขอเวลาไปตรวจสอบดูก่อนว่าจริงหรือไม่ ซึ่งต้องรับฟังข้อมูลจาก กสทช.ด้วย หากรับฟังแล้วได้ข้อสรุปจึงจะระบุได้ว่าสุดท้ายจะใช้ทางใดในการแก้ปัญหาหรือจะไม่ทำอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ทาง กสทช.ชี้แจงว่าจะคลี่คลายปัญหาในส่วนที่รับผิดชอบแล้วแต่ติดขัดเพียงข้อกฎหมายก็ไปต่อไม่ได้ แต่อย่าเพิ่งไปพูดลึกถึงขนาดว่าจะต้องใช้กฎหมายพิเศษอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาหลักของทีวีดิจิตอลที่เห็นได้ชัดเจนมีเรื่องใดบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า มีข้อเดียวตรงกันทั้งหมด 15 ราย คือ ประกอบกิจการแล้วไม่สามารถทำให้คุ้มทุน หรือมีการโฆษณาได้ตามที่คิดไว้ เพราะรัฐเป็นฝ่ายที่ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐได้สัญญาไว้ คล้ายกับว่ารัฐไม่ได้ส่งของตามที่สัญญาทางเอกชนจึงไม่สามารถนำของนั้นไปทำให้เกิดรายได้ได้ ทั้งนี้ จะมีการเชิญพูดคุยกันอีกหลายรอบกับผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งรัฐบาลไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่เดิมที กสทช.จะช่วยแต่ติดกฎหมาย จึงโยนมาที่รัฐบาลว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง หากจะต้องแก้กฎหมายรัฐยินดีถ้าเป็นประโยชน์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ทำ

เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ กสทช. ไม่มีการเตรียมการพร้อมก่อนประมูลตั้งแต่แรกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่รู้ เมื่อพูดเรื่องข้อกฎหมายขึ้นมา ทาง กสทช.ได้อธิบายว่ารัฐได้แก้ปัญหาแล้ว ไม่ใช่ไม่ทำ จึงเถียงกันอยู่อย่างนี้และเป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง เรื่องนี้มีการประมูลทั้งหมด 24 ช่องสัญญาณ มีบริษัทประมูล 20 บริษัท เป็นมูลค่ารวมกันทั้งหมด 54,000 ล้านบาท และจ่ายเงินกันไปแล้ว 3 งวด เป็นเงินประมาณ 25,000 ล้านบาท และที่มีปัญหาคือส่วนที่เหลืออีก 3 งวด คือในปี 60-62 เป็นเงินกว่า 25,000 ล้านบาท มีอายุสัมปทาน 15 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น