ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 7 ราย “ช่องวัน - จีเอ็มเอ็ม 25 - พีพีทีวี - ไทยรัฐทีวี - ไบร์ททีวี - เนชั่น - ช่องนาว” เข้าไต่สวนคดีร้องบรรเทาทุกข์ชั่วคราวให้ กสทช. เลื่อนจ่ายค่าใบอนุญาตงวด 3 ผู้บริหารพีพีทีวี เผย แจงศาล 3 ประเด็น งัดปัญหาเรตติ้ง และโครงข่าย กสทช. ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม และทางออกที่ยังหาไม่ได้ ยืนยันไม่ได้คิดเบี้ยวจ่ายเงิน แต่อยากให้พูดคุยกันใหม่
วันนี้ (27 พ.ค.) ศาลปกครองออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 7 ราย ยื่นขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้สั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลื่อนการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่งวดที่ 3 วันที่ 23 พ.ค. 59 และงวดถัด ๆ ไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุด ในคดีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 7 รายได้ยื่นฟ้อง กสทช. สำนักงาน กสทช. และ เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 3 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทช. ปฏิบัติตามกฎหมายในการพัฒนาโครงข่ายทีวีดิจิตอล และออกมาตรการเยียวยาความเสียหาย ด้วยการให้มีการเลื่อนการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไป พร้อมชดใช้ค่าเสียหายให้แต่ละสถานีรวมเป็นเงิน 12,550 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
โดยการไต่สวนครั้งนี้ ศาลเรียกเฉพาะฝ่ายผู้ประกอบการทั้ง 7 ราย ซึ่งก็เข้าให้ถ้อยคำกับศาลอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย น.ส.จิตรลดา เฮงยศมาก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้รับมอบอำนาจ บริษัท เดอะวัน เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด (บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด) ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลช่องวัน 31 และผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม ชาแนล จำกัด ผู้ประกอบการ ทีวีดิจิตอล ช่องจีเอ็มเอ็ม 25, นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ช่องพีพีทีวี 36, นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ เจ้าหน้าที่บริหาร สายงานปฏิบัติการ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ช่องไทยรัฐทีวี 32, นายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ช่องไบรท์ ทีวี 20, นายสุภวัฒน์ สงวนงาม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ช่องเนชั่น ทีวี 22 และ นายสมสกุล เผ่าจินดามุข ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล ช่องนาว 26 ผู้แทนบริษัท แบงคอก บิสซิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด
หลังการไต่สวนนานกว่า 3 ชั่วโมง นายเขมทัต กล่าวว่า ผู้ประกอบการแต่ละช่อง ได้มาชี้แจงต่อศาล 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องธรรมชาติธุรกิจทีวีดิจิตอล ที่ต่างจากการทำธุรกิจทั่วไป โดยเฉพาะกรณีปัญหาเรตติ้ง และโครงข่ายทีวีดิจิตอลมีผลกระทบต่อธุรกิจทีวีดิจิตอลอย่างไร 2. อำนาจหน้าที่ของ กสทช. และการไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อย่างเป็นธรรมของ กสทช. ทำให้ธุรกิจทีวีดิจิตอลแต่ละช่องเสียหายอย่างไรบ้าง และ 3. ถ้าจะมีทางออกควรจะเป็นอย่างไร เพราะขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนจาก กสทช. ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลกว่าครึ่งได้ยื่นฟ้องการทำหน้าที่ของ กสทช. ในจำนวนนี้ก็มี 2 ช่อง ที่ปิดตัวไปแล้ว (ช่องไทยทีวี และ ช่องเอ็มวีทีวี แฟมิลี่) ตรงนี้น่าจะถือเป็นวาระแห่งชาติ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าไปต่อกันไม่ได้อีกหลายช่อง ก็จะทำให้สาธารณชนมีปัญหาในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ
“ตัวเลขความเสียหายทางตรงมันไม่มี แต่ภาระการจ่ายเงินงวดที่ 3 กระทบต่อการลงทุนของทุกช่อง และจะมีผลกระทบต่อไปต่อการรักษาคุณภาพเนื้อหาของรายการโทรทัศน์ ซึ่งพวกเราก็กังวล เพราะ กสทช. มีข้อกำหนดที่มุ่งให้ประชาชนได้รับเนื้อหาที่มีคุณภาพ แต่เมื่อแต่ละช่องรายได้ไม่เข้าตามเป้า เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนผ่านไม่ราบรื่นอย่างที่เราพยายามนำเสนอ ก็มีผลทำให้บางช่องต้องหยุดกิจการต่อไป ยืนยันว่า พวกเราไม่ได้คิดเบี้ยวจ่ายเงิน แต่เมื่อเงื่อนไขมีการเปลี่ยนแปลงก็จำเป็นต้องมีการพูดคุยและตกลงกันใหม่ ที่ กสทช. บอกว่าให้ผ่อนจ่ายเป็นงวด ๆ นั้น ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งศาลก็เห็นว่า จำเป็นต้องมีการพูดคุยกับ กสทช. ก่อน จึงขึ้นอยู่กับศาล ว่า ในการไต่สวนครั้งหน้าจะเป็นการไต่สวนสองฝ่ายหรือไม่” นายเขมทัต กล่าว