xs
xsm
sm
md
lg

“บุญส่ง” ระบุหาก กรธ.เห็นว่า พท.โพสต์ผิด กม.ร้องทุกข์ตำรวจได้เลย ไม่ต้องมาที่ กกต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุญส่ง น้อยโสภณ
“บุญส่ง” ชี้ หาก กรธ. เห็นว่า เพื่อไทยโพสต์เฟซผิดกฎหมายให้ร้องทุกข์กับตำรวจได้เลย ไม่ต้องร้องมา กกต. เชื่อ แม้ไม่มี ม.61 วรรคสอง ใน พ.ร.บ. ประชามติ ก็มี กม. อื่น ดูแลควบคุมสถานการณ์ได้ พร้อมเผยเร่งอบรม พนง. สืบสวน กกต. เตรียมยกระดับให้มีอำนาจสืบสวนเท่าตำรวจ รองรับการเลือกตั้งปี 60

นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. ด้านสืบสวนสอบสวน เป็นประธานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ผู้ปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนให้เป็นมืออาชีพ และเพื่อนำผลการสัมมนาไปพิจารณาเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในทุกระดับ ที่จะมีขึ้นในอนาคต รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับ กกต. เพื่อให้พนักงานสื่บสวนฯ เป็นมืออาชีพที่น่าเชื่อถือ โดยคาดว่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560 จะมีการอบรมพนักงานสอบสวนให้มีความเชี่ยวชาญ และอนาคต กกต. จะขอแก้ไขกฎหมาย ให้พนักงานสืบสวนสอบสวนของ กกต. มีอำนาจเหมือนพนักงานสอบสวนของตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งจะทำให้การป้องกันและปราบปรามการติดหรือตั้งเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยังได้กำชับพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนและกระบวนการการจัดทำประชามติดำเนินการด้วยความเป็นกลาง สุจริต และเที่ยงธรรม และเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิออกเสียงออกไปใช้สิทธิลงประชามติในวันทึ่ 7 ส.ค.

นายบุญส่ง ยังกล่าวถึงส่วนแนวทางการสืบสวนสอบสวน การทำผิดกฎหมายประชามติ ว่า จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ที่จะเป็นเรื่องของการคัดค้านการออกเสียงที่จะเกี่ยวกับลงคะแนน การนับคะแนน และการขานคะแนน แต่หากเป็นความผิดทางอาญา เช่น มาตรา 116 ความมั่นคงของรัฐ มาตรา 215 การชุมนุม 5 คนขึ้นไป รวมทั้ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ประกาศคำสั่ง คสช. ความผิดทั้งหมดนี้เป็นอำนาจโดยตรงของตำรวจ

ส่วนกรณีสมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์ Facebook ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว ไม่ถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ประชามติ แต่อาจผิดกฎหมายความมั่นคง เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 116 ความมั่นคงของรัฐ และเป็นเรื่องของตำรวจที่จะต้องไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งหากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ) เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวผิดกฎหมาย ก็สามารถที่จะไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลย กกต. จะไม่ก้าวล่วงไปสืบสวน ถ้า กรธ. ส่งเรื่องมากกต. ก็ต้องส่งไปให้ตำรวจท้องที่ เพราะการออกเสียงประชามติเป็นความผิดทางอาญา

“สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุม กกต. ก็ได้พิจารณากรณีที่ สน.ชนะสงคราม และ สน.สำราญราษฎร์ ทำหนังสือมาหารือกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งทาง กกต. ก็ได้แจ้งไปว่าหากพบเป็นความผิดซึ่งหน้าเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอาญา ก่อนหน้านี้เราก็ได้ให้ ผอ.กต.จังหวัด แจ้ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่เรื่องอาจจะยังไม่ถึงท้องที่”

นายบุญส่ง ยังปฏิเสธที่จะกล่าวถึง คำชี้แจงของ กกต. ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมาตรา 61 วรรคสอง เพราะคดีอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลแล้ว แต่ส่วนตัวเห็นว่ามาตราดังกล่าวมุ่งป้องปรามผู้เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ แม้ไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวใน พ.ร.บ. ประชามติ ก็มีกฎหมายอื่นในการควบคุมการออกเสียงประชามติ เช่น กฎหมายคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญา หรือแม้แต่ในมาตรา 61 อนุ 1 พ.ร.บ. ประชามติ ก็บัญญัติความผิดเรื่องความไม่สงบเรียบร้อย อนุ 3 ก็เรื่องการหลอกลวง ข่มขู่ ใช้อิทธิพลคุกคาม ซึ่งก็ดูแลการแสดงความคิดเห็นได้อยู่แล้ว

สำหรับเรื่องการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติของกลุ่ม นปช. นั้น นายบุญส่ง กล่าวว่า กกต. คงไม่สามารถรับรองได้ เพราะ กกต. ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ตนจึงขอถามว่า นปช. เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งคิดว่าเราก็รู้กัน อย่างนั้นคงรับรองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการจัดเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ และประชามติ ที่ยังเหลืออีก 2 แห่งนั้น ตนจะไปร่วมในเวทีสุดท้ายที่ จ.นครราชสีมา ที่เบื้องต้นได้รับแจ้งว่า จากเดิมที่จะจัดในค่ายทหารได้ย้ายไปจัด ที่หอประชุม เปรม ติณสูลานนท์ แทนแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น