รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยนายกรัฐมนตรีเยือนอินเดีย 16-18 มิ.ย.นี้ กระชับสัมพันธ์ หารือแนวทางขยายเศรษฐกิจสองชาติ คาดลงนามความตกลง 3 ฉบับ ระบุ “อองซานซูจี” มาไทย 23-25 มิ.ย. เซ็นเอ็มโอยูความร่วมมือด้านแรงงาน
วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.00 น. พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกำหนดการเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2559 ตามคำเชิญของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย ว่าเป็นการเดินทางเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือถึงแนวทางและโอกาสใหม่ๆ ในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยรัฐบาลอินเดียได้จัดให้มีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี โดยมีกำหนดการหารือข้อราชการกับนายเอ็ม ฮามิด อันสารี รองประธานาธิบดีอินเดีย นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และนางศุษมา สวราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงการประชุมเต็มคณะระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกลุ่มย่อยที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการลงนามความตกลงจำนวน 3 ฉบับ คือ แผนปฏิบัติการว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยนาคาแลนด์ และบันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กับธนาคาร Axis จำกัด
พล.ต.วีรชนกล่าวต่อว่า นายกฯ ยังมีกำหนดการพบปะกับภาคเอกชนอินเดียและนักลงทุนไทยที่ดำเนินธุรกิจในอินเดีย รวมทั้งการกล่าวสุนทรพจน์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่อสมาคมธุรกิจอินเดีย 3 สถาบัน คือ สมาพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย สมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย และสมาคมหอการค้าแห่งอินเดีย พร้อมกันนี้นายกฯ จะเดินทางสักการะศาสนาสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ณ เมืองคยา รัฐพิหาร และจะเป็นประธานในพิธีสวดมนต์และเจริญจิตภาวนาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่วัดมหาโพธิ์พุทธคยา รวมทั้งจะถวายภัตตาหารเพล พร้อมทั้งปัจจัยไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์ที่วัดไทยพุทธคยา
อย่างไรก็ตาม กำหนดการของนายกฯ จะเดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ในวันที่ 16 มิถุนายน จากนั้นวันที่ 17 มิถุนายน ช่วงเช้ามีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ โดยนายกฯ วางพวงมาลา ณ ราชฆาฏอนุสรณ์สถาน มหาตมะคานธี และอนุญาตให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินเดียเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ณ โรงแรมที่พัก จากนั้นนายกฯ เข้าเยี่ยมคารวะรองประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินเดีย ณ ราษฎร์ปติภาวัน และหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย ก่อนเป็นประธานร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-อินเดีย ครั้งที่ 1 โดยจะมีพิธีลงนามความตกลงและการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย-อินเดีย และเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา ณ เรือนรับรองรัฐบาลอินเดีย ช่วงบ่ายในวันเดียวกัน นายกฯ พบหารือนักธุรกิจไทยที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในอินเดีย พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ในการสัมมนาทางธุรกิจไทย-อินเดีย โดยจะมีการหารือภาคเอกชนอินเดียชั้นนำ ก่อนจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำกับภาคธุรกิจ และวันที่ 18 มิถุนายน ช่วงเช้านายกฯ และคณะเดินทางไปสักการะศาสนสถาน ณ เมืองคยา รัฐพิหาร ก่อนเดินทางกลับ กรุงเทพ ในวันที่ 18 มิถุนายน เวลา 16.50 น.
นอกจากนี้ พล.ต.วีรชนยังแถลงด้วยว่า เนื่องด้วยวันที่ 23-25 มิ.ย. นางอองซานซูจี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า จะเดินทางเยือนประเทศไทย ซึ่งจะมีการหารือถึงบันทึกความร่วมมือด้านแรงงงาน โดยที่ประชุม ครม.วันนี้ได้เห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่องบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า พร้อมอนุมัติให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนาม
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้ พล.อ.ศิริชัย เป็นผู้ลงนามในเอกสารทั้งสองฉบับ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดต่อหลักการที่ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอ ครม.ทราบภายหลังตามหลักเกณฑ์ของมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เรื่องการจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงนามครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจริงจังและความจริงใจของไทยในการร่วมกันแก้ปัญหาแรงงาน ปัญหาการค้ามนุษย์ และการแก้ไขปัญหาสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ อย่างมีความโปร่งใสและธรรมาภิบาล