xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” โว 2 ปี ออกกฎหมายจำเป็นถึง 172 ฉบับ ต่างจากรัฐบาลก่อนขัดแย้งสูงทำล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ เชิญชวนคนไทยร่วมชมนิทรรศการ “ศิลป์แผ่นดิน” ตั้งแต่ 14 มิ.ย. เป็นต้นไป ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โวแค่ 2 ปี รัฐบาล คสช. ออกกฎหมายจำเป็นได้ถึง 172 ฉบับ เพราะเน้นประโยชน์ชาติไม่หวังผลการเมือง ต่างจากรัฐบาลก่อน ๆ ซึ่งมีความขัดแย้งสูงทำให้ออกได้เพียงนิดเดียว

วันนี้ (10 มิ.ย.) เมื่อเวลา 20.15 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ช่วงหนึ่งว่า รัฐบาลขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ร่วมภาคภูมิใจในศิลปะชั้นสูงของแผ่นดิน และชื่นชมผลงานอันวิจิตรบรรจงของลูกหลานเกษตรกรผู้รังสรรค์และสืบทอดศิลปะช่างฝีมือของชาติไทย ในนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี “ศิลป์แผ่นดิน” ครั้งที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน เป็นต้นไป ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

สำหรับผลงานชิ้นเอก ในปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยปีนี้ สถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ได้จัดสร้างอาคารจตุรมุขโถง มียอดทรงปราสาท 9 ยอด เป็นสถาปัตยกรรมเรือนยอดแบบไทย ที่มีจำนวนยอดปราสาทมากที่สุดเท่าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นผลงานชิ้นแรกของช่างศิลปาชีพสถาบันสิริกิติ์ สร้างขึ้นด้วยถาวรวัตถุประกอบด้วยโลหะและหินอ่อน มีการปิดทองประดับกระจกและตกแต่งด้วยจิตรกรรมในส่วนต่าง ๆ ทั้งเรือนยอด ถือเป็นอาคารโลหะทั้งหลัง และเป็นหลังแรกของไทย โดยได้รับพระราชทานนามว่า “เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์” หมายถึง เรือนยอดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก เฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งใหญ่ กล่าวคือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่ (1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พุทธศักราช 2559 และ (2) จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 5 ธันวาคม 2560 พร้อมด้วยในโอกาสที่ (3) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 และ (4) เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาต่าง ๆ มากมายในเชิงโครงสร้าง กับดักใหญ่ ๆ ของประเทศมี 3 เรื่อง ได้แก่ กระบวนการทางกฎหมาย ระบบราชการและการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ไขทั้งหมด มีการดำเนินการที่คืบหน้าไปมากก็เป็นแต่เพียงการวางรากฐาน เอาที่ผ่านมา เอาปัญหามา คลี่ออกมา ปัญหาใหญ่ ปัญหากลาง ปัญหาเล็ก เอามาดูว่าจะทำอะไรได้บ้างในระยะที่ 1 ในด้านกฎหมายนั้นช่วง 7 ปีที่ผ่านมา อาจจะต้องกล่าวอ้างกลับไปว่า ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2557 ได้มีการผลักดันกฎหมายเป็นไปด้วยความล่าช้าด้วยเหตุผลประการใดก็แล้วแต่ ทำได้เพียง 120 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2551 - 2557 กฎหมายสำคัญที่จำเป็น เช่น กฎหมายตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ กฎหมายจัดระเบียบสังคม ไม่สามารถออกได้เลย เพราะมีความขัดแย้งสูง การเมืองก็มีปัญหาอาจจะมีการไร้เสถียรภาพ หรือการทับซ้อนอะไรก็แล้วแต่ ทำให้ทำไม่ได้ ได้ก็น้อยเกินไป

“ในขณะที่รัฐบาลนี้ได้เข้ามาดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา 2 ปีถึงปัจจุบัน สามารถเร่งรัดการออกกฎหมายที่จำเป็น ได้ 172 ฉบับ โดยเราไม่สนใจเรื่องของการบริหารเพื่อหวังผลทางการเมืองเน้นในเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ของส่วนรวมเป็นสำคัญและก็ไม่แทรกแซงฝ่ายตุลาการเหมือนในอดีตที่ผ่านมา” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการปรับปรุงกฎหมาย ในระยะต่อไป 2559 - 2560 จะเร่งดำเนินการในกลุ่มที่ 1 คือ กฎหมายในเชิงปฏิรูปตามนโยบายรัฐบาล อาทิ เช่น ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ร.บ. บรรษัทวิสาหกิจ พ.ร.บ. วิสาหกิจชุมชน พ.ร.บ. กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

กลุ่มที่ 2 คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่ากฎหมายลูก ก็ต้องไปตามหลายอย่าง กฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกาต่าง ๆ ต้องสอดคล้องกันหมด ประกอบรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลัก ต้องมีกฎหมายในเชิงบังคับใช้ข้างล่างด้วย วิธีการของเจ้าหน้าที่ แล้วก็ประชาชนจะร่วมมือกันได้อย่างไร กำลังเร่งทำอยู่

กลุ่มที่ 3 คือ กฎหมายเชิงปฏิรูปที่ต้องออกตามร่างรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องของการปฏิรูปตำรวจ การศึกษา และกฎหมายอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ต้องออกภายในเวลาที่กำหนด เช่น กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ 120 วัน กฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ 120 วัน กฎหมายสิ่งแวดล้อม 240 วัน กฎหมายวินัยการคลัง 240 วัน เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 คือ การแก้ปัญหาในระบบราชการ ที่ผ่านมา อาจจะมีกฎหมายทับซ้อนกันมากเกินไป บางอย่างก็ทันสมัย ไม่ทันสมัยบ้าง อาจจะไม่เคยมีการตรวจสอบตามความจำเป็นเลยนะครับ ตามระยะเวลาที่ผ่านมาแล้วก็มีผลที่ทำให้หลายอย่างล่าช้า บางกฎหมายซ้ำซ้อนกัน บางครั้งก็ไม่มีผู้รับผิดชอบ เพราะหลายกระทรวงทำด้วยกันไง งบประมาณต่างคนต่างทำ รัฐบาลนี้ได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้ทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมาย ทุก 5 ปี พร้อมทั้งการจะออกกฎหมายได้นั้น ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ การตรวจสอบร่างกฎหมาย checklist 10 ข้อ เช่น แนวทางการทำกฎหมายลูก การบูรณาการกิจกรรมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในการติดต่อราชการที่ผ่านมาใช้เวลามาก ขั้นตอนยุ่งยากและยุ่งเหยิง ต้องมีการเตรียมการ ถามหาเอกสารหลายฉบับ รัฐบาลนี้ก็เพิ่มศักยภาพการให้บริการภาครัฐ โดยการนำเทคโนโลยีระบบ e-Government มาใช้ เราต้องใช้ระบบ IT ให้เกิดประโยชน์สูงสุด วันนี้ มีการปรับปรุงในส่วนของกระทรวง ICT ด้วย เราได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม (OSS) ให้ทั่วถึง และออก พ.ร.บ. อำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เพื่อให้การบริการประชาชน มีความชัดเจน โปร่งใส และรวดเร็ว ป้องกันการเรียกรับเงิน การทุจริตของเจ้าหน้าที่

ส่วนกลไกราชการที่มีช่องว่างให้เกิดการทุจริต รัฐบาลนี้ได้แก้กฎหมาย ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. ให้เป็นอิสระจากการเมือง เพิ่มอำนาจตรวจสอบ เพิ่มบทบาทให้ศูนย์ต่อต้านการทุจริต ประจำกระทรวงออก พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้ระบบ e-Bidding

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า การแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลนี้ได้นำเอาคดีสำคัญของประเทศเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลเท่านั้น เช่น คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีจำนำข้าว คดีคลองด่าน คดีฟิลลิป มอร์ริส เป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องของการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้นเอง เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับขบวนการภายใน

การแก้ปัญหาการดำเนินคดีในศาลในคดีที่สำคัญ เช่น กรณีใช้วิธีพิจารณาล่าช้า เช่นคดีค้ามนุษย์ คดียาเสพติด ตนให้มีการเปิดแผนกคดีค้ามนุษย์ ยาเสพติด ขึ้นในศาลชั้นต้น กรณีศาลถูกแทรกแซงโดยผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ให้สามารถโอนคดีไปพิจารณานอกพื้นที่ได้ หากมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่สะดวก ให้มีการออก พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยด้วย ที่ต้องตกไปเป็นผู้ต้องหาหรืออะไรก็แล้วแต่ ทั้งนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเท่าเทียม ความยุติธรรม และความสงบสุขในสังคมไทยในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่องด้วยกันที่ต้องดำเนินการ อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลนี้ก็จะได้วางรากฐานไว้ให้ตาม Road map ระยะที่ 1 จน ถึงปี 2560 ที่เหลือก็จะบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการประเมินทุก1- 5 ปี 4 ช่วง คือ 4 แผน รวม 20 ปี

ทั้งหมดจะสำเร็จได้ด้วยการริเริ่ม เอาใจใส่กวดขัน ของรัฐบาลร่วมกับ ข้าราชการที่มีหน้าที่ ขอความร่วมมือจากประชาชนไปด้วยพร้อม ๆ กัน 3 อย่างนี่ทำด้วยกันได้หมด งานทุกงาน อย่าไปคิดว่า ฝ่ายบริหารต้องไม่คิดว่า เรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของข้าราชการ เพราะฉะนั้น ถ้าบกพร่องขึ้นมาข้าราชการก็บกพร่อง ฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด ต้องสั่ง ต้องจี้ ต้องตาม ไม่รู้เรื่องไม่ได้ ต้องเห็นใจข้าราชการเขาบ้าง แล้วมีหลายคน ที่ผ่านมามีนักการเมืองออกมาพูดว่า สิ่งที่บกพร่องวันนี้เป็นงานธุรการ ที่ข้าราชการต้องทำอยู่แล้ว ถ้าผิดพลาดอะไร ก็เป็นเรื่องของข้าราชการ เขาไม่รับผิดชอบ ผมคิดว่าท่านคงได้ยิน ไปหาดูว่าใครพูด

“ความสำเร็จทั้งปวงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราทุกคน ทุกฝ่าย ไม่ร่วมมือกัน ไม่จริงใจต่อกัน และไม่มองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ในการที่จะนำพาประเทศชาติและประชาชน ทุกหมู่เหล่า ภายใต้สีไตรรงค์เหมือนกันไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และขับเคลื่อนด้วยกลไกประชารัฐในทุกกิจกรรมด้วยกัน” นายกฯ กล่าวปิดท้าย

คำต่อคำ : รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” วันที่ 10 มิถุนายน 2559

สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน รัฐบาลขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ร่วมภาคภูมิใจในศิลปะชั้นสูงของแผ่นดิน และชื่นชมผลงานอันวิจิตรบรรจงของลูกหลานเกษตรกรผู้รังสรรค์และสืบทอดศิลปะช่างฝีมือของชาติไทย ในนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี “ศิลป์แผ่นดิน” ครั้งที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน เป็นต้นไป ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต

สำหรับผลงานชิ้นเอก ในปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยปีนี้สถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ได้จัดสร้างอาคารจตุรมุขโถง มียอดทรงปราสาท 9 ยอด เป็นสถาปัตยกรรมเรือนยอดแบบไทย ที่มีจำนวนยอดปราสาทมากที่สุดเท่าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นผลงานชิ้นแรกของช่างศิลปาชีพสถาบันสิริกิติ์ สร้างขึ้นด้วยถาวรวัตถุประกอบด้วยโลหะและหินอ่อน มีการปิดทองประดับกระจกและตกแต่งด้วยจิตรกรรมในส่วนต่าง ๆ ทั้งเรือนยอด ถือเป็นอาคารโลหะทั้งหลัง และเป็นหลังแรกของไทย โดยได้รับพระราชทานนามว่า “เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์” หมายถึง เรือนยอดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก เฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งใหญ่ กล่าวคือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่ (1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พุทธศักราช 2559 และ (2) จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 5 ธันวาคม 2560 พร้อมด้วยในโอกาสที่ (3) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 และ (4) เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ด้วย

เมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้น ผมได้มีโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “70 ปีครองราชย์ ประชารัฐรวมใจภักดิ์ ป่ารักษ์น้ำตามรอยพ่อ”ณ คลองบางสองร้อย ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาล ที่มอบให้กระทรวงกลาโหม รับผิดชอบหลักดำเนินการตามแนวทางประชารัฐเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 70 ปี เป็น 70 แห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อความอยู่ดี กินดี ของพสกนิกรชาวไทย โดยการน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย รวมทั้งใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และประมง นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามแนวทาง “ป่ารักน้ำ” ที่พระองค์จะทรงเป็น “ป่า” ที่ถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็น “น้ำ” โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการพร้อมกันทั่วภูมิภาคของประเทศ

โอกาสเดียวกันนี้ ผมได้ปลูกต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน ต้นไม้ประจำชาติไทยเป็นไม้มงคลที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย มีดอกเป็นพวงระย้า สีเหลืองสด เป็นสีแห่งพระพุทธศาสนาและสีประจำวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งได้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการฟื้นฟู ปรับปรุง และพัฒนาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ แก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมโดยใช้ระบบหญ้าแฝกจะช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ สามารถ (1) ปลูกในพื้นที่ลาดชัน เพื่อลดความเร็วน้ำฝน ป้องกันน้ำป่าไหลหลาก และลดการชะล้างแร่ธาตุในหน้าดิน (2) ปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำ เสริมความมั่นคงให้คันดิน (3) ปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้เป็นพืชคลุมดิน ตายไปก็กลายเป็นอินทรีย์วัตถุในดินต่อไป หรือ (4) ปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน และยึดติดกันรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนั้น ผมอยากให้ประชาชนที่อยู่ใกล้ชิดแหล่งน้ำหรือคูคลองต่าง ๆ ที่ขุดลอกขึ้นมานั้นได้ช่วยกันปลูกหญ้าคลุมดินบริเวณตลิ่งริมคลองไว้ด้วย ขณะที่หญ้าแฝกที่เราปลูกไว้นั้นยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ รากคือยังไม่ยาวนะครับ ยังไม่แข็งแรงเท่าไรนัก เราอาจจะต้องมีหญ้าเพื่อจะคลุมดินไม่ให้น้ำมันเซาะลงไปอีก

ขอฝากไว้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดนะครับ ได้ช่วยกันกำกับดูแล เอาประชาชนมาร่วมมือกันเป็นกลุ่ม ๆ ในพื้นที่ที่ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อจะได้มีการเก็บพืชต่าง ๆ ที่จะปลูก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ พริก หอม กระเทียม กล้วย อ้อย แล้วก็ไม้ยืนต้นเสริมไปด้วย อะไรก็ได้ ไม้โตเร็วบ้างอะไรบ้างที่มันอยู่ริมน้ำนะครับ ริมคันคูคลองต่าง ๆ เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันจะได้มีคนดูแล มีคน มีน้ำ ได้คอยดูแล และให้มันเจริญเติบโตได้ ถ้าหากว่าปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ ไม่มีคน ปลูกเสร็จ ถ่ายรูปเสร็จมันก็ตายหมด เพราะฉะนั้นต้นไม้ที่จะเจริญเติบโตรอดได้จะต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 2 เมตร เพราะฉะนั้นในระหว่างนี้ขอให้มีการทำฝายชะลอน้ำ แล้วก็พืชคลุมดินหรือต้นไม้ที่โตเร็ว คลุมดินไว้ก่อนเพื่อเก็บความชุ่มชื้นไว้ แล้วเอาต้นไม้ที่สูง 1.50 เมตร หรือ 2 เมตร ไปปลูกใต้ร่มเงานั้น หรือในพื้นที่ที่เราดูแลได้ ก็จะโตอย่างยั่งยืน ต้นไม้นะ ไม่อย่างนั้นปลูกไปก็ตายหมด

เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีนักกีฬาทีมชาติไทยหลายประเภท ที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี นำความสุข ความภาคภูมิใจมาสู่พี่น้องประชาชนชาวไทยกันถ้วนหน้า ในโอกาสนี้ผมขอเป็นตัวแทนในการแสดงความยินดีและชื่นชม

(1) ทีมช้างศึกไทยนะครับ นักฟุตบอลทีมชาติไทย ในการคว้าแชมป์ “คิงส์ คัพ” ครั้งที่ 44 ที่เราห่างหายมานาน 9 ปี เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีมหามงคลนี้

(2) ในขณะที่ทีมชาติไทย ชุด U-21 รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี ก็สามารถคว้าแชมป์การแข่งขันฟุตบอล “เนชั่นส์ คัพ” ที่ประเทศมาเลเซีย ได้อย่างน่าประทับใจ และ

(3) ทีมนักตบสาวไทย ทีมวอลเลย์บอลหญิงที่ได้รางวัลรองชนะเลิศ ในรายการ “มองเทรอซ์ วอลเลย์บอล มาสเตอร์ 2016” ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นับว่าบรรลุเป้าหมายในการยกระดับไปสู่มาตรฐานโลกได้ในที่สุด พร้อมทั้งขอการันตีด้วย 4 รางวัล ผู้เล่นยอดเยี่ยม ทั้งตำแหน่งหัวเสา บอลเร็ว มือเซต ตัวรับอิสระ เราต้องร่วมกันนะครับ เพื่อให้กำลังใจนักกีฬาของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีโอกาสเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีนี้ด้วย หลายประเภทด้วยกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คนไทยไม่มีความเก่งกาจย่อหย่อนไปกว่าชนชาติใดในโลก รวมทั้งในเรื่องของการสร้างนวัตกรรมเพื่อจะสร้างชาติของเราให้เข้มแข็งในอนาคต ในเรื่องนี้เรามีผลงานของนักวิจัยไทยที่ประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัลในเวทีระดับนานาชาติ เช่น

(1) เครื่องช่วยฟังในหู สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน แบบชาร์จได้ ราคาถูก 800 บาท ซึ่งถ้านำเข้าจากต่างประเทศ ราคาจะไม่ต่ำกว่าเครื่องละ 1 หมื่นบาทนะครับ

(2) แผ่นใยไม้อัดปลอดพลาสติก จากขี้เลื่อยไม้ยางพาราสามารถนำไปประยุกต์ใช้งาน เป็นภาชนะบรรจุอาหาร และของเล่นเด็ก ราคาถูกและปลอดภัย ใช้วัตถุดิบเหลือใช้ในประเทศ เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ขี้เลื่อย

(3) บรรจุภัณฑ์สำหรับการส่งออกลำไยสด โดยไม่ผ่านการรมซัลเฟอร์ไดออกไซต์ สามารถเก็บได้นาน กว่า 4 เดือน และ

(4) เครื่องรีไซเคิลขยะขวดแก้ว ใช้แทนทรายทำอิฐสร้างบ้าน เป็นต้น เหล่านี้ ถ้าหากเราช่วยกันคิด ช่วยกันวิจัย ช่วยกันพัฒนาต่อยอด และก็ผลิตในประเทศได้ ก็จะเป็นสินค้า แบรนด์ไทย ซึ่งพอจะแข่งขันกับต่างประเทศเขาได้ ในโลกปัจจุบัน

นอกจากนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลดังกล่าวเหล่านี้แล้ว ยังมีสิ่งของประดิษฐ์ของไทย อีกหลายรายการ ที่ผมได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับธุรกิจเอกชนไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยกันดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้สามารถนำไปสู่การผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างคุณค่าให้กับประเทศ ทั้งในเชิงพาณิชย์และใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำบัญชีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทย มีหลายร้อยชิ้นแล้ว การปรับปรุงระเบียบให้หน่วยงานของรัฐ สามารถจัดซื้อจัดจ้างนวัตกรรมไทยได้ ที่มีการผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว สำหรับการสร้างความยั่งยืนให้กับการวิจัยและพัฒนาของประเทศ มีหลายประการนะครับ ไม่ใช่พูดแต่คำว่าจะวิจัย วิจัย จะส่งเสริมแต่ไม่ได้ทำในกิจกรรมปลีกย่อยเหล่านั้น

รัฐบาลได้เตรียมการปฏิรูประบบวิจัยไทยใหม่ทั้งหมด โดยมีการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ 20 ปี (2560 - 2579) ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมกรรมนโยบายระบบวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ให้มีหน้าที่ในการกำกับนโยบายทางด้านนี้ของประเทศ จะต้องมีเอกภาพในทุก ๆ มิติ เช่น การกำหนดทิศทาง การจัดสรรงบประมาณ การให้กรอบทุนสนับสนุน การเสริมสร้างขีดความสามารถ การเชื่อมโยงเครือข่ายวิจัยทั้งในและต่างประเทศ การปรับปรุงคนและโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ ในโอกาสต่อไป

สำหรับตัวอย่างการขับเคลื่อนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ 1 ในอุตสาหกรรมใหม่ 5 อุตสาหกรรม เรื่อง ฟู๊ด อินโนโพลิสต์ ก็คือการสร้างเมืองอาหาร เพื่อให้ไทยเป็นครัวโลกอย่างแท้จริง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในที่ผมกล่าวไปแล้ว เปิดให้ดำเนินการไปแล้วในปี 2559 สามารถสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ในฟาร์ม การจัดการหลังเก็บเกี่ยว การพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ การตลาด ทั้งนี้ เพื่อที่จะดึงดูดบริษัทผู้ผลิต หรือวิจัยพัฒนาอาหารชั้นนำของโลกมาลงทุนในกิจกรรมด้านนวัตกรรมอาหารในประเทศไทย ก็ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ แรงจูงใจด้านภาษี ในเรื่องของการนำเข้าเครื่องจักร การพำนักของผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในไทย ไม่ต้องกลัวเขามาแย่งงาน เราเอาเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเข้ามา แรงงานเราก็ต้องเตรียมไว้ด้วย การถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการ เขาก็เป็นการเช่านะครับยังไงก็ยังเป็นของเราอยู่ทั้งหมด

สองเพื่อเป็นการสนับสนุนเอกชนไทยในทุกระดับ ตั้งแต่ Start Up SMEs ไปจนถึงบริษัทไทยขนาดใหญ่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก เพื่อยกระดับความสามารถของ Start Up และ SMEs ตลอดจนสร้างงาน จ้างงาน กำหนดมาตรฐานในเรื่องของความรู้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นและที่สำคัญ เป็นการกระตุ้นการใช้วัตถุดิบด้านการเกษตรในประเทศ เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด ทางด้านการเกษตรในรูปแบบของอาหารและก็แก้ผลผลิตที่ล้นตลาดราคาตกต่ำ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยเพิ่มมูลค่า และการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ อาหารฮาลาล อาหารโคเชอ อาหารสำหรับผู้ป่วยผู้สูงอายุ อาหารและยาบำรุงกำลัง ผักและผลไม้ออแกนิก เป็นต้น

อันนี้คงต้องไปเชื่อมต่อกับแนวทางประชารัฐด้วย เป็นความสำเร็จในขั้นที่ 1 เราจะต้องขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ ผลที่เกิดจากความร่วมมือทางแนวทางของประชารัฐจะทำให้ประชาชนและเกษตรกรไทย ตลอดจนหน่วยงานของรัฐ 9 หน่วยงาน 13 บริษัทเอกชน 12 มหาวิทยาลัย และ 1 สมาคม เจริญเติบโตไปด้วยกัน

จากงานที่ผ่านมาในเรื่องนวัตกรรมคุณภาพสินค้าอาหารไทย มีศักยภาพมาก มีต่างประเทศสนใจมากมาย และก็มาตื่นตะลึงกับความสามารถของประเทศไทยในการผลิตอาหารและการแปรรูป สำหรับการดำเนินการต่าง ๆ นั้น หากมีการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสม เราต้องทำด้วยการบูรณาการกิจกรรมของหน่วยงานและก็ทำตามหลักวิชาการด้วย ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คิดจะทำแล้วก็ทำไม่มีหลักวิชา ไม่มีการมาปรับแก้ประยุกต์ใช้ ย่อมไปไม่ได้หมด ถึงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้สักอย่าง เราต้องมาด้วยกัน ระหว่างคนทำคนคิด คนที่จะบริหารขับเคลื่อน มันต้องหลายส่วนด้วยกัน ไม่อย่างนั้นก็ไปด้วยกันไม่ได้ เราถึงจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลนี้ดำเนินการลักษณะนี้อยู่ทั้งหมดในทุก ๆ โครงการ

ผมมีตัวอย่างเพื่อเป็นอุทาหรณ์ จะเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ และอีกตัวอย่างคือตัวอย่างที่ยังไม่เป็นแนวทางในการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จดังนี้ ตัวอย่างที่ 1 คือ ความสำเร็จในการยุติการถ่ายทอดเชื้อ HIV และ ซิฟิลิส (Syphilis) จากแม่สู่ลูกได้ต่ำกว่าร้อยละ2 ในปี 2559 เป็นประเทศแรกในอาเซียน เป็นประเทศที่ 2 ของโลก ทั้งนี้ จากการประเมินและรับรองขององค์กรอนามัยโลก อันนี้ขอให้ทุกคนภูมิใจ เป็นผลจากการจัดทำยุทธศาสตร์เอดส์ของชาติในการป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ ทั้งผู้หญิง ผู้ชายและเด็ก มีการกำหนดวิธีการ วิธีการที่ 1 ก็คือ การตรวจเลือด ให้รู้สถานการณ์การติดเชื้อ HIV และติดตามผล 2. คือ การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ 3. คือ การเตรียมทุกสถานบริการและบุคคลากรสาธารณสุขให้มีความพร้อมในการให้การบริการทุกระดับและ 4. การฝากครรภ์ให้เร็วตามนโยบายฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ ทั้งนี้ เพื่อการฝากครรภ์จะได้มีคุณภาพ มีการคลอดที่มีคุณภาพ มีระบบการอนามัยแม่และเด็กที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ประเทศชาติก็จะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงสุดตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะต้องไปเชื่อมต่อกับระบบการศึกษาอีก ความสำเร็จดังกล่าวนั้นเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การนานาชาติ และภาคประชาสังคม

ตัวอย่างที่ 2 เรื่องที่ไม่สำเร็จ ไม่สำเร็จคือเรื่องของการดูแลต้นไม้ในเมืองอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะต้นไม้กว่าจะโตต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะโตเป็นต้นใหญ่ได้ มีทั้งเรื่องไม่สำเร็จของการดูแลต้นไม้ในเมือง การปลูกป่าที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการตัดต้นไม้ที่เรียกว่ามองเห็นกันทั่วไป บั่นยอดบ้าง แทนที่เราจะถอนยอดให้มันสูงเกะกะได้อย่างไร ไม่ให้รบกวนระบบสายไฟฟ้า ไม่ใช้ตัดเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย ตลอดจนการที่จะต้องทำลายอุโมงค์ต้นไม่ที่ไปกีดขวาง มีพายุมาก็ทำให้สายไฟขาดไปดับทั้งเมือง อะไรทำนองนี้ ผมว่ามีวิธีการมากมายนะ ระยะยาวถ้าจะแก้ได้ก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางเสียดายต้นไม้ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีการดูแลการตัดต้นไม้ มีการตัดแต่งให้มีศิลปะบ้าง เพื่อจะอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ไว้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผมได้สั่งการให้สร้างระบบการจัดการบริหารต้นไม้ในเมืองเช่นเดียวกับนานาชาติ เขาทำตั้งหลายประเทศแล้ว ทำไมเราไม่เอาความรู้เขามา ตามองค์ความรู้ด้านรุกขกรรม ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าพระนครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด กรมทางหลวง รวมถึงกรมทางหลวงชนบท กระทรวงพลังงานได้เพิ่มตำแหน่งรุกขกร หรือ หมอต้นไม้ มาทำหน้าที่ดังกล่าว นอกจากนั้น ผมขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงานได้มีการบูรณาการในการแก้ปัญหาร่วมกัน ปัญหาไม่สามารถจะแก้ได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ต้องร่วมมือกันในกิจกรรมเดียวกัน ฉะนั้น อาจจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายในเชิงบูรณาการ หรือดูแลในเรื่องของการจัดทำระบบผังเมืองที่เหมาะสม วันนี้เราเวนคืนที่สำหรับทำถนน ทำทางรถไฟ แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการปักเสาไฟฟ้า หรือปลูกต้นไม้อะไรต่าง ๆ ก็ปลูกเข้าไปพื้นที่ก็เล็ก พอโตก็ต้องตัดทิ้ง นั่นแหละปัญหาต้องแก้ตั้งแต่ต้นเหตุว่าจะต้องทำอย่างไร ก็เดือดร้อนไปทั้งหมด ทั้งคนมองเห็น ส่วนใหญ่คนข้างนอกเขาจะมองเห็นความสวยงาม ส่วนคนข้างในก็เดือดร้อนจากไปตัด นี้ล่ะ จะเจอกันตรงไหนได้อย่างไรต้องลงตัว อาจจะต้องมีการจ้างคนตัดแต่งต้นไม้ เขาเรียกว่าตัดแต่งให้สวยงามมีศิลปะ ไม่ใช่จ้างคนมาตัดต้นไม้ไม่ใช่จ้างใครก็ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีคนที่เรียกว่า รุกขกร จะทำอย่างไร จะทำให้เป็นศิลปะตรงไหน มีช่องให้สายไฟลอดได้ยังไง ผมไปต่างประเทศเห็นเขาทำ รถนี้วิ่งเรียบต้นไม้ กิ่งต้นไม้ที่ยืนออกมา รถบัสติดกันเกือบชิดแต่ไม่โดน ของเราตัดเกลี้ยงนั่นแหละคือปัญหาของเรา ความละเอียดอ่อน ความมีศิลปะ หรือความเอาใจใส่ในการสั่งงานของผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบผมถือว่าท่านต้องรับผิดชอบ ต่อไปนี้ถ้าผมเห็นที่ไหนก็คงจะต้องมีการสอบสวนกัน

การปลูกป่าที่ผ่านมาดูแล้วเหมือนสำเร็จ แต่บางพื้นที่ไม่สำเร็จ เพราะว่าอะไร เพราะว่าทุกคนก็ไม่เข้าใจการปลูกต้นไม้ ทุกคนก็อยากจะปลูก อยากจะช่วย อยากจะทำ ก็หาทางกรมป่าไม้ หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็หาพันธุ์ไม้มาให้ แต่ถึงเวลาแล้วต้องเอาหลักการมาดูว่า ถ้าเราปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ ไม่มีคนดูแล ไม่มีฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชื้นและพันธุ์ไม้ที่เอาไปปลูกก็อยู่กลางแดด ต้นก็เล็กอยู่กลางแดด ไม่มีน้ำต่อไป วันแรกมีคนรด วันที่ 2 ที่ 3 ไม่มีน้ำ ก็แห้งตายเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ต้องทบทวนใหม่ ต้นไม้จะต้องโตไม่น้อยกว่า 2 เมตร ซึ่งนี้คือพันธุ์ไม้ที่เอาไปปลูก มันถึงจะอยู่ได้แต่ต้องไปปลูกในต้นฤดูฝนและฝนก็ช่วยดูแล เพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดก็เป็นการปลูกในพื้นที่ป่าเศรษฐกิจบ้าง ป่าชุมชนบ้าง ป่าต้นน้ำที่มีน้ำมีเจ้าหน้าที่ดูแล หรือใกล้หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเหล่านั้นให้ช่วยดูแล ปลูกน้อยแล้วโต ดีกว่าปลูกมากแล้วตาย จำคำพูดผมไว้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาต่าง ๆ มากมายในเชิงโครงสร้าง กับดักใหญ่ ๆ ของประเทศมี 3 เรื่อง ได้แก่ กระบวนการทางกฎหมาย ระบบราชการและการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ไขทั้งหมด มีการดำเนินการที่คืบหน้าไปมากก็เป็นแต่เพียงการวางรากฐาน เอาที่ผ่านมา เอาปัญหามา คลี่ออกมา ปัญหาใหญ่ ปัญหากลาง ปัญหาเล็ก เอามาดูว่าจะทำอะไรได้บ้างในระยะที่ 1 ในด้านกฎหมายนั้นช่วง 7 ปีที่ผ่านมา อาจจะต้องกล่าวอ้างกลับไปว่า ตั้งแต่ปี 2551 - 2557 ได้มีการผลักดันกฎหมายเป็นไปด้วยความล่าช้าด้วยเหตุผลประการใดก็แล้วแต่ ทำได้เพียง 120 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2551 - 2557 กฎหมายสำคัญที่จำเป็น เช่น กฎหมายตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ กฎหมายจัดระเบียบสังคม ไม่สามารถออกได้เลย เพราะมีความขัดแย้งสูง การเมืองก็มีปัญหาอาจจะมีการไร้เสถียรภาพ หรือการทับซ้อนอะไรก็แล้วแต่ ทำให้ทำไม่ได้ ได้ก็น้อยเกินไป

ในขณะที่รัฐบาลนี้ได้เข้ามาดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา 2 ปี ถึงปัจจุบัน สามารถเร่งรัดการออกกฎหมายที่จำเป็น ได้ 172 ฉบับ โดยเราไม่สนใจเรื่องของการบริหารเพื่อหวังผลทางการเมืองเน้นในเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ของส่วนรวมเป็นสำคัญและก็ไม่แทรกแซงฝ่ายตุลาการเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

กฎหมาย “คุณภาพ” ที่หลายฝ่าย ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งหน้าตั้งตารอ เพราะจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศและความเชื่อมั่นของเราด้วย แล้วในสายตานักธุรกิจและชาวโลก อาทิ กฎหมายเศรษฐกิจ มี พ.ร.บ. จำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์การเอาผิดการลอบถ่ายวิดีโอในโรงภาพยนตร์ พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ร.บ. ความลับทางการค้า พ.ร.บ. ล้มละลาย

กฎหมายตามพันธะระหว่างประเทศ ก็มี พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ตามสนธิสัญญาไซเตส พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนการก่อการร้าย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ร.บ. ความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ และการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย รวมทั้งการแก้ปัญหา กฎหมายเรื่อง ICAO เรื่อง พ.ร.ก. ประมง ตามข้อตกลง IUU และ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า ตามพิธีสารมาดริดนะครับ

กฎหมายในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ที่เราต้องลดลงให้ได้ก็คือที่ประชาชนคาดหวัง รอคอย เช่น ภาษี เราทำในเรื่องของภาษีการรับมรดกนะครับ พ.ร.บ. การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ร.บ. ประกันชีวิต

สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการ มนุษยธรรมและแก้ปัญหาสังคม ก็ได้แก่ พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ร.บ. หอพัก พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ร.บ. ความผิด เกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ร.บ. สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ

เกี่ยวกับกฎหมายรักษาความสงบเรียบร้อย อาทิเช่น พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เหล่านี้เป็นต้นนะครับ

สำหรับการปรับปรุงกฎหมาย ในระยะต่อไป 2559 - 2560 เราจะเร่งดำเนินการในกลุ่มที่ 1 คือ กฎหมายในเชิงปฏิรูปตามนโยบายรัฐบาล อาทิ เช่น ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ร.บ. บรรษัทวิสาหกิจ พ.ร.บ. วิสาหกิจชุมชน พ.ร.บ. กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

กลุ่มที่ 2 คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่ากฎหมายลูก ก็ต้องไปตามหลายอย่าง กฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกาต่าง ๆ ต้องสอดคล้องกันหมด ประกอบรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลัก ต้องมีกฎหมายในเชิงบังคับใช้ข้างล่างด้วย วิธีการของเจ้าหน้าที่ แล้วก็ประชาชนจะร่วมมือกันได้อย่างไร กำลังเร่งทำอยู่

กลุ่มที่ 3 คือ กฎหมายเชิงปฏิรูปที่ต้องออกตามร่างรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องของการปฏิรูปตำรวจ การศึกษา และกฎหมายอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ต้องออกภายในเวลาที่กำหนด เช่น กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ 120 วัน กฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ 120 วัน กฎหมายสิ่งแวดล้อม 240 วัน กฎหมายวินัยการคลัง 240 วัน เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 คือ การแก้ปัญหาในระบบราชการ ที่ผ่านมา อาจจะมีกฎหมายทับซ้อนกันมากเกินไป บางอย่างก็ทันสมัย ไม่ทันสมัยบ้าง อาจจะไม่เคยมีการตรวจสอบตามความจำเป็นเลยนะครับ ตามระยะเวลาที่ผ่านมาแล้วก็มีผลที่ทำให้หลายอย่างล่าช้า บางกฎหมายซ้ำซ้อนกัน บางครั้งก็ไม่มีผู้รับผิดชอบ เพราะหลายกระทรวงทำด้วยกันไง งบประมาณต่างคนต่างทำ รัฐบาลนี้ได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้ทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมาย ทุก 5 ปี พร้อมทั้งการจะออกกฎหมายได้นั้น ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ การตรวจสอบร่างกฎหมาย checklist 10 ข้อ เช่น แนวทางการทำกฎหมายลูก การบูรณาการกิจกรรมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในเรื่องที่ 2 ในการติดต่อราชการที่ผ่านมา ใช้เวลามาก ขั้นตอนยุ่งยากและยุ่งเหยิง ต้องมีการเตรียมการ ถามหาเอกสารหลายฉบับ รัฐบาลนี้ก็เพิ่มศักยภาพการให้บริการภาครัฐ โดยการนำเทคโนโลยีระบบ e-Government มาใช้ เราต้องใช้ระบบ IT ให้เกิดประโยชน์สูงสุด วันนี้มีการปรับปรุงในส่วนของกระทรวง ICT ด้วย เราได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม (OSS) ให้ทั่วถึง และออก พ.ร.บ. อำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เพื่อให้การบริการประชาชน มีความชัดเจน โปร่งใส และรวดเร็ว ป้องกันการเรียกรับเงิน การทุจริตของเจ้าหน้าที่

เรื่องที่ 3 กลไกราชการที่มีช่องว่างให้เกิดการทุจริต รัฐบาลนี้ได้แก้กฎหมาย ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. ให้เป็นอิสระจากการเมือง เพิ่มอำนาจตรวจสอบ เพิ่มบทบาทให้ศูนย์ต่อต้านการทุจริต ประจำกระทรวงออก พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้ระบบ e-Bidding

เรื่องที่ 4 ได้มีการปรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งให้ข้าราชการทุกประเภท มี 5 ประเภท บางระดับก็ไม่ได้รับการปรับให้เท่าเทียมกัน ก็แก้ไขเพียงเท่านั้น เพราะข้าราชการต้องเสียภาษีทั้งหมดทุกคน ก็ต้องดูแลเขา แล้วเงินนั้นก็กลับมาเป็นค่าใช้จ่ายในประเทศทั้งสิ้น

เรื่องที่ 5 มีช่องทางศูนย์ดำรงธรรมอีกด้วย เพื่อให้ให้ประชาชนได้ร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากรัฐได้ บางอย่างแก้ได้เร็วมาก หลายแสนเรื่องแก้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ปีที่ผ่านมา ได้ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์

การแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย รัฐบาลนี้ได้นำเอาคดีสำคัญของประเทศเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลเท่านั้นนะครับ เช่น คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีจำนำข้าว คดีคลองด่าน คดีฟิลลิป มอร์ริส นะครับ เป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องของการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้นเอง เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับขบวนการภายใน

การแก้ปัญหาการดำเนินคดีในศาลในคดีที่สำคัญ เช่น กรณีใช้วิธีพิจารณาล่าช้า เช่นคดีค้ามนุษย์ คดียาเสพติด ผมให้มีการเปิดแผนกคดีค้ามนุษย์ ยาเสพติด ขึ้นในศาลชั้นต้น กรณีศาลถูกแทรกแซงโดยผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ให้สามารถโอนคดีไปพิจารณานอกพื้นที่ได้ หากมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่สะดวก ให้มีการออก พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม ให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยด้วย ที่ต้องตกไปเป็นผู้ต้องหาหรืออะไรก็แล้วแต่ ทั้งนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเท่าเทียม ความยุติธรรม และความสงบสุขในสังคมไทยในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่องด้วยกันที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลนี้ก็จะได้วางรากฐานไว้ให้ตาม Road map ระยะที่ 1 จน ถึงปี 2560 ที่เหลือก็จะบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการประเมินทุก 1- 5 ปี 4 ช่วง คือ 4 แผน รวม 20 ปี

ทั้งหมดจะสำเร็จได้ด้วยการริเริ่ม เอาใจใส่กวดขัน ของรัฐบาลร่วมกับ ข้าราชการที่มีหน้าที่ ขอความร่วมมือจากประชาชนไปด้วยพร้อม ๆ กัน 3 อย่างนี่ทำด้วยกันได้หมด งานทุกงาน อย่าไปคิดว่า ฝ่ายบริหารต้องไม่คิดว่า เรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของข้าราชการ เพราะฉะนั้น ถ้าบกพร่องขึ้นมาข้าราชการก็บกพร่อง ฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด ต้องสั่ง ต้องจี้ ต้องตาม ไม่รู้เรื่องไม่ได้ ต้องเห็นใจข้าราชการเขาบ้าง แล้วมีหลายคน ที่ผ่านมา มีนักการเมืองออกมาพูดว่า สิ่งที่บกพร่องวันนี้เป็นงานธุรการ ที่ข้าราชการต้องทำอยู่แล้ว ถ้าผิดพลาดอะไร ก็เป็นเรื่องของข้าราชการ เขาไม่รับผิดชอบ ผมคิดว่าท่านคงได้ยิน ไปหาดูว่าใครพูด

ความสำเร็จทั้งปวงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราทุกคน ทุกฝ่าย ไม่ร่วมมือกัน ไม่จริงใจต่อกัน และไม่มองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ในการที่จะนำพาประเทศชาติและประชาชน ทุกหมู่เหล่า ภายใต้ “สีไตรรงค์” เหมือนกัน ไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และขับเคลื่อนด้วยกลไก ประชารัฐ ในทุกกิจกรรมด้วยกัน ขอบคุณครับ สวัสดีครับ ขอให้มีความสุข วันหยุดสุดสัปดาห์ครับ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น