ประชุม สนช.ลงมติชี้ขาดร่าง พ.ร.บ.นิติวิทย์ หลังหาข้อสรุปไม่ได้ปมแก้ ม.5 พิสูจน์คดีอาญาต้องผ่าน คกก. ห่วงลดสิทธิ ปชช. “กล้านรงค์” ติงทำลายกระบวนการยุติธรรม “บุญเรือง” แขวะมีคนพยายามสร้างภาพการตรวจสอบมีแต่ ตร.-สถาบันนิติวิทย์ ชี้มีหลายหน่วยทำได้ ย้ำให้ชาติเดินหน้าด้วยความบริสุทธิ์เป็นธรรมทุกฝ่าย ก่อนมีมติเห็นชอบแก้ไข และผ่านประกาศใช้เป็น กม.
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ เลื่อนมาจากเมื่อวาน (9 มิ.ย.) เนื่องจากสมาชิก สนช.อภิปรายท้วงติงมากในมาตรา 5 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เสียงข้างมากได้แก้ไขเนื้อหา โดยกำหนดให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ในกรณีที่เป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญาต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งสมาชิก สนช.ไม่พอใจต่อการแก้ไขดังกล่าวจะเป็นการทำให้การได้รับสิทธิของประชาชนในการขอพิสูจน์ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ต้องขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการฯ เพียงฝ่ายเดียว จากเดิมที่ไม่เคยมีการกำหนดกระบวนการในการเข้าถึงสิทธิดังกล่าวเอาไว้ จนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ต้องสั่งเลื่อนมาพิจารณาอีกครั้งในวันนี้
อย่างไรก็ตาม นายพรเพชรได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ทำให้ที่ประชุมต้องตัดสินด้วยการลงมติชี้ขาด
นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช.อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. มีการบัญญัติหมวดปฏิรูปประเทศ โดยหนึ่งในนั้นกำหนดไว้ในมาตรา 258 ด้านกระบวนการยุติธรรมว่าต้องปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม รวมทั้งการสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยที่มีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างมีทางเลือกซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ
“ขอถามว่าการแก้ไขมาตรา 5 แบบนั้นตอบโจทย์ตามร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างไร การสอบสวนคดีที่ล้าช้านั้นจะไม่เป็นการให้ความยุติธรรม แต่ถ้าการสอบสวนที่รวดเร็ว บกพร่อง หละหลวมนั่นคือการทำลายระบบกระบวนการยุติธรรม” นายกล้านรงค์กล่าว
พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ สมาชิก สนช.ในฐานประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า การดำเนินการด้านนิติวิทยาศาสตร์นั้นโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศเข้ามารับผิดชอบร่วมกันด้วย แต่ตอนนี้มีคนพยายามสร้างภาพว่าการตรวจสอบด้านนิติวิทยาศาสตร์มีเฉพาะตำรวจ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งส่วนตัวไม่เข้าใจว่าจะสร้างภาพอย่างนั้นไปทำไม
“การตรวจพิสูจน์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ หน่วยราชการทุกแห่งที่มีความสามารถทำได้หมด การดำเนินการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมด คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาและฟังความรอบด้าน และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามาร่วมออกความเห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สภาทนายความ เป็นต้น ก่อนที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะมีมติออกมา เราต้องการให้ประเทศนี้เดินหน้าไปด้วยความบริสุทธิ์และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย” พล.ต.ท.บุญเรืองกล่าว
จากนั้นที่ประชุม สนช.มีมติเสียงข้างมาก 112 ต่อ 37 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง เห็นชอบการแก้ไขของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในมาตรา 5 คน และมีมติเอกฉันท์ 148 คะแนน เห็นชอบวาระ 3 และประกาศใช้เป็นกฎหมาย ต่อไป