ผู้จัดการรายวัน 360 - เอไอเอสชี้แจงกรณีผู้ว่าฯ สตง.ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนเรื่องการส่งมอบเครื่องมือ-อุปกรณ์ เสาสัญญาณคืนทีโอที เผยยังต้องใช้งานเพื่อให้บริการลูกค้าที่คงเหลือตามประกาศ กสทช.อยู่ ส่วนข้อพิพาทอื่นนั้นกำลังอยู่ในกระบวนการของอนุญาโตตุลาการเหมือนผู้ประกอบการรายอื่นๆ
จากกรณีที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน หน้า 10 ฉบับวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ได้นำเสนอข่าวในประเด็น “ทวง 1.2 แสนล้านจากเอไอเอสไม่คืบ เหตุเจ้าหน้าที่ทีโอทีเข้าพื้นที่ไม่ได้” โดยในเนื้อหาการนำเสนอข่าวได้มีการระบุการให้ข้อมูลของนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เข้าชี้แจงต่ออนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามทุจริตในคณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สปท. ว่าเอไอเอสไม่ได้มอบกุญแจ และไม่ให้เจ้าหน้าที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าไปยังสถานีเสาฐานเพื่อควบคุมการทำงานของสถานีเสาฐานที่อยู่ภายในทั้งหมดซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐทำให้บริษัท ทีโอที เสียโอกาสในการบริหารจัดการเสาฐานตามสิทธิสัมปทานที่หมดไป ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 58 โดย สตง.ได้ย้ำให้ทีโอทีเร่งดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อนำทรัพย์สินของรัฐกลับมาเป็นของรัฐโดยด่วนนั้น
นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ชี้แจงว่า การนำเสนอข่าวดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทฯ ดังนั้น บริษัทจึงขอเรียนชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการชี้แจงรายละเอียดข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการส่งมอบเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ให้แก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที พร้อมทั้งให้ทีโอทีเข้ามาตรวจสอบทรัพย์ที่เป็นโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ ตลอดจนการครอบครองให้แก่ทีโอที แล้วตั้งแต่สัญญาอนุญาตฯ ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2558
แต่การที่เอไอเอสยังมีการใช้งานอยู่นั้น เป็นการใช้เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่ยังคงเหลืออยู่ตามประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ อันเป็นหน้าที่ที่ต้องดำเนินการร่วมกันกับทีโอทีตามกฎหมาย ซึ่งจะยุติลงในเร็ววันนี้
สำหรับในส่วนของเสาสัญญาณนั้น เอไอเอสได้ดำเนินการส่งมอบเสาสัญญาณให้กับทีโอทีมาโดยตลอด ในขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นยังไม่ได้ดำเนินการส่งมอบ จึงทำให้เอไอเอสขอยุติการส่งมอบเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม ในขณะนี้ข้อพิพาทดังกล่าวได้นำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ และระหว่างนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทีโอทีและเอไอเอสร่วมกัน จึงได้เสนอทางออกด้วยแนวทางที่จะยุติข้อพิพาทในกรณีดังกล่าว โดยเสนอให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมค้า (Joint Venture Company) กับทีโอที เพื่อประกอบธุรกิจบริการเสาโทรคมนาคมร่วมกัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจาร่วมกัน
“ทั้งนี้ เอไอเอสเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปฏิบัติตามกฎกติกาเสมอมาด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้”