ทีโอทีเซ็นเอ็มโอยูเอไอเอส ส่วนสัญญาพันธมิตร 3G ความถี่ 2100 MHz ตัวจริง ร้องเพลงรอต่อไป บอร์ดส่ายหน้ายังไม่รู้ว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ ต้องรอสัญญาเสร็จส่งให้อัยการ สคร. กสทช. ก่อนถึงจะรู้
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. บอร์ดมีมติให้ทีโอทีลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจคลื่น 2100 MHz กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส โดยเอ็มโอยูดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการทำรายละเอียดของสัญญาตัวจริงเท่านั้น เอไอเอสยังไม่สามารถนำคลื่นไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ หรือแม้กระทั่งการทดสอบใดๆ ก็ตามจนกว่าจะมีการเซ็นสัญญาตัวจริงก่อน ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะเซ็นสัญญาเสร็จ ทั้งนี้ กระบวนการที่ผ่านมาเป็นเพียงนำร่างเอ็มโอยูไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบเท่านั้น เมื่อสัญญาจริงเสร็จก็ต้องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบอีกครั้ง จากนั้นส่งต่อไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
ส่วนประเด็นที่ว่า สัญญาดังกล่าวจะเข้าข่าย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านบอร์ดยังไม่เห็นหนังสือจาก สคร.ว่าเข้าข่ายหรือไม่ คงต้องรอให้ สคร.ตอบมาอย่างเป็นทางการก่อน เนื่องจากเข้าใจว่าสิ่งที่ สคร.เคยให้ความเห็นนั้นเป็นการพูดถึงกรณีของการทำสัญญาของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ว่าไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
“โดยส่วนตัวผมคิดว่าต้องนำสัญญาให้ กสทช.พิจารณาด้วย ดังนั้น จึงไม่อาจบอกได้ว่าสัญญาจะเสร็จเมื่อไหร่ แต่เราจะพยายามทำให้เร็วที่สุด ยอมรับว่าก็เสียดายที่เรื่องมันยังไม่เสร็จ เงินยังไม่เข้าทีโอที แต่เราต้องมีกระบวนการทำงานที่ทำตามขั้นตอน และกฎหมายเพื่อความรอบคอบ และถูกต้อง เอกชนอาจจะมองว่าทีโอทีช้า แต่ขอยืนยันว่า ทีโอทีต้องทำตามขั้นตอน และตรวจสอบกฎระเบียบให้ถูกต้อง”
หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ นายมนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ในขณะนั้น เคยให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2558 ที่มีมติเลือกเอไอเอส เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 3G คลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยคาดว่า ภายใน 1 เดือน จะร่างสัญญาเสร็จ จากนั้นต้องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดดู เพื่อส่งคณะกรรมการทีโอที พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญากับเอไอเอสได้ภายในสิ้นปี 2558 นั้น แต่สุดท้ายกระบวนการก็ไม่เดินหน้า
แม้ว่าเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2559 นายมนต์ชัย ได้ประกาศว่า ปัจจัยที่ทำให้ทีโอทีพลิกฟื้นมีกำไรขึ้นมาได้ คือ การได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับเอไอเอสได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้สุทธิให้ทีโอทีกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ใน 5 ปีแรกจากอายุสัญญา 10 ปี ที่คาดว่าจะได้รับรายได้ตลอดอายุสัญญาจำนวนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยในวันที่ 3 ก.พ.2559 จะมีการพิจารณาร่างสัญญาของคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องสัญญาของทีโอที หลังจากนั้น จึงส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป แต่จนแล้วจนรอดกระบวนการที่กล่าวมากลับเป็นเพียงแค่เอ็มโอยูเท่านั้น และเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 29 มี.ค. เอไอเอสได้ไปเซ็นเอ็มโอยูกับทีโอทีแล้ว