xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กกุ้ย” ดึงเกมยื้อซื้อเวลา ตระบัดสัตย์เพื่อใคร??

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ



บังเอิญว่า สถานการณ์ในประเทศมีเรื่องร้อนๆ หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณี “ธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หรือเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ประเด็นที่ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) “ตระบัดสัตย์” เลยไม่ค่อยได้รับความสนใจ

หลังเลยเดดไลน์ ที่เจ้าตัวประกาศลั่นว่า จะต้องพิจารณาคำร้องของถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ของ “ชายจืด” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ “บิ๊กเบื๊อก” พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ยื่นเอาไว้ให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้

แต่ปรากฏว่า ปมร้อนๆ เจอต้อง “โรคเลื่อน” เล่นงานเข้าให้ หลังคณะทำงานเพื่อพิจารณาคำร้องที่มี “สรรเสริญ พลเจียก” เป็นหัวหน้าคณะ ไม่สามารถนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ในวันสุดท้ายของเดือนที่ผ่านมา ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์ “สรรเสริญ” แสดงความมั่นใจว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดจะสามารถนำเสนอได้ตามเดดไลน์ของ “บิ๊กกุ้ย”

โดย “สรรเสริญ” ระบุว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เพราะมีคณะทำงานฯ บางคนติดใจเนื้อหาในรายงานสรุป จึงอยากจะให้มีการประชุมกันอีกครั้งเพื่อความรอบคอบ

การเลื่อนเพื่อความรอบคอบนั้นสามารถกระทำได้ และเป็นผลดีอย่างมากสำหรับเรื่องสำคัญๆ ลักษณะนี้ ทว่าเรื่องนี้มันมีความแปลกประหลาดบางอย่างที่น่าสนใจ เพราะหากจำกันได้ “สรรเสริญ” ในฐานะหัวหน้าทีม แสดงความมั่นใจมาตลอดว่า สามารถพิจารณาได้ทันตามกำหนดของ “บิ๊กกุ้ย” เพราะไม่ใช่เรื่องที่สลับซับซ้อนอะไร

อีกทั้งตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมา “สรรเสริญ” เป็นคนออกมาเปิดเผยเองว่า ได้สรุปผลการพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงให้คณะทำงานฯแต่ละคนลงนามในวันที่ 24 พฤษภาคม และจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ในวันที่ 26 พฤษภาคม

แต่ปรากฏว่า ในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม “สรรเสริญ” แจ้งว่า รายงานเพิ่งเสร็จในช่วงเช้าวันเดียวกัน ซึ่งโดยปกติคณะทำงานฯ จะต้องส่งรายงานดังกล่าวให้กรรมการป.ป.ช. แต่ละคนอ่านล่วงหน้าก่อน 3 วัน จึงไม่สามารถเข้าในวันดังกล่าวได้ แต่ไม่มีปัญหา เพราะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ครั้งต่อไปได้ นั่นคือ วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่ “บิ๊กกุ้ย” ขีดเส้นไว้

แต่ช่วงเช้าวันที่ 31 พฤษภาคม กลับเริ่มมีสัญญาณตุๆ ออกมา เมื่อ “บิ๊กกุ้ย” ออกมาระบุว่า คณะทำงานฯ ยังไม่ได้เสนอเรื่องมา นั่นทำให้เดดไลน์ที่ตัวเองกำหนดเองเป็นอันโมฆะ ท่ามกลางการค่อนแคะว่า “ผิดคำพูด” ในขณะที่ “สรรเสริญ” ชี้แจงว่า เป็นเพราะคณะทำงานฯบางคนทักท้วง อยากจะให้ประชุมอีกสักรอบ ค่อยเสนอที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อความรอบคอบ

“สรรเสริญ” อธิบายว่า ตอนแรกที่มั่นใจว่า เข้าวันที่ 31 พฤษภาคม ทันแน่ เป็นเพราะเขาดูรายงานว่ามีความเรียบร้อยดีหมดแล้ว แต่มีคณะทำงานฯบางคนท้วงติงรายงาน

จุดที่น่าสนใจของความไม่ชอบมาพากลนี้คือ คณะทำงานฯคนนั้นเป็นใคร เหตุใดจึงเพิ่งมาท้วงติง ทั้งที่รายงานฉบับดังกล่าวเสร็จก่อนถึงเดดไลน์เป็นครึ่งเดือน มีความเห็นกันออกมาแล้วอย่างพร้อมเพรียง เหตุใดก่อนหน้านี้จึงไม่ทักท้วง แต่มาทำเอาในวันที่จะเสนอ ซึ่งมันเป็นเรื่องผิดปกติ

สำหรับคณะทำงานฯชุดนี้ มีด้วยกัน 14 - 15 คน มี “สรรเสริญ” เป็นหัวหน้าทีม มีผู้บริหารระดับสูงของป.ป.ช.ในสำนักที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นฝ่ายประจำ และที่ปรึกษาด้านคดีของกรรมการป.ป.ช. 9 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ที่เป็นคนสนิทของกรรมการแต่ละคน

ว่ากันว่า สำหรับฝ่ายประจำซึ่งคลุกคลีคดีนี้มาตั้งแต่สมัย “วิชา มหาคุณ” เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ ต่างยืนยันว่า ไม่ควรถอนฟ้อง เพราะหลักฐานที่ 3 จำเลยอ้างว่าใหม่นั้นแท้จริงแล้วเป็นข้อมูลเก่า เรื่องนี้ควรให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป และความเห็นดังกล่าวเป็นมติของคณะทำงานฯ

คณะทำงานฯในฝ่ายประจำบางคนเล่าว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่สลับซับซ้อนอะไร สามารถวินิจฉัยได้ในเวลารวดเร็ว เพียง 2 ครั้งก็เสร็จแล้ว

นอกจากนี้ การทักท้วงของคณะทำงานฯบางคนที่อยากให้ประชุมอีกสักรอบ ยังทำให้ฝ่ายประจำถึงกับออกอาการเซ็ง เพราะเหตุผลที่อยากให้ประชุมเนื่องจากอ้างว่า ถ้อยคำและความเห็นที่ตัวเองเคยเสนอตกหล่นไป ไม่มีในรายงาน จึงกลัวว่าจะไม่ครบถ้วน อยากให้คุยกันพร้อมหน้าอีกหน ไม่ใช้วิธีเวียนมติที่อาจผิดพลาดได้

ทั้งๆ ที่เวลาประชุมคณะทำงานฯ มีเรื่องเมาธ์มอยกันว่า บางคนก็เข้าๆ ออกๆ ที่ประชุม หรือไม่ก็เข้าบ้าง ไม่เข้าบ้าง พอเขามีสรุปกันออกมา อ่านแล้วไม่เจอว่า มีความเห็นหรือถ้อยคำตัวเองก็มาท้วงติง แต่ตอนนั้นกลับไม่ทำอะไร

แต่ปัญหาคือ เรื่องนี้เป็นเพียงแค่ข้อขัดข้องเรื่องถ้อยคำจริงหรือ เพื่อความรอบคอบจริงหรือ เพราะมันดูจะกระจุกกระจิกเกินไป ยิ่งหากไม่เป็นสาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงมติได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่มันเป็นเพราะสัญญาณจากใครบางคนหรือไม่ที่ให้ชะลอไว้ก่อน

เพราะก่อนหน้านี้เองก็มีข่าวหลุดรอดออกมาแล้วว่า คณะทำงานฯมีมติไม่ควรถอนฟ้อง แต่จู่ๆ มาเจอ “โรคเลื่อน” เป็นเพราะคำตอบที่ได้จากคณะทำงานฯไม่เป็นที่พอใจของใครบางคนหรือไม่ เพราะถ้ามติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. อาจเป็นการโยนความกดดันไปให้คณะกรรมการป.ป.ช.แทน

การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของคณะกรรมการป.ป.ช.เสี่ยงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หากผลออกมาไม่เป็นไปตามที่คณะทำงานฯเสนอ แต่อีกทางหนึ่งหากคณะกรรมการป.ป.ช.เห็นพ้องต้องกันกับมติคณะทำงานฯที่เห็นว่าไม่ควรถอนฟ้อง อาจเป็นการปิดโอกาสของใครบางคนที่ต้องการจะดิ้นจากคดีนี้เช่นกัน

อย่าลืมว่า หากป.ป.ช.ถอนฟ้องต่อศาลฎีกาฯในคดีนี้ จำเลยทั้งหมดจะอยู่รอดปลอดภัยทั้งที่ความจริงตัวเองอาจเป็นผู้กระทำความผิดก็ได้ แต่มีการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมให้ แต่หากเลือกตามมติคณะทำงานฯโดยไม่ถอนฟ้อง ปล่อยให้คดีเดินต่อ จะเป็นการปิดโอกาสดิ้นในช่องที่ตัวเองพอจะจุ้นจ้านได้ทันที เหลือแต่การต่อสู้ในศาลที่ตัวเองหมดสิทธิ์จะเข้าไปแทรกแซง
 
การเป็น “โรคเลื่อน” จึงเหมือนเป็นการดูทิศทางลมจากภายนอกเพื่อวางยุทธศาสตร์กันใหม่ว่า จะเอาอย่างไร อย่างน้อยก็ยังหาข้ออ้างได้สารพัด

 แต่สุดท้ายมันก็จะเป็นเพียงแค่การดันทุรังเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น อย่างไรป.ป.ช.ก็ต้องบ้วนคำตอบออกมาให้สังคมอยู่ดี ยิ่งเมื่อวันนี้รายงานมันสมบูรณ์แล้ว ยิ่งเลื่อนก็ยิ่งสร้างข้อครหาให้ตัวเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น