xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายละเอียดทนาย พธม. - ครป.ค้าน ป.ป.ช.ถอนฟ้อง 7 ตุลาฯ ชี้ “วัชรพล” มีส่วนได้เสียชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดหนังสือ 2 ฉบับค้าน ป.ป.ช. ถอนฟ้องคดี 7 ตุลาฯ จากศาลฎีกาฯ “นิติธร” ยันทำไม่ได้ กฎหมายลูกระบุไว้ชัด แถม “วัชรพล” เคยนั่งโฆษก สตช.ช่วงเกิดเหตุ มีส่วนได้เสียชัด ต้องห้ามการวินิจฉัย ชี้ หากทำจริงเท่ากับยุติคดีโดยไม่มีการพิสูจน์ความจริงว่าทำผิดหรือไม่ ซัดเพิ่งนั่งเก้าอี้แค่ 4 เดือน กลับเร่งรีบทำ โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบก่อน ห่วงทำลายหลักยุติธรรม ด้านเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย จี้ดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลที่ถูกชี้มูลจนถึงที่สุด

MGR Online - เปิดรายละเอียดหนังสือคัดค้านการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ภายหลังที่ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อเช้าวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยในส่วนหนังสือของ นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความพันธมิตรฯ ได้ระบุรายละเอียดในหัวข้อขอให้ปฏิบัติตามกฏหมาย โดยขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยุติการดำเนินการใดๆ อันเป็นการริเริ่มและมีผลเป็นการถอนฟ้องคดีดังกล่าว ทั้งขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และคำนึงถึงความสูญเสียของพี่น้องประชาชนที่เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

โดยมีเหตุผลดังนี้ 1. เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ และมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จะดำเนินการใดหรือใช้อำนาจใดจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้นจะตีความว่ากรณีใดที่กฎหมายไม่ห้ามไว้ ให้ถือว่ากระทำได้มิได้ แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีหรือดำเนินการใดตามกฎหมาย แต่ก็มิได้หมายความว่า จะใช้ดุลพินิจได้ โดยไร้ขอบเขตการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลและอยู่ภายใต้ขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมายที่ประชาชนโดยทั่วไปยอมรับได้ มิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ

2. เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554) มาตรา 86 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับ หรือยกคำกล่าวหาตามมาตรา 84 ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา (1) เรื่องที่มีข้อกล่าวหา หรือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว และไม่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งคดี หรือ (2) เรื่องที่เป็นคดีอาญาในประเด็นเดียวกัน และศาลประทับฟ้อง หรือพิพากษา หรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่คดีนั้นได้มีการถอนฟ้อง หรือทิ้งฟ้อง หรือเป็นกรณีที่ศาลยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดี คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะรับหรือยกคำกล่าวหานั้นขึ้นพิจารณาก็ได้”

จากถ้อยคำในบทบัญญัติมาตรา 86 ดังกล่าวนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาแล้วไม่ว่าในกรณีใดๆ โดยถือว่าเป็นหลักกฎหมายเฉพาะในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และอดีตประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ต.ค. 2551 กล่าวว่า คดีใดที่ ป.ป.ช.ได้ทำการฟ้องร้องต่อศาล และศาลมีคำสั่งรับและดำเนินการพิจารณาไปแล้ว ย่อมไม่สามารถหยิบยกข้ออ้างมาขอถอนฟ้องได้ เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดอำนาจดังกล่าวเอาไว้ ทั้งนี้ มาตรา 86 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า เรื่องที่ศาลรับฟ้อง ในประเด็นเดียวกันและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หรือที่ศาลพิพากษา หรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานั้น ดังนั้น ในเมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุข้อยกเว้นให้สามารถทำได้ จึงต้องตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด

อีกทั้ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.เคยดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงเวลาที่มีการสั่งให้สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อม ต้องห้ามมิให้เข้าร่วมในการวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558) การหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาและดำเนินการถอนฟ้อง ทั้งๆ ที่คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดให้ฟ้องคดีแล้ว และปัจจุบันศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เริ่มทำการไต่สวนพยานโจทก์ไปแล้ว จึงเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปเกิดความระแวงสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือและตอบแทนบุญคุณบุคคลใดหรือไม่ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางหรือไม่ ประกอบกับในเรื่องดังกล่าวนี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้มีความเห็นว่า ไม่สมควรถอนฟ้องโดยให้เหตุผลว่า เหตุผลที่จำเลยร้องขอความเป็นธรรมสามารถนำไปยื่นให้ต่อศาลฎีกาฯ ไต่สวนเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว อีกทั้งหากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีดังกล่าวอาจเข้าข่ายกระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่และถูกฟ้องร้องเสียเอง

3. คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจใดตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีได้ ดังเช่นอำนาจการถอนฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติให้อำนาจไว้โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ความว่า “พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม วรรคสอง ถ้าพนักงานอัยการ เห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และ อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ.วรรคสาม ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่พนักงานอัยการ ไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม” เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558) ซึ่งเป็นบทกฎหมายเฉพาะและมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชน ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการถอนฟ้องคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องต่อศาลได้ เหมือนดังเช่นอำนาจของพนักงานอัยการที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 การขอถอนฟ้องคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงเป็นการกระทำนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ และในกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะนำหลักการถอนฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นบทกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับก็ไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์อันแท้จริงของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558)

4. ในฐานะผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 250 คน ได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 โดยสรุปใจความสำคัญของคำพิพากษาได้ว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพ ในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทั้งพยานบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและจากฝ่ายที่มิได้เกี่ยวข้อง กับการชุมนุมตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามรายงานการตรวจสอบที่ 519/2551 วันที่ 15 ธันวาคม 2551 ต่างยืนยันสอดคล้องต้องกันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นับแต่เวลา 05.00 นาฬิกา ถึง 24.00 นาฬิกา ได้นำอาวุธปืน วัตถุระเบิดชนิดต่างๆ อันมีอันตรายโดยสภาพมาใช้ในการสลายการชุมนุม โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานของสากล ซึ่งต้องเริ่มจากการเจรจาต่อรอง หากไม่สามารถเจรจาต่อรองได้ จึงจะใช้มาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก โดยใช้โล่กำบังผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม หากไม่ได้ผลจึงจะใช้มาตรการฉีดน้ำจากรถดับเพลิง ซึ่งมีความแรงพอที่จะผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกจากเป้าหมายที่ประสงค์จะเปิดทางได้ หากใช้น้ำฉีดไม่ได้ผลจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตาทั้งสามขั้นตอนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จำต้องประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบก่อน แต่พยานกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคน ผู้ร้องสอด กลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มเจ้าหน้าที่พยาบาล และทีมแพทย์สนามยืนยันว่าไม่ได้ยินเสียงประกาศแจ้งเตือนแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในบังคับบัญชาของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ใช้มาตรการในการควบคุมผู้ชุมนุมจากเบาไปหาหนักตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับอาวุธที่นำมาใช้ล้วนแต่เป็นอาวุธอันตรายโดยสภาพ และนำมาใช้สลายกลุ่มผู้ชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

จึงเห็นว่า การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการกระทำโดยจงใจกระทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคน ผู้ร้องสอดที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 10 อย่างร้ายแรงทำให้ผู้ร่วมชุมนุม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคนและผู้ร้องสอดได้รับอันตรายถึงชีวิต บาดเจ็บสาหัส และได้รับอันตราย แก่กาย หรือจิตใจตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้กระทำละเมิดต่อกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคน และผู้ร้องสอดแล้ว และการปฏิบัติภารกิจตาม ที่ได้รับมอบหมายหากเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้กระทำตามคำสั่ง พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ภายใต้แผนกรกฎ / 48 เมื่อเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัยของผู้ร่วมชุมนุม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยห้าสิบคน และผู้ร้องสอดแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติคำสั่งและแผนปฏิบัติการกรกฎ / 48

โดยเฉพาะเมื่อพิเคราะห์ถึงการสลายการชุมนุมซึ่งเกิดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ รวม 4 ครั้ง ทั้งนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ขณะเข้าแถลงนโยบายได้ทราบจาก นางสาว รสนา โตสิตระกูล และ นายประสงค์ นุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งลุกขึ้นคัดค้านการแถลงนโยบายของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขณะที่ด้านนอกสภามีการสลายการชุมนุมด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาและทำให้ประชาชนบาดเจ็บกันนับร้อยคน แต่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีหาได้ให้ความใส่ใจไม่ และแม้จะมีการประชุมสภาแล้วเสร็จเมื่อเวลา 11.30 นาฬิกา เจ้าหน้าที่สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังคงใช้กำลังและอาวุธสลายการชุมนุม เป็นครั้งที่ 2 - 4 นายสมชาย พลเอก ชวลิต และ พลตำรวจเอก พัชรวาท ซึ่งรับทราบข่าวสารการสลายการชุมนุม และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากจนถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาประมาณ 16.00 นาฬิกา และ 19.00 นาฬิกา บุคคลทั้งสามผู้มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และจะเป็นผู้บริหารประเทศกลับมิได้สนใจไยดี หรือ สั่งห้ามการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมายแต่อย่างใดเจือสมกับข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน และมีความเห็นว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบสวน และมีความเห็นว่า บุคคลทั้งสามกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา และละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดตามที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายรักษาความมั่นคงสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการเพื่อสลายการชุมนุมตามขั้นตอนแผนกรกฎ / 48 แต่เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุดังได้วินิจฉัยมาโดยลำดับ อันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 มาตรา 10 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะดำเนินการขอถอนฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นการส่งผลให้คดีเป็นอันยุติไปโดยมิต้องมีการพิสูจน์ความจริงให้สิ้นกระแสความว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งการฟ้องคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อได้มีการยื่นคำฟ้องแล้ว ประธานศาลฎีกาจะเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนเก้าคนเป็นองค์คณะ หลังจากนั้นผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะทั้งเก้าคนจะทำการตรวจคำฟ้องและพยานหลักฐานต่าง ๆ เมื่อเห็นว่าคดีมีมูลก็จะมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องคดีไว้แล้วดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา ศาลฯ ต้องทำการตรวจดูคำฟ้องตลอดจนพยานหลักฐานต่าง ๆ ของผู้กล่าวหาและเชื่อว่าคำฟ้องดังกล่าวนั้นมีมูล จึงจะประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาต่อไป อันเป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีเบื้องต้นว่าผู้ถูกกล่าวหาน่าจะกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

อีกทั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 นับจนถึงปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่มาได้เพียง 4 เดือนเศษ แต่กลับเร่งรีบนำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาเพื่อขอถอนฟ้องคดี โดยมิได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ได้ว่าเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวข้างต้นก็ได้วินิจฉัยไว้โดยชัดเจนว่าการกระทำของนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นการกระทำละเมิดต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 กรณีจึงไม่มีเหตุผลอันสมควรใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะดำเนินการขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว เพราะการถอนฟ้องคดีโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรถือว่าเป็นการทำลายหลักการอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้นที่ประชาชนพึงจะได้รับจากรัฐและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวจนยากเกินที่จะแก้ไขเยียวยาได้

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น ข้าพเจ้า นายนิติธร ล้ำเหลือ เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินการถอนฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้โปรดปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยเคร่งครัดและยุติการดำเนินการใด ๆ อันเป็นการริเริ่มและมีผลเป็นการถอนฟ้องคดีหมายเลขดำ ที่ อม.2/2558 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติโดยมิชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปโดยถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ขณะที่หนังสือของนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ได้ระบุเรื่องขอให้ทบทวนมติการประชุมกรณีการยื่นถอนฟ้องคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 โดยระบุว่า ตามที่มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการประชุมร่วมกันช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ กรณี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จำเลยในคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่ง ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552 ชี้มูลความผิดทางอาญาบุคคลเหล่านี้เอาไว้แล้วตามเอกสารที่อ้างถึง ได้มายื่นขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช.ว่ามีหลักฐานใหม่ในคดีดังกล่าวและขอให้พิจารณาถอนฟ้องคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยที่ประชุมมีมติ 6 : 1 ว่า ตามข้อกฎหมาย ป.ป.ช.มีสิทธิในการยื่นคำร้องถอนฟ้องคดี มีเพียงแต่ นางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการคนเดียวที่ลงมติไม่เห็นด้วยนั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขอเรียกร้องต่อท่านให้ทบทวนมติการประชุมดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจของท่านและคณะเป็นไปด้วยความอิสระโปร่งใสและสุจริตยุติธรรม ทั้งนี้ เพราะคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว จึงมิอาจอยู่ในอำนาจที่ ป.ป.ช. จะดำเนินการเช่นนั้นได้

การสลายประชาชนในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นที่รับทราบของสังคมแล้วว่า เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามลำดับขั้นตอนปล่อยให้มีการกระทำที่รุนแรง จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บจำนวนมากดังรายงานของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมภิบาล วุฒิสภา เรื่องผลการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อ 7 ตุลาคม 2551

ครป.เห็นว่า การสลายการชุมนุมของประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ถือว่าเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของสังคมไทย จึงขอเรียกร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลที่ถูกชี้มูลว่ามีความผิดจนถึงที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น