xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” ยันร่าง รธน.มีเป้าหมายสร้างความเปลี่ยนแปลงทุกองคาพยพ ทำประเทศไปสู่สิ่งที่ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์
ประธาน กรธ.อบรมข้าราชการ กทม.250 คน หวังให้ทำหน้าที่เสมือนครู ข. ย้ำร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์สร้างความเปลี่ยนแปลงเกือบทุกองคาพยพในประเทศ นำสังคมและประเทศไปสู่สิ่งดีที่สุด หวังให้เกิดการปฏิรูปทุกด้าน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวบรรยายในงานสัมมนาการสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อข้าราชการ กทม. ระดับผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและหัวหน้าฝ่ายปกครองทุกเขตของ กทม.รวม 250 คน ซึ่งทำหน้าที่เสมือน ครู ข.ในพื้น กทม. ถึงแนวทางการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน ว่าเวลาไปเจอคนที่พูดว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ช่วยถามเขาว่ามาตราไหนที่ว่าไม่ดี แล้วกลับมาอ่านก่อน อย่าเพิ่งตัดสินใจทันทีว่าดีหรือไม่ดี

นายมีชัยกล่าวว่า เมื่อเทียบรัฐธรรมนูญที่เคยมีมาร่างนี้มีแนวคิดที่แตกต่าง เพราะเรามุ่งเป้าว่าในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นกรอบการเดินหน้าประเทศ เราตั้งเป้าว่าปัญหาที่มีในอดีตคืออะไร และจะเดินไปสู่อะไร ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นในหมู่คนใน สังคมไทยและประเทศไทยไปสู่จุดที่ดีที่สุด จึงถือว่ามีเจตนารมณ์สร้างความเปลี่ยนแปลงเกือบทุกองคาพยพในประเทศ เว้นแต่หมวดพระมหากษัตริย์ที่เปลี่ยนแปลงให้คล่องตัวขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น

“เขาถามว่าตั้งฉายารัฐธรรมนูญนี้มามากมาย ถามว่าเราหวังจะให้เกิดอะไรขึ้นหลังรัฐธรรมนูญใช้ ตอบว่าหวังให้เกิดการปฏิรูปทุกๆ ด้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย จะพบว่าวิธีการบัญญัติก็เปลี่ยนจากเดิม ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพแทนที่จะเขียนลอยๆ ว่ามีสิทธิอะไรให้ไปเรียกร้องเอาเอง คราวนี้เขียนใหม่ให้เป็นหน้าที่ของรัฐ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐไปทำให้สิทธินั้นเกิดขึ้น อะไรที่คิดว่าทำให้เกิดการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นถ้าประชาชนไปใช้สิทธินั้น เราก็เขียนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ เช่น สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร จากเดิมใครอยากรู้เรื่องอะไรต้องไปขอเป็นรายๆ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่เกิดประโยชน์ และประชาชนไม่มีข้อมูลพอที่จะเป็นหูเป็นตาสอดส่อง เราก็เขียนให้รัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลทางราชการที่ไม่ใช่ความลับ และด้วยกลไกเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ไม่เหนื่อยยากในการเปิดข้อมูล”

ประธาน กรธ.กล่าวถึงส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนในรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน จากการที่พยายามใส่ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐไปอุ้มชูประชาชนซึ่งไม่มีวันสำเร็จที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เพราะรัฐไม่ได้มีทรัพยากรมากพอ ดังนั้น ทุกส่วนที่เกี่ยวกับการดำรงชีพของประชาชน รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสร้างกลไกให้ประชาชนยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ เช่น แทนที่จะประกันราคา ซึ่งชาวบ้านได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายไป เราจึงเขียนให้รัฐพึงมีกลไกช่วยให้เกษตรกรประกอบกสิกรรมอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพ หรือเดิมที่ให้รัฐจัดหางานให้คน ซึ่งจัดให้ไม่ได้หากคนไม่มีขีดความสามารถ เราก็เขียนว่ารัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการทำงานเหมาะสมกับส่วนบุคคลและวัย ก็จะมีขีดความสามารถรองรับตำแหน่งที่ว่างงาน ทั้งที่คนต่างชาติมาแย่งงานกันทำ

นายมีชัยอธิบายจุดแตกต่างซึ่งเป็นแนวคิดที่เปลี่ยนไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ อีกหลายเรื่อง เช่น การพัฒนาประเทศจะต้องนึกถึงประชาชนเป็นหลักว่าได้อะไร เป็นธรรม ยั่งยืน และพึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่มุ่งแต่บ้านเมืองเจริญแล้วรวยเพียงกลุ่มเล็กๆ

“คนไทยจะเจริญยังไงต้องไม่เป็นอย่างคนฮ่องกง และสิงคโปร์ เขามีความเจริญและไม่ได้มีความสุข เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของเขาไม่ค่อยคำนึงถึงสภาพจิตใจของคน เพราะการพัฒนาการเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมไม่ใช่ว่าจะทำให้คนได้ประโยชน์ เพราะเครื่องจักรจะมาแทนที่คน แล้วในที่สุดคนจะอยู่ไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญจึงวางกรอบให้นึกถึงตัวคนที่เป็นเจ้าของประเทศต้องมีความสุขด้วย”

นายมีชัยกล่าวว่า หลายเรื่องที่ดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่จะเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาแประเทศไปสู่จุดที่ดีขึ้น เพราะคนไทยมีความผูกพันทางจิตใจไม่ได้ต่างคนต่างอยู่เหมือนยุโรป อเมริกา ถ้าเราเอาแนวทางการพัฒนาอย่างเขามาทั้งหมดนับวันเราก็จะยิ่งอยู่อย่างไม่มีความสุข นายมีชัยยังชี้แจงถึงแนวคิดการปกครองที่กำหนดให้หน้าที่ต้องมาก่อนอำนาจ ความสำคัญของการออกกฎหมายที่ต้องไม่สร้างเงื่อนไขขั้นตอนแก่ประชาชนเกินความจำเป็น และกำหนดให้หน่วยงานราชการต้องประสานข้อมูลกันไม่ใช่ทำให้ประชาชนเป็นฝ่ายวิ่งไปให้ข้อมูลซ้ำกัน

ทั้งนี้ ครู ข.ของ กทม.ที่เข้าร่วมการอบรมทุกคนจะได้รับคู่มือประกอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม หนังสือสรุปสาระสำคัญฉบับข้อความ และภาพอย่างละเล่ม ประเด็นคำถามพ่วงของ สนช.พร้อมคำชี้แจง 1 ชุด

จากนั้นเป็นการบรรยายในสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดย กรธ. และภาคบ่ายเป็นประเด็นคำถามพ่วงโดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.

ด้านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. และประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์ของ กรธ.เปิดเผยว่า การอบรมบุคลากรของ กทม.ในวันนี้อยู่นอกเหนือจากส่วนของ ครู ก. ครู ข. และ ครู ค. ที่มหาดไทยดำเนินการ 76 จังหวัด โดยในส่วนของ กทม.นั้น กรธ.จะเป็นผู้ขอความร่วมมือโดยตรง โดยขอให้ผู้เข้าอบรมวันนี้ทำหน้าที่เสมือนครู ข. เพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ เข้าใจภารกิจของ กรธ. และขอให้ช่วยคัดอาสาสมัครที่มีทักษะในการชี้แจง มีความเป็นกลางทางการเมือง และมีเวลาที่จะช่วยเสียสละ จากชุมชนใน กทม.ทั้ง 2,400 ชุมชนๆ ละ 2 คน เพื่อนำมาเข้ารับการอบรมเสมือนครู ค.ที่ กรธ.จัดให้ในระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. ก่อนจะให้ลงพื้นที่ไปชี้แจงต่อประชาชนทั่วไปใน กทม.


กำลังโหลดความคิดเห็น