xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แนะ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรม เชื่อให้ครู ก.-ข.-ค.แจง รธน.เลี่ยงชี้นำยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” เรียกร้อง คสช.ปลดล็อกกิจกรรมพรรคการเมืองก่อนทำประชามติ เพื่อปฎิรูปพรรคการเมือง บอกถ้าห่วงจะเกิดปัญหาควรกำหนดให้ชัดว่ากิจกรรมใดทำได้ ไม่ได้ ระบุการให้ ครู ก.-ข.-ค.ลงพื้นที่แจงร่าง รธน.เลี่ยงชี้นำยาก หากยึดตาม กม.ประชามติจริง พูดได้แค่ 2 ประโยค

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มมีท่าทีผ่อนปรนให้นักการเมืองมากขึ้นว่า ตนคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะกว่าจะคืนสู่ภาวะปกติ ข้อจำกัดต่างๆ ควรจะมีการผ่อนปรนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเรื่องการประชุมพรรคนั้นก็คงเป็นดุลพินิจของทาง คสช.จะพิจารณา แต่ตนคิดว่าน่าจะเปิดให้มีการประชุมพรรคได้เพราะว่ามีหลายเรื่องที่พรรคการเมืองควรจะทำ และไม่ควรบอกว่าพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้เฉพาะการเลือกตั้ง ในขณะนี้เราบอกว่าจะปฏิรูปพรรคการเมือง แต่กลับมาส่งสัญญาณว่าพรรคการเมืองมีหน้าที่แค่ส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้ง คิดแบบนี้เราก็จะได้พรรคการเมืองแบบเดิมๆ

“บทบาทและกิจกรรมที่สำคัญก็ควรให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการได้ เช่น กำหนดนโยบายพรรค ทำโครงสร้างพรรคให้เป็นของประชาชนมากขึ้น หากฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลในกิจกรรมของพรรคการเมือง ก็ระบุมาให้ชัดเลยว่ากิจกรรมไหนทำไม่ได้หรือทำได้ ส่วนกลุ่มที่จะป่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญผมคิดว่าคงจะไม่ใช้เวทีประชุมพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการแน่นอนและถ้าห้ามกิจกรรมพรรคการเมือง เขาก็คงจะแอบไปทำอยู่ดี”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมก่อนการทำประชามมติหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง การปฏิรูประบบพรรคการเมือง ก็ต้องมีเวลาให้พอสมควรก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งตนคิดว่าถ้าพรรคการเมืองสามารถทำหน้าที่ได้ตอนนี้เลยก็จะเป็นเรื่องดี ถ้าเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองในช่วงจะเลือกตั้งแล้ว กิจกรรมสำคัญต่างๆ คงไม่สามารถทำได้ เพราะแค่เตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งก็หมดเวลาแล้ว ดังนั้นตนคิดว่าการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเฉพาะช่วงจะเลือกตั้งก็คงไม่สมเจตนารมณ์ของการมีพรรคการเมืองซึ่งควรจะมีบทบาทอื่นๆ นอกจากส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการเปิดเวทีความเห็นให้ผู้ที่เห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า หากเป้าหมายสุดท้ายคือต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญและกลไกต่างๆ เป็นที่ยอมรับ ถ้ามีประเด็นที่ทำให้เกิดคำถามขึ้น ก็คงไม่เป็นผลดี ที่ผ่านมาตนให้ความเห็นว่าต้องระมัดระวัง เพราะบทบาทของรัฐคือต้องให้เวทีกับทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงความเห็นก่อนการทำประชามติ แต่ขณะนี้มีการเปิดโอกาสให้ใช้กลไกของรัฐโดยอ้างว่าชี้แจงสาระร่างรัฐธรรมนูญ ในทางปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องยากมากในการแยกระหว่างการบอกให้รับร่าง กับการเผยแพร่ข้อดีของร่าง เพราะในธรรมชาติ คนเขียนร่างและวิทยากรที่รับเนื้อหาสาระไปคงไม่บอกว่าของที่ตนร่างเป็นของเสีย และคนที่มองเห็นข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญก็คงจะเป็นคนที่ไม่ได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ก็เป็นข้อกังวลอยู่

“ถ้าจะดีที่สุดควรหลีกเลี่ยงการใช้กลไกของรัฐเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกว่าการทำประชามติถูกชี้นำจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะจะทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นมีความเป็นธรรมหรือไม่ อีกทั้งตอนนี้กฎหมายประชามติก็มีการเขียนรับรองอีกว่าวิทยากรที่ลงไปทำหน้าที่ เช่น ครู ก. ครู ข. ครู ค. ไม่ถือว่าเป็นการชี้นำจูงใจ ตรงนี้ก็จะเกิดข้อโต้แย้งขึ้นได้ เช่นถ้าลงไปชี้แจงเรื่องคำถามพ่วง ถ้าจะทำตามเจตนารมณ์อย่างเคร่งครัด ต้องชี้แจงได้อย่างเดียวว่าคำถามพ่วงจะเปิดโอกาสให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการชี้แจงเนื้อหาสาระได้แค่ 2 ประโยคเท่านั้น แต่ถ้าไปบอกประชาชนว่า เอา ส.ว.มาเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นดีอย่างไร ก็จะทำให้เกิดคำถามว่าแบบนี้ดีหรือไม่ เพราะคนที่ไม่เห็นด้วยไม่มีโอกาสชี้แจงว่าถ้าให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีนั้น มีข้อเสียอย่างไร ดังนั้น ถ้ารัฐบาลเปิดโอกาสให้คนที่มีความสนใจร่างรัฐธรรมนูญสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่เป็นรูปแบบที่ไม่กระทบต่อความมั่นคง ตามข้อกำกับของกฎหมายประชามติที่ห้ามการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และปลุกระดมการทำประชามติ ก็เป็นเรื่องดีและสามารถทำได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น