xs
xsm
sm
md
lg

แท็กทีมการเมืองถล่มโรดแมปเส้นทาง คสช.- ประยุทธ์ เริ่มวิบาก !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



แม้ว่าพิจารณาจากอารมณ์ร่วมจากสังคมส่วนใหญ่จะยังไม่ถึงขั้นจะสร้างความกระทบกระเทือนต่อสถานะของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในระดับที่น่าเป็นห่วง อย่างก็ตามเมื่อพิจารณาโดยภาพรวม ๆ แล้ว ถือว่านับจากนี้ หลังจากผ่านช่วงเวลาสองปีของการเข้ามาควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

การสะท้อนออกมาจากผลสำรวจหลายสำนักออกมาตรงกันว่า แม้จะเห็นว่าความนิยมศรัทธายังอยู่ในระดับที่ยังใช้ได้ แต่ก็อยู่ในระดับที่ลดลงมา และความรู้สึกร่วมที่ตรงกันก็คือ ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาแก้ไม่ตก

อีกเรื่องหนึ่งที่ระยะหลัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มถูกวิจารณ์หนักขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ “ความล้มเหลวในการปฏิรูป” ในเรื่องสำคัญตามความต้องการของชาวบ้าน เสียงสะท้อนที่ออกมาตรงกันก็คือ ทุกเรื่องหยุดนิ่งอยู่กับที่ เช่น เรื่องการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูประบบรการ เริ่มถูกมองว่าไม่มีความจริงใจ มองว่าการโยนให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้ามันก็เหมือนกับการปัดให้พ้นตัว เพราะไม่มีทางสำเร็จ สาเหตุที่สร้างความผิดหวังให้กับชาวบ้าน ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ และรู้ดีว่าความต้องการของชาวบ้าน คือ ต้องการให้มีการปฏิรูปเป็นเรื่องเร่งด่วน และเป็น “เรื่องหลัก” แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่เป็น “งานรูทีน” หรืองานประจำเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็นั่นแหละกลายเป็นว่าถึงจะเป็นงานรูทีนก็ยังทำได้ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับความพร้อม แรงสนับสนุนและอำนาจที่มีอยู่ในมือ เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่างานส่วนใหญ่ที่รัฐบาลชุดนี้กำลังดำเนินการส่วนใหญ่เป็นการ “สานต่อ” งานเก่า โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นระบบราง ระบบถนน ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นการริเริ่มใหม่ แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกวิจารณ์อีกว่า “ล่าช้า” การเบิกจ่ายงบประมาณก็ล่าช้า ซึ่งกรณีหลังก็เป็นเสียงบ่นออกมาจากฝ่ายรัฐบาลเอง เพิ่งมาในระยะหลังนี่แหละที่เริ่มเร็วขึ้น และแน่นอนว่า การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ค่อยได้ผลนัก

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงนับจากนี้ ก็คือ การรวมหัวกันของพรรคการเมือง นักการเมืองและกลุ่มการเมืองแท็กทีมรุมถล่มรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานและผลงานในโอกาสครบรอบสองปี ที่ออกมาในโทนล้มเหลว ไม่สมราคา ไม่สมกับความคาดหวังของชาวบ้าน

โดยพวกเขาโฟกัสไปในเรื่องผลงานการแก้ปัญหาปากท้อง และการปฏิรูปที่ถือว่า “สอบตก” แม้ว่าหากมองกันแบบเข้าใจก็คงไม่แปลกใจนัก เนื่องจากเป็นลักษณะของการ “เอาคืน” มากกว่า เพราะที่ผ่านมาถือว่าบรรดาฝ่ายการเมืองมักโดนจัดหนักจากฝ่าย คสช.อย่างต่อเนื่อง ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกที่สร้างปัญหาทิ้งเอาไว้ให้รัฐบาลชุดนี้และ คสช.คอยตามเช็ดแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลาจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง ก็คือ การแท็กทีมต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีการลงประชามติกันในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ แม้ว่าในรายละเอียดจะต่างกันในท่าที ฝ่ายพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายของพวกเขาประกาศชัดแล้วว่า “ต้องคว่”" ขณะที่ฝ่ายประชาธิปัตย์แม้ยังไม่ได้ประกาศชัดเหมือนฝ่ายแรก แต่ก็ใช้คำว่า “ไม่เห็นด้วย”

ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปก็ได้เห็นสัญญาณการเคลื่อนไหวต่อต้านทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปพร้อม ๆ กัน และหนักหน่วงมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวในแบบเดินขบวนบ่อยครั้งขึ้น แม้จะมองว่าพิจารณาจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันครบรอบสองปีของ คสช. รวมทั้งเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาฯก็อาจได้จังหวะก็ตาม แต่ก็ถือว่าออกมาเป็นกลุ่มก้อนมากกว่าครั้งก่อน

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งทางฝ่ายอำนาจรัฐคือทั้งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลังจากถูกกดันอย่างหนักจากมหาอำนาจตะวันตกที่ยกเอาเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนมาบีบจนทำให้ต้องมีการผ่อนปรนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีล่าสุดของ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ธีระชัย นาควานิช ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่บอกว่าต่อไปจะไม่เชิญตัวใครไปปรับทัศนคติอีกแล้ว รวมไปถึงการเปิดเวทีให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้แสดงความเห็นไดีเป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการปรับท่าทีใหม่ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เปิดช่องให้หายใจกันได้บ้าง

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากทั้งสองฝ่ายแล้วเชื่อว่าจะต้องเปิดเกมรุกและรับกันหนักมือยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สองพรรคใหญ่แท็กทีมต้าน มันก็น่าห่วง ที่อาจเกิดเหตุการณ์พลิกผันได้ตลอดเวลา เพราะขึ้นชื่อว่านักการเมืองก็ย่อมไม่ธรรมดาเหมือนกัน ขณะที่อีกด้านในฝั่ง คสช. นับจากนี้ไปก็ต้องงยอมรับว่าเจอเส้นทางวิบาก เสี่ยงไม่น้อย เพราะเส้นทางข้างหน้ามันเริ่มต่างกับตอนที่เริ่มเดินในตอนแรก ที่ความศรัทธามีอยู่เปี่ยมล้น แต่ตอนนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว !!
กำลังโหลดความคิดเห็น