xs
xsm
sm
md
lg

เมินพรรคเล็กถกร่าง รธน.“มาร์ค” ถามอะไรคือหยาบคาย-ปลุกระดม “ตู่” บี้อย่าหยุมหยิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกต. เปิดเวทีแจงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ สองพรรคใหญ่เข้าร่วมคึกคัก แต่ไม่มีตัวแทน กปปส.- พันธมิตรฯ “อภิสิทธิ์” ถามมาตรฐาน กกต. แค่ไหน คือ หยาบคาย - ปลุกระดม แนะ คสช. ยกเลิกคำสั่งให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวเต็มที่ “จตุพร” ซัดคงกลัวแพ้ประชามติ อัดกลับ กกต. ไม่ควรตีความเลอะเทอะ “วิษณุ” รับสถานการณ์อยู่ในช่วงล่อแหลม ยันผ่านไม่ผ่านก็ช่าง รัฐบาลไม่ยื้อเวลา ด้านตัวแทนพรรคเล็กเซ็ง กกต.-สื่อ สนใจแต่พรรคใหญ่ ชี้ คนไทยส่งเสริมคนไม่ดีจนบ้านเมืองวุ่นวาย

วันนี้ (19 พ.ค.) ที่สโมสรทหารบก คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเวทีชี้แจงเกี่ยวกับการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในหัวข้อ “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” โดยมีผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เข้าร่วมชี้แจงให้กับตัวแทนพรรคการเมือง 50 พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ที่เดินทางมาร่วมอย่างคึกคัก อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค พรรคเพื่อไทย คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายชวลิต วิชยสุทธิ์ และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ จาก นปช. แต่ไม่ปรากฏตัวแทนของกลุ่ม กปปส. และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าร่วมแต่อย่างใด

จากนั้นตัวแทนจาก 5 หน่วยงาน ก็ได้เริ่มชี้แจง โดย นายประพันธ์ นัยโกวิท และ นายอุดม รัฐอมฤต จาก กรธ. อธิบายเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า มีจุดเด่นอยู่ที่การจัดโครงสร้างทางอำนาจอย่างสมดุล เน้นความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้ประเทศปลอดจากการทุจริต หรือ มีการทุจริตน้อยที่สุดด้วยการกำหนดคุณสมบัติที่เข้มข้นในกรณีที่ทุจริต หรือ ทุจริตเลือกตั้งจะไม่สามารถกลับเข้ามาสู่การเมืองได้ตลอดชีวิต และให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างน้อย 7 เรื่อง ซึ่งถือเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เขียนถึงการปฏิรูปเอาไว้

ขณะที่ นายกล้านรงค์ จันทิก สนช. และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปท. ชี้แจงถึงการตั้งคำถามพ่วงว่าในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านควรให้ ส.ว. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่ง นายคำนูณ สิทธิสมาน สปท. ยืนยันว่า กระบวนการดังกล่าวไม่ได้ทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีแตกต่างจากเดิมมากนัก เนื่องจากต้องเลือกจากบัญชีที่ส.ส. เป็นผู้เสนอ เว้นแต่ว่าไม่มีการเสนอรายชื่อของบุคคลที่อยู่ในบัญชีก็จะมีขั้นตอนที่แตกต่างออกไป

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 3 ร. ในการประชามติครั้งนี้ คือ 1. รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศให้จัดทำประชามติอย่างเรียบร้อย 2. ร่วมมือกับ กกต. ในการจัดประชามติ และ 3. ดำเนินกตามโรดแมปของ คสช. โดยสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 7 ส.ค. หากมีการรับร่างรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบคำถามพ่วง ก็จะนำกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ กรธ. จัดทำกฎหมายลูกเมื่อมีผลบังคับใช้ ก็จะมีการจัดเลือกตั้งภายในห้าเดือน แต่ถ้าคำถามพ่วงผ่านก็ต้องมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องซึ่งไม่เป็นปัญหา ที่จะเกิดปัญหาคือกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แต่คำถามพ่วงผ่านซึ่งจะเหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ผ่าน คือ จะต้องมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยรัฐบาลก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ว่า จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งก็คงต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดยอาจนำเอาข้อดีในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา รวมยกเป็นร่างฉบับใหม่ คิดว่าใช้เวลาไม่นาน และไม่ต้องตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมใหม่ แต่จะเป็นภาระของรัฐบาลไปดำเนินการ

จากนั้นได้มีการเปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองสอบถาม นายอภิสิทธิ์ ตั้งคำถามเป็นแรก ว่า การทำประชามติครั้งนี้ ไม่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี มีการกำหนดห้ามคำบางคำ เช่น คำว่า ชี้นำ ซึ่งหากคิดว่าเลวร้ายถือเป็นการดูถูกประชาชน แม้แต่การรณรงค์ก็ผิด ทั้งที่ข้อห้ามจริงปรากฏในมาตรา 61 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกเสียงประชามติ คือ ห้ามนำความเท็จ ไม่ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือ ข่มขู่ จึงต้องการคำตอบจาก กกต. ว่า คำเหล่านี้มีความหมายอย่างไร ถ้ามีคนสวมเสื้อ หรือ ขายเสื้อ รับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะดำเนินการอย่างไร อีกทั้งประชามติจะมีความหมายก็ต่อเมื่อประชาชนมีทางเลือก นายวิษณุ รองนายกฯ ก็ยอมรับว่า ยังไม่มี และจะไม่มีการตั้งกรรมาธิการยกร่างใหม่ หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ซึ่งก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำไมจึงไม่แก้ขณะนี้เลย และที่จะให้พรรคการเมืองนำผลประชุมวันนี้ไปขยายผล คสช. ก็ควรยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 57 เพื่อให้พรรคการเมือง ประชาชนเคลื่อนไหวได้โดยสุจริตอย่างเต็มที่

นายสมชัย ก็ได้ชี้แจงว่า ข้อห้ามต่าง ๆ เป็นไปตามมาตรา 61 ของ พ.ร.บ. ประชามติ ส่วนคำถามว่า อะไรคือ ก้าวร้าว เป็นเท็จ หยาบคาย นั้น คำว่าเป็นเท็จ คือเอาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญออกมาพูดไม่จริง ส่วนการคาดการณ์อนาคตไม่มีใครบอกว่าเป็นการพูดเท็จ เช่น พูดว่าใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้วจะเป็นปัญหาหรือใช้แล้วไม่ดี ขณะที่คำว่า หยาบคาย เราใช้มาตรฐานชนชั้นกลาง เช่น คำว่า กู มึง ไม่ถือว่าหยาบ อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ออกจากห้องนี้ไปก็คงพูดกู มึง เป็นปกติ จึงไม่ถือว่าผิด ส่วนเรื่องการขายเสื้อ ใส่เสื้อ เยส (Yes) โน (No) ถ้าไม่ได้เป็นการรณรงค์ก็ไม่ถือว่าผิด

“อย่างวันนี้ นายจตุพร ใส่เสื้อที่มีคำว่า “ประชามติ ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” ก็ไม่ถือว่าผิด รวมทั้งการขายแถวโบ๊เบ๊ ก็ไม่ถือว่าผิด เป็นเรื่องปกติ แต่หากขายเสื้อ แจกจ่ายในแบบที่เป็นการรณรงค์และแจกของที่มีมูลค่า ถือว่าเป็นความผิดคล้ายกับการซื้อเสียง ซึ่ง กกต. ก็เฝ้าดูว่าการขายเสื้อที่นำไปสู่การปลุกระดมให้รับหรือไม่ หากพบหลักฐานชัดเจนก็จะเป็นความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการทางอาญา” นายสมชัย กล่าว

ด้าน นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า อะไรทำได้ไม่ได้ กกต. ดูที่เจตนาเป็นหลัก ยืนยันว่า ประชาชนยังมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่ต้องเป็นกังวล โดย กกต. ได้มีการตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายที่มี นายสุรินทร์ นาควิเชียร อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นประธาน และมี นักวิชาการด้านกฎหมายร่วม หากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว ก็จะมีการนำเข้าสู่การประชุมของคณะที่ปรึกษาให้วินิจฉัยในเบื้องต้นก่อน

นายปลอดประสพ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับคำถามของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และมองว่า การจัดเวทีดังกล่าวสายเกินไป พร้อมกับระบุว่าคำตอบของ กกต. ยังขาดความชัดเจน และพยายามที่จะวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า ร่างมาแบบแปลก ๆ โดยไม่รู้ว่าจะสร้างความเสียหายใช่หรือไม่

เมื่อพิธีบนเวทีทักท้วง และ ขอให้ตั้งคำถาม ทำให้บรรยากาศเริ่มตึงเครียดขึ้น โดยนายปลอดประสพ ได้หันมาตำหนิพิธีกรว่า “อย่ามาสอนผม ท่านวิษณุใช้เวลา 30 นาทีชี้แจง ผมก็เป็นรองนายกมาก่อนเช่นกันทำไมจะพูดไม่ได้ อย่าทำอย่างนี้เสียมารยาท” จากนั้นนายปลอดประสพได้ยกตัวอย่างการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการตีความมาตรา 61 พ.ร.บ. ประชามติ ว่า พรรคเพื่อไทยกำลังตรวจสอบเรื่องการขุดลอกคลองขององค์การทหารผ่านศึกที่ จ.พิษณุโลก และทีมงานของตนมีการติดป้ายข้อความ “No Corruption” ปรากฏว่า ได้รับหนังสือจาก กกต. จังหวัดเรียกตนไปชี้แจงอ้างว่าเข้าข่ายปลุกระดมในเรื่องการทำประชามติ จึงขอความชัดเจนจาก กกต. ในเรื่องนี้

ทำให้นายวิษณุ แซวว่า ให้เปลี่ยนข้อความจากคำว่าโนเป็น “ปลอด” แทน

ขณะที่ นายจตุพร แกนนำ นปช. ได้ซักถามว่า ที่ชี้แจงวันนี้หลักใหญ่ คือ ท่านกลัวแพ้ประชามติ ซึ่งเริ่มจาก สนช. ไปเขียนกติกาที่เป็นนามธรรม ทั้งเรื่องห้ามก้าวร้าว หยาบคายทั้งที่กฎหมายควรเขียนให้เป็นรูปธรรม การทำประชามติปี 50 ไม่มีการห้ามการบอกว่ารับหรือไม่รับ แต่วันนี้ด้วยความกลัวแพ้มีการเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งครู ก ข ค หน่วยงานราชการ รวมแล้วกว่าล้านคน แทนที่จะมีการเปิดกว้าง ทั้งที่บอกว่า กรธ. ไม่ได้ชี้นำแต่กลับไปพูดแค่ข้อดีอย่างเดียว แต่คนอื่นจะไปเคาะประตูบ้านพูดข้อเสียอย่างเดียวก็ไม่ได้

“ผมต้องการให้ประชามติครั้งนี้ไม่โกง และกลัวว่าพวกท่านจะล้มการทำประชามติ การที่ กรธ. สนช. สปท. ลงพื้นที่ชี้แจง จะเป็นการชี้แจงฝ่ายเดียว เหมือนการเอากระบี่ไปฟันต้นกล้วย แล้วบอกว่าไร้เทียมทาน และ กกต. ควรเปิดกว้าง ผ่อนคลาย และไม่ควรตีความเลอะเทอะ ทั้งนี้ ต้องอยู่ในโลกความเป็นจริงเพราะประชามติไม่มีที่ไหนที่หยุมหยิบแบบนี้ และ กกต. ควรจะทำตัวเป็นกรรมการที่เป็นกลางให้ได้ อย่าทำตัวเป็นเหมือนกรรมการวอลเลย์บอลที่ไทยเพิ่งแพ้ไป” นายจตุพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ได้กล่าวปิดท้าย ตอนหนึ่งระบุว่า สถานการณ์ในช่วงเวลาขณะนี้ถือว่าล่อแหลม เพราะมันจะเกิดความแตกแยก ขัดแย้งได้อีกเมื่อเทียบกับช่วงเวลา 6 เดือนก่อนหน้านี้ และจะเกิดอีกทีเมื่อมีการเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้รัฐบาลต้องระมัดระวัง รวมทั้งรัฐบาลกำลังมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เป็นคดีความเก่าแก่ ที่มีการฟ้องคดีอยู่ในอนุญาโตตุลาการ ถ้าหากรัฐบาลแพ้ก็เกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดินเกือบครึ่งหนึ่งของปี

“เราพูดกันเรื่องประชามติ จะผ่านไม่ผ่าน ไม่แปลก ไม่ผ่านก็ทำใหม่ ผมเชื่อว่า ทุกคนในที่นี้ ทุกสี ทุกกลุ่มมีประชามติอย่างหนึ่งในใจ หรือมีฉันทามติ คืออยากเห็นประเทศสงบเรียบร้อย ไม่อยากเห็นการทำร้ายประเทศไทย ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด อยากเห็นความสุขสงบกลับคืนมา ดังนั้น ประชามติเป็นเกมกติกา จะผ่านไม่ผ่าน ก็ปล่อยไปเมื่อเรามีหลักในเรื่องการนำความสุขกลับคืนมาสู่ประเทศ ฉะนั้น จะผ่านไม่ผ่านก็ชั่ง แต่ยืนยันจะไม่มีการยืด ไม่มีการต่อเวลาอะไรทั้งนั้น” นายวิษณุ กล่าว

ด้าน นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุม ว่า ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมตามที่ได้รับเชิญจาก กกต. แต่ได้ออกจากห้องประชุมก่อนที่จะได้แสดงความคิดเห็น เมื่อเห็นว่าการจัดสรรเวลาและการเรียงลำดับให้แสดงความคิดเห็นไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก อีกทั้งทาง กรธ. ตัวแทนรัฐบาล และทาง กกต. ก็ใช้เวลาค่อนข้างมาก ทำให้กลายเป็นเพียงเวทีที่สื่อสารด้านเดียว เลือกที่จะชี้แจงมากกว่าจะรับฟังความคิดเห็นตามที่ได้ประกาศไว้

อีกทั้งยังเห็นด้วยว่า ทั้ง กกต. ในฐานะผู้จัดงาน และสื่อมวลชน ให้ความสำคัญเฉพาะกับพรรคการเมืองใหญ่ แต่ไม่สนใจพรรคการเมืองขนาดเล็กเท่าที่ควร จึงอยากยกพระราชดำรัสเมื่อปี 2512 ที่ระบุว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ..ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันกลับตรงกันข้าม ไปให้ความสำคัญกับคนไม่ดี บ้านเมืองจึงมีแต่ปัญหา

นายอุเทน กล่าวต่อว่า เดิมทีอยากจะขอแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 98 (11) ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ระบุถึงคุณสมบัติข้อห้ามของผู้สมัคร ส.ส. และในส่วนของการแก้ไจเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคต ที่ต้องทำให้ได้ง่าย ปราศจากเงื่อนไขขัดขวางอย่างที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. แต่ก็ไม่มีโอกาส ทั้งนี้ อยากฝากไปถึงประชาชนให้ยึดหลัก 4 ป. ในการตัดสินใจออกเสียงประชามติวันที่ 7 ส.ค. นี้ คือ 1. เปิดหู รับฟังข้อเท็จจริง 2. เปิดตา มองทุกส่วนอย่างรอบด้าน 3. เปิดใจ คิดรับฟังรับรู้อย่างมีสติ และ 4. เปิดปาก ประชาชนต้องกล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูกต้อง และกล้าที่จะติติงในสิ่งที่ไม่เหมาะสม หากทำได้ตามนี้ผลการลงประชามติก็จะสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง





















กำลังโหลดความคิดเห็น