กมธ.ต่างประเทศ สนช.ระบุจากการพบพูดคุยสมาชิกอียูที่มาเยือนไทยไม่ติดใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เป้าหมายเพื่อต้องการหาช่องทางการลงทุน หลังไทยไปมีปฏิสัมพันธ์กับจีน รัสเซีย จึงอยากเข้ามามีเอี่ยวด้วย หวังการมาไทยของสมาชิกอียูจะช่วยกลับไปชี้แจงให้คณะกรรมาธิการยุโรปได้เข้าใจสถานการณ์ของไทย
นายกิตติ วะสีนนท์ รองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงกรณีสมาชิกสภายุโรป (อียู) กลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน เข้าพบคณะกรรมาธิการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่าการที่อียูเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ไม่ใช่เพราะประเทศไทยมีสถานการณ์พิเศษ แต่เพราะไทยเป็นประเทศน่าสนใจ มีโอกาสขยายความร่วมมือเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงมีการสร้างความเข้าใจถึงเรื่องพัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่ง สนช.ได้ชี้แจงถึงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ถึงปัจจุบัน โดยในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นทางอียูเองก็มีปัญหา และทางอียูไม่ได้สอบถามเรื่องสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยมากมาย ไม่ได้ถามในลักษณะสร้างแรงกดดัน รวมถึงไม่ได้ถามเรื่องเรียกฝ่ายเห็นต่างไปปรับทัศนคติ
“ไทยมีความจำเป็นในการควบคุมไม่ให้สถานการณ์กลับไปเหมือนช่วงปี 2557-2558 ซึ่งเป็นจุดที่เกิดปัญหาการเมือง ไปไหนไม่ได้ มีการต่อต้านรัฐบาล และการใช้กำลัง เกือบเป็นสงครามกลางเมือง ทั้งนี้ รัฐบาลมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะดำเนินตามโรดแมป และย้ำว่านายกฯ ยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งปี 2560 การพูดครั้งนี้เป็นไปด้วยความเข้าใจ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียูจะดีขึ้นในอนาคต”
ด้านนางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สนช.กล่าวว่า อียูไม่ได้เน้นย้ำเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย โดยเฉพาะเรื่องการใช้มาตรา 44 และการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหาร แต่ให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจและการลงทุนมากกว่า โดยสอบถามว่ามีช่องทางใดบ้างที่อียูจะเข้ามาลงทุนในไทยได้ เนื่องจากเห็นว่าไทยไปมีปฏิสัมพันธ์กับจีน รัสเซีย จึงอยากให้อียูมีช่องทางเข้ามาบ้าง และเราได้ชี้แจงพร้อมที่จะเปิดให้อียูเข้ามา แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเมืองในนโยบายระดับสูงของอียูจึงไม่มีการติดต่อเจรจากันเรื่องนี้ เชื่อว่าการเข้าพบครั้งนี้อียูจะไปช่วยชี้แจงให้คณะกรรมาธิการยุโรปให้เข้าใจถึงสถานการณ์ในเมืองไทยเป็นอย่างดี
นายกิตติ วะสีนนท์ รองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สนช. ในฐานะอดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ กล่าวถึงกรณีการปลุกกระแสต่อต้านนายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่โจมตีเรื่องสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยอย่างต่อเนื่องว่า เป็นห่วงสิ่งที่ทูตสหรัฐฯ ได้แสดงความเห็น เพราะถือเป็นการผิดมารยาททางการทูตครั้งที่ 2 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยออกมาพูดในเวทีเสวนาสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (เอฟซีซีที) เรื่องมาตรา 112 มาแล้ว แต่มาครั้งนี้ก็ยังไม่ระมัดระวังจนพลาดเป็นครั้งที่ 2
“รู้สึกแปลกใจที่คำแถลงการณ์ของนายกลินนำมาอ่านที่กระทรวงการต่างประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ เคยออกแถลงการณ์มาแล้ว แต่นายกลินกลับนำมาอ่านอีกครั้งทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ได้หารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ถือว่านายกลินก้าวผิด นักการทูตย่อมเข้าใจดีว่าการมาประจำการคือ การมาสร้างความสัมพันธไมตรี ยิ่งเป็นมิตรประเทศ เป็นเพื่อนกัน ถ้าเห็นอะไรไม่ดีก็ต้องดึงแขนไปพูดคุยกัน ไม่ใช่มาชี้หน้าด่ากัน แบบนั้นไม่ใช่เพื่อน แต่เชื่อว่าเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศมีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งการที่มีกระแสออกมาต่อต้านนายกลินก็ให้ถือเป็นบทเรียนของเขา”