รมว.ต่างประเทศ ขอก้าวข้ามปมสหรัฐฯ อย่าถึงขั้นบี้เปลี่ยนทูต รับทูตอาจจงใจ แต่ไม่ได้มอง ชี้ถ้ามืออาชีพเขาไม่ทำกัน หวังเจ้าตัวเรียนรู้ข้อมูลไทย ได้คุยถูกคน เชื่อคนไทยไม่รู้สึกสะสม ยันไทยไม่ใช่ชาติที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชน แต่ถูกข้างนอกสร้างสถานการณ์ โบ้ยประเทศอื่นโดนหนักกว่าเยอะ แนะสื่อทำให้อเมริกันรู้สึกถึงทัศนคติชาวไทย บอกมหาอำนาจมักเอาความรู้สึกเป็นใหญ่
วันนี้ (16 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.00 น. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีนายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยข้อห่วงใยต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 12 พ.ค. จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าผิดมารยาททางการทูตว่า ขอให้ก้าวข้ามในเรื่องนี้ เรามีเรื่องสำคัญกว่านี้เยอะแยะ
เมื่อถามว่า มีกระแสจากบางส่วนต่อต้านทูตสหรัฐฯ อาจจะถึงขั้นให้เปลี่ยนตัวทูตสหรัฐฯ ด้วย นายดอนกล่าวว่า อย่าไปถึงขนาดนั้นเลย ก็หวังว่าจะไม่บายปลาย เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ยาวนาน นี่เป็นอุบัติเหตุเล็กน้อยที่เกิดขึ้นโดยที่เขาอาจไม่รู้ตัว เมื่อถามย้ำว่าเขามีความจงใจหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ก็อาจจะมีส่วน แต่เราก็ไม่อยากมองได้อยากมอง เพราะจะมีผลกับภาพใหญ่ในเรื่องความสัมพันธ์ เมื่อถามว่า หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีการติดต่อเพื่อขอชี้แจงหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า เอาเป็นว่าเราอย่าไปห่วงเรื่องนี้เลย มองข้ามไปเลย อย่างไรก็ตาม ทูตสหรัฐฯ คงต้องเรียนรู้ว่ามีอะไรหลายอย่างที่ต้องเข้าใจ ซึ่งคงไม่มีปัญหา และคงไม่ต้องทักท้วงกลับไปแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าทูตสหรัฐฯ ไม่เข้าใจสถานการณ์เมืองไทยดีพอใช่หรือไม่ นายดอนกล่าวว่า เขาไม่มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเมืองไทยมาก่อนเลยเป็นเรื่องธรรมดาต้องมาเรียนรู้ ต้องใช้เวลาหน่อย ไม่อยากให้พวกเราไปติดใจอะไรมาก ข้ามๆ กันไป ทั้งนี้คงไม่ถึงกับต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่เกิดความไม่พอใจในการกระทำดังกล่าวของทูตสหรัฐฯ เชื่อว่าอีกสักพักเรื่องอาจจะเบาบางลงไป และเชื่อว่าคนไทยคงไม่เกิดความรู้สึกสะสมกับการกระทำของทูตสหรัฐฯ คนดังกล่าว ที่จะทำให้อุณหภูมิความขัดแย้งนั้นเพิ่มขึ้น แต่คิดว่าเขาจะเข้าใจบ้านเมือง เข้าใจความรู้สึกของเรา
“ยกตัวอย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน เราอยู่ที่นี่โตที่นี่ก็คงรู้ว่าบ้านเมืองเราไม่ใช่ประเทศที่มีปัญหาเรื่องดังกล่าว แต่กลับถูกข้างนอกพยายามสร้างสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ให้มันเป็น ว่าไปแล้วเวทีการประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชน UPR ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ได้รับคำถามในข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิ์มนุษยชน ของเขามากกว่าของเราเยอะ ของเขาตั้ง 300 กว่ารายการ มันไม่ใช่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาแต่อย่างใด ทุกประเทศต้องมีปัญหาลักษณะนั้น ก็ค่อยๆ แก้ไขปรับปรุงกันไป ทั้งนี้ความสัมพันธ์ดีๆ กว่าจะสร้างกันมาถึงจุดๆหนึ่งใช้เวลาเป็นร้อยปี แต่ถ้าให้แตกหักมันทำได้แป๊บเดียว และเราไม่ต้องการให้สิ่งที่สะสมมานานเป็นร้อยปีมันหายไป” นายดอนกล่าว
รมว.ต่างประเทศกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการมองว่าทางการไทยได้พยายามชี้แจงหลายๆ เรื่องกับสหรัฐฯ แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่อาจสร้างความไม่พอใจซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น สื่อเองเวลาทำข่าวต้องทำให้เขาเข้าใจถึงความรู้สึกของคนไทย เพราะปกติเวลาข่าวออกมามันไม่มีแนวเลยที่จะทำให้เขาเกิดความเข้าใจ ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เมื่อข่าวออกไปจะสะท้อนถึงความรู้สึกและทัศนคติคนไทย ตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่ดี ถ้าเรารับรู้มาว่ามีกระแสไม่พอใจเช่นนั้น
เมื่อถามว่า เราสามารถทำความเข้าใจกับทางสหรัฐฯ ในประเด็นกฎหมายมาตรา 112 ได้แล้วหรือไม่ รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า เรื่องนี้พูดกันมาเยอะแล้ว ว่าทุกประเทศก็มีกฎหมายภายในที่จำเป็นสำหรับเงื่อนไขของแต่ละสังคม กฎหมายมาตรา 112 ก็เป็นของเรา ของเขาก็มีอย่างกรณีมีเด็กหนุ่มไปปรามาสประธานาธิบดีเขาก็ยังโดน ก็เช่นเดียวกัน ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่คนที่มาอยู่กับเราต้องเข้าใจคุณค่าความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนที่ว่าเหตุใดประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะอะไร ป่านนี้คงเข้าใจกันหมดแล้ว แต่ทูตสหรัฐฯ มารับตำแหน่งโดยอาจจะไม่มีข้อมูลพื้นฐานเรื่องนี้ว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร เพราะเขาไม่รู้จักประเทศไทย จึงไม่เข้าใจถึงสิ่งที่พระมหากษัตริย์ของเราได้ทำอะไรให้กับประเทศชาติมากมาย แต่เมื่อมารับตำแหน่งเพียงแค่รับทราบว่าพระองค์ท่านได้รับการสดุดีเป็นบิดาของชาติ ก็รู้แค่นั้น แต่เมื่อเขาไม่เคยเห็น ไม่เคยเข้าเฝ้า ก็จะไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขาแคร์ประเทศไทย เข้าใจ และพูดกับคนไทยที่ถูกคน คือคนที่เล่าเรื่องราวด้วยเหตุด้วยผล เขาก็อาจจะเข้าใจได้ดีกว่าไปเจอและพูดคุยกับคนไทยที่ผิดคน เพราะอาจจะเข้าใจไปอีกด้านหนึ่ง
“เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่เขามานั่งคุยด้วย เราหวังว่าคงได้คุยกับกลุ่มคนที่ถูกคน ซึ่งคนที่อยากจะให้เขาคุยด้วยมากที่สุดคืออดีตทูตไทยรุ่นก่อนๆ ที่เคยประจำอยู่สหรัฐฯ คนพวกนี้จะรู้ เพราะภารกิจของทูตคือส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันอดีตทูตสหรัฐฯ ที่เคยประจำประเทศไทยก็คืออีกกลุ่มคนที่เขาควรจะคุยด้วยมากที่สุด จะได้รู้ความหมายและคุณค่าของการมาอยู่เมืองไทยว่าเป็นอย่างไร ทุกคนมาอยู่เมืองไทย รักเมืองไทยทั้งนั้น แต่ถ้าเขาไปคุยกับนักการเมืองในปัจจุบันก็จะมีภาพที่แปดเปื้อนด้วยการเมืองเยอะ ที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความสัมพันธ์เป็นหลัก นักการเมืองจะมองเฉพาะประโยชน์ของกลุ่ม หรือของตัวเองมากกว่า ณ วันนี้เราต้องรู้ว่าภาคส่วนต่างๆมีคนที่มีมุมมองต่างกันเยอะ เท่าที่ได้สัมผัสมุมมองที่สมดุลจริงๆ หายากในยุคนี้ เพราะค่อนข้างเอนเอียงอยู่เสมอ แต่คนที่มุมมองสมดุลจริงๆ ต้องเป็นคนที่ประสบการณ์สูงถึงจะมีความสมดุลในเรื่องทัศนคติ” รมว.ต่างประเทศกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนว่าไทยจะแคร์สหรัฐฯ มากกว่าที่เขาแคร์เรา นายดอนกล่าวว่า เราไม่ได้พูดว่าแคร์หรือไม่แคร์ แต่เราเป็นคนมีเหตุผล เพราะตั้งแต่โบราณกาลมา ที่เราอยู่ได้และมีเพื่อนเยอะแยะ เพราะเราเป็นคนมีเหตุมีผล แต่คนชาติอื่น โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจ เหตุผลนั้นเป็นรอง ความรู้สึกใหญ่โตหรือเหนือกว่าจะเป็นใหญ่ การจัดลำดับอะไรต่ออะไร หรือความรู้สึกย่อมแตกต่างกัน
เมื่อถามว่า การที่ทูตสหรัฐฯ ไม่มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศไทยนั้น แสดงว่าเตรียมตัวน้อยไปหน่อยใช่หรือไม่ ทั้งที่รู้ว่าจะต้องมาประจำที่เมืองไทย นายดอน กล่าวว่า ตนไม่อยากบอกว่าเตรียมตัวน้อยหรือไม่ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ตนเคยคุยกับเขาในช่วงแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง ตนก็ถามว่ารู้ถึงเรื่องโรดแมปของประเทศไทยหรือไม่ เขาก็อาจจะงงๆ รู้เฉพาะเริ่มต้นมีรัฐบาล ต่อไปก็มีรัฐธรรมนูญ แล้วนำไปสู่การเลือกตั้งที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งตนก็ถามว่ารู้หรือไม่ว่าช่วงตรงกลางคือช่วงการปฏิรูป เขาก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้แปลว่าไม่ได้เตรียมตัวมา เพราะถ้าเตรียมตัวเขาต้องรู้มาก่อนว่าประเทศไทยมุ่งมั่นปฏิรูป ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงไปว่าการปฏิรูปเป็นสิ่งสำคัญของประเทศไทย ที่เขาต้องเข้าใจ ว่าทำไมถึงคิดจะต้องปฏิรูป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวคาดหวังหรือไม่ว่าจะไม่เจอเหตุการณ์เช่นนี้อีก นายดอนกล่าวว่า ทุกเหตุการณ์ล้วนเป็นบทเรียนของทุกเรื่องราว และเป็นบทเรียนของทุกคนด้วย รวมถึงตนด้วยและทูตสหรัฐฯ ด้วยที่จะรู้ว่าคนไทยให้อภัยง่าย และหวังว่าจะเข้าใจคนไทยดีขึ้น การจะให้อภัยหมายความว่าต้องเข้าใจคนไทยดีขึ้นอีกประมาณ 300 เปอร์เซ็นต์
เมื่อถามอีกว่า รู้สึกช็อกหรือไม่เมื่อทูตสหรัฐฯ หยิบโพยออกมา พร้อมระบุข้อห่วงใยเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนือการหารือ นายดอนกล่าวว่า “ถ้ามืออาชีพเขาจะไม่ทำอย่างนั้น แต่ที่ผมไม่ไปแย่งไมค์ เพราะถือว่าเรามีประสบการณ์กับเหตุการณ์ประเภทนี้” เมื่อถามอีกว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ ระบุให้ระวังกรณีทางการสหรัฐฯ จะให้ทางการไทยดำเนินคดีต่อคนที่ออกมาพาดพิงทูตสหรัฐฯ นายดอนกล่าวว่า ก็ต้องฟ้อง เขาก็ไปดำเนินการเอา ส่วนที่มีการออกมาระบุว่าทางการสหรัฐฯ จะทักท้วงกับทางการไทยให้ดำเนินการฟ้องร้องบุคคลที่กล่าวพาดพิงทูตสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุการณ์ในอดีตสมัย ืม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชนั้น ไม่มี คนที่พูดเขาไม่รู้เรื่องอะไร ซึ่งตนไม่ทราบว่าใครเป็นคนพูด