รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ เชื่อ “กลิน” จ้อ ม.112 หวังโยงการเคลื่อนไหวของ “วัฒนา” สงสัยพรรคเพื่อไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนสุดแต่กลับมาสวมบทบาทนัดต่อสู้ งงรัฐบาลเดินเกมอย่างไรทำไมต่างชาติลืมหมด แต่แนะแยกเรื่องประชามติออก มึนรัฐห้ามพูดปมโหวตทำขัดแย้งเพิ่ม
วันนี้ (17 พ.ค.) นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาออกมาวิจารณ์เรื่องมาตรา 112 ว่า ตนได้เคยอธิบายให้กับนายกลิน จนเข้าใจชัดเจนแล้วว่าในต่างประเทศเองก็มีกฎหมายที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้เป็นประมุขของประเทศนั้นๆซึ่งนายกลิน ก็น่าจะเข้าใจและก็เลิกมาพูดประเด็นนี้กับตนแทน ก็ไม่รู้ทำไมนายกลินถึงหยิบเอาประเด็นนี้ขึ้นมาอีก โดยเฉพาะตอนไปหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ที่ภายหลังก็ดูเหมือนว่านายกลินจะแถลงข่าวไปคนละประเด็นกับที่คุยกับนายดอนด้วยซ้ำ ส่วนตัวตนฟันธงว่าการที่นายกลินออกมาพูดแบบนี้น่าจะมีอะไรเกี่ยงโยงกับกรณีของนายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ถูกทหารเชิญตัวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลทำให้มีการเคลื่อนไหวในต่างประเทศในเวลาต่อมา
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า อยากตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยที่มีประวัติว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด ทั้งกรณีกรือเซะ ตากใบ ตอนที่เป็นพรรคไทยรักไทย แล้วทำไมตอนนี้ถึงมาสวมบทบาทผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเสีย แล้วต่างประเทศเขาก็มีบันทึกรับรู้เรื่องราวเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่ทางรัฐบาลไทยเดินเกมกับต่างประเทศอย่างไร ทำไมต่างประเทศถึงลืมสิ่งเหล่านี้ไปได้อย่างรวดเร็วมาก จะมีหน่วยงานที่พูดก็แค่องค์การสหประชาชาติเท่านั้น ไม่พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลเลือกตั้ง แต่กลับมาแสดงท่าทีในเรื่องที่เล็กกว่ามาก ดังนั้นรัฐบาลต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้ออกแล้วจะรู้ว่ารัฐบาลจะเดินเกมกับต่างประเทศอย่างไร
“การละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศตอนนี้มีเยอะแยะไปหมด แล้วถ้าเทียบกับกรณีคุณวัฒนา หรืออีก 2-3 คน รวมถึงคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติด้วย ความเข้มข้นของเนื้อเรื่องถือว่าต่างกันมาก ทำไมเราไม่อ่านตรงนี้ให้ออก ทำไมรัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศถึงไม่มองตรงนี้ และทำไมไม่ตั้งคำถามกลับไปที่ประเทศเหล่านั้นว่าทำไมตอนที่มีการละเมิดที่มาจากรัฐบาลเลือกตั้ง ตอนตายไป 3,000 คน ทำไมคุณถึงไม่พูด ดังนั้นการจะดีลกับต่างประเทศผมแนะว่าอย่าไปความจำสั้น” นายเกียรติกล่าว
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้แยกแยะเรื่องประเด็นที่ต่างประเทศเขามาวิจารณ์เรื่องการแสดงความเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้ออกจากกันเป็นคนละเรื่อง ในช่วงที่มีการรัฐประหารเมื่อตอนปี 2549 จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 การทำประชามติในห้วงเวลานั้นก็ไม่ได้มีความวุ่นวายเหมือนในตอนนี้ ตอนนั้นในห้องประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นักข่าวเข้าไปนั่งฟังได้ทุกครั้ง มีการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบเหตุผลในแต่ละเรื่อง กระบวนการเปิดเผยชัดเจน เวลาจะไปลงประชามติก็ไม่มีข้อห้าม แต่การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีหลายประเด็นที่ทำให้เป็นประเด็นขัดแย้งขึ้นมา การให้สัมภาษณ์ก็มีท่าทีที่รุนแรง ดังนั้นตนก็ต้องถามไปยังผู้ร่างและรัฐบาลว่าทำไมจะต้องเดินไปจุดที่มันขัดแย้งเพิ่มขึ้นมากด้วย
นายเกียรติกล่าวต่อว่า ดังนั้นการที่ต่างประเทศมีความเห็นออกมาในเรื่องการทำประชามตินั้นก็เป็นเหตุที่เกิดจากการกำหนดท่าทีของทั้งทางรัฐบาลและทางผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญเอง ถ้าจะมายกกรณีประเทศพม่าที่ถูกโจมตีเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แล้วหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็ไม่มีประเทศไหนออกมาว่าประเทศพม่า ถ้าแบบนี้ตนขอถามว่าทำไมต้องไปเทียบกับพม่า ทำไมไม่เทียบกับประเทศไทยตอนปี 2550 คนที่มาเทียบแบบนี้ ตนคิดว่าก็แค่อยากให้เรื่องจบๆ ไป
“ท่าทีที่เราเห็นในวันนี้ มันมีท่าทีบางเรื่องที่มีเนื้อหามาจากรัฐธรรมนูญมาเป็นประเด็น ถ้าตั้งโจทย์คือเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง มันควรจะถกกันได้ แต่ท่าทีของบางคนบางกลุ่มบางพวกมันเป็นท่าทีทางการเมือง อย่าเอาไปปนกันทั้งหมด แยกแยะให้ถูก และการไปดำเนินการกับความเคลื่อนไหวเหล่านี้ก้ต้องทำให้ถูก” นายเกียรติกล่าว