ทูตสหรัฐฯ เข้าเยี่ยมคารวะ รมต.สำนักนายกฯ เผยมิตรประเทศขอไทยหวังให้เดินตามโรดแมป “ปนัดดา” รับทุกฝ่ายกังวลหลังเลือกตั้งจะกลับสู่ความขัดแย้ง แนะการศึกษาช่วยให้รู้ความหมายความรับผิดชอบ ปชต. ไม่มีคุยเรื่องจับ นศ.-เลื่อนเลือกตั้ง
วันนี้ (29 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 30 นาที จากนั้นนายกลินเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าได้หารือกันในหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องงานของ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงเรื่องโรดแมปของรัฐบาล และเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและความร่วมมือและเรื่องที่สหรัฐฯ จะสามารถช่วยประเทศไทยได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความห่วงใยในเรื่องโรดแมปของไทยเป็นพิเศษหรือไม่ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ต้องรอ คงต้องขออ่านดูก่อนและหวังว่าขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินโรดแมป ขั้นตอนการนำพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นเร็ววันซึ่งมิตรประเทศของประเทศไทยทุกประเทศก็หวังอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะเดินไปตามที่รัฐบาลวางไว้
ด้าน ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ถือเป็นอัธยาศัยไมตรีอย่างมากที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้นำความปรารถนาดีมา และเห็นความร่มเย็น ความสงบสุขเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งตนได้กล่าวขอบคุณที่มีความปรารถนาดีมายังรัฐบาล ภาคราชการ ประชาชนคนไทย
“พูดกันว่าทุกฝ่ายคิดคล้ายกับที่พวกเราวิตกกังวลกัน คือเกรงว่าหลังเลือกตั้งจะกลับคืนสู่ความขัดแย้งกันอีกหรือไม่ เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้เสนอแนวคิดที่ดีมากคือเรื่องการศึกษาที่จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่มีความชัดเจน ความหมายของความรับผิดชอบ ความหมายของประชาธิปไตย และอะไรทั้งหลายทั้งปวง เช่น เรื่องความสัมพันของไทย-สหรัฐฯ ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ยาวนานมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ อาจมีความเข้าใจในประเทศไทยไม่เหมือนกับที่เป็นเราทุกวันนี้” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการถามถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯ คัดค้านการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เมื่อถามว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้สอบถามถึงกรณีที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่าอาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นปลายปี 2560 หรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ไม่ได้พูดกันในรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ตนคิดว่าการที่มีการพูดถึงเรื่องการเลื่อนเวลาดังกล่าวนั้น คงเป็นการคาดเดากันไปมากกว่า ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้การเลื่อนเวลาการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เวลาถึง 8 เดือนนั้นก็เป็นความจำเป็นและหวังว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจว่าประเทศจะต้องเดินไปสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในกลางปีหน้า และทุกคนก็อยากเห็นประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย มีความร่มเย็น สามัคคีกันเหมือนในอดีต