xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงโรดแมปไทยต่อทูตมะกัน หนุนโหวตโนคว่ำผู้ชนะ ส.ส.แต่ค้านแบนตลอดชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสรับตำแหน่ง บอกคุยสร้างสัมพันธ์ทวิภาคีให้แกร่งขึ้น ถามพัฒนาการสู่ประชาธิปไตย ด้าน “วิษณุ” อธิบายโรดแมป หนุนแนวคิดโหวตโนคว่ำผู้ชนะ ส.ส. เขต ให้เสียงมีความหมาย แต่ค้านตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.30 น. นายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง จากนั้น นายกลิน ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบว่า ได้พูดคุยกับนายวิษณุหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ความร่วมมือในหลายมิติ ทั้งเรื่องสาธารณสุข การบังคับใช้กฎหมาย ธุรกิจของสหรัฐฯในประเทศไทย รวมถึงคนอเมริกันที่อยู่ในประเทศไทย ความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ การต่อต้านยาเสพติด ตลอดจนพัฒนาการของประเทศไทยที่กำลังจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังมีการปรึกษาหารือถึงเรื่องโรดแมปด้วย

ด้าน นายวิษณุ กล่าวว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี ซึ่งตนได้อธิบายโรดแมป 6-4, 6 -4 รวมแล้ว 20 เดือน หรือประมาณ พ.ค. 60 จะมีการเลือกตั้งให้ท่านฟังเหมือนกับทูตทุก ๆ ประเทศ ซึ่งนายกลิน ถามเหมือนกันว่าตัวเลขดังกล่าวมาจากไหน จึงอธิบายให้ฟังซึ่งเขาเข้าใจ และเขาไม่ได้ถามว่าโรดแมปสั้นกว่านี้ได้หรือไม่ แต่ตนแจ้งไปก่อนว่าอย่างไรไม่เกิน 20 เดือน จะสั้นกว่านี้ได้ขึ้นอยู่กับงานแต่ละช่วงที่ทำได้เสร็จเร็ว โดยเฉพาะงานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ และการทำกฎหมายลูก

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุ บุคคลที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องมีคะแนนมากกว่าคะแนนของผู้ที่มาใช้สิทธิไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโน ว่า เป็นความคิดที่มีมานานตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 10 - 20 ปีที่แล้ว ว่า เมื่อเรายอมรับให้มีคนไปโหวตโนแล้ว ต่อมามีคำถามมาตลอดว่าการไม่เอาพรรคไหนเลยมีความหมายอย่างไร คำตอบคือไม่เอาใคร แต่ถามต่อไปว่าแล้วที่ไม่เอาพรรคไหนเลย มีจำนวนมากกว่าผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตนั้นจะทำอย่างไร คำตอบในอดีตคือไม่เกิดอะไรขึ้น คะแนนโหวตโนจึงเป็นศูนย์ ดังนั้น จะทำอย่างไรเราจึงจะเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนบ้าง วันนี้เกือบจะมีการคิดออก คือ คนชนะจะต้องมากกว่าคะแนนโหวตโน ไม่เช่นนั้นจะต้องเลือกใหม่ ถ้าอย่างนั้นอาจจะแฟร์ เพราะเป็นการเคารพเสียง เนื่องจากเรื่องนี้มีความสำคัญ จะต้องทำอย่างไรให้คะแนนที่เยอะมีความหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า วิธีนี้ใช้ในประเทศไหนบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ตนนึกไม่ออก เพราะในหลายประเทศไม่ได้มีเรื่องโหวตโน แต่ประเทศไทยเรายอมรับให้มีการโหวตโน และส่วนตัวเห็นด้วยกับการให้เสียงโหวตโนมีความหมาย เพียงแต่ยังไม่คิดออกว่าจะเอามาใช้ประโยชน์อย่างไร เมื่อถามว่า การตัดสิทธิบุคคลไม่ให้มีสิทธิกลับมาลงสมัครอีกหากแพ้คะแนนโหวตโน ในประเทศต่าง ๆ มีหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คิดว่าไม่มี และตนยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไรให้เคารพคะแนนโหวตโน สูตรพิสดาร แต่อย่างไรก็ตาม การจะไปตัดสิทธิ์ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่แพ้คะแนนโหวตโนตลอดชีวิตคงไม่ได้ อย่างนั้นไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเขาพลาดหนนี้ก็ไม่ได้แปลว่าเขาชั่วร้ายอะไร








กำลังโหลดความคิดเห็น