“ทูตอังกฤษ” ไม่ขัดหาก “บัวแก้วไทย” ขอคำชี้แจง เหตุทวีตยก 2 เคส “กลุ่ม ปชต.ใหม่-กลุ่มเคลื่อนไหวหน้าสถานทูตสหรัฐฯ” ข้องใจไทยให้เสรีภาพแบบไหน ด้านเพจบีบีซีไทยอ้างแหล่งข่าวบอกตำรวจไทยขอหลักฐานคำพูดของทูตมะกัน จากสมาคมสื่อต่างประเทศ ส่วน “กลิน ที เดวีส์” ปัดให้ความคิดเห็น หลังถูกแจ้งความ ม.112 เผยมุ่งทำงาน มีเรื่องอื่นให้คิดมากกว่า
วันนี้ (11 ธ.ค.) นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ได้แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวในประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย กรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวกลุ่มนักศึกษาที่จะเดินทางโดยรถไฟไปยังอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่าเนื้อหาในการแสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ของตนนั้นมีความชัดเจนอยู่แล้ว จึงคงไม่ต้องมีการอธิบายความใดเพิ่มอีก อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงการต่างประเทศจะเชิญตนเข้าไปพูดคุยด้วยนั้นถือเป็นการตัดสินใจของทางการไทย โดยตนมีความพร้อมที่จะพูดคุยด้วยอยู่แล้ว
เมื่อวันอังคาร (9 ธ.ค.) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตนขอดูรายละเอียดและพิจารณาก่อนว่าจะต้องเชิญมาพูดคุยกันหรือไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวยังมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปหลายทาง ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้สอบถามเรื่องการแสดงความเห็นของทูตต่างประเทศอยู่บ้างซึ่งตนก็ได้อธิบายให้รับทราบแล้ว
อีกประเด็นหนึ่ง นายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่มีผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ของไทย จึงไม่ขอคิดถึงหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ แต่ตนไม่รู้สึกกังวลต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากตนมีงานที่หนักในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มากพออยู่แล้ว โดยยืนยันจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป และส่วนตัวมีความสุขกับการอยู่ในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา จึงหวังว่าจะได้ทำงานในไทยต่อไปอีกนาน
เมื่อต้นสัปดาห์ เพจเฟซบุ๊ก สำนักข่าวบีบีซีไทย - BBC Thai อ้างแหล่งข่าวจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ตำรวจกำลังดำเนินการสืบสวนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า นายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวข้อความที่อาจเป็นการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง
แหล่งข่าวจาก FCCT ระบุว่า ได้รับการติดต่อจากตำรวจ เพื่อขอความร่วมมือในการสืบสวนรวบรวมข้อมูล กรณีที่เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ทูตสหรัฐฯ ได้ขึ้นกล่าวที่ FCCT แสดงความกังวลต่อการที่ศาลทหารพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 ด้วยโทษจำคุกที่ยาวนานและรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยตำรวจต้องการพิจารณาว่า ข้อความดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ แม้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า เอกอัครราชทูตได้รับเอกสิทธิ์การคุ้มกันทางการทูตตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติตำแหน่งแล้ว “แม้ว่านายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จะวิจารณ์เรื่องดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. แต่ได้รับประทับตราแต่งตั้งวันที่ 27 พ.ย.ก็ตาม ขณะนี้ก็ยังได้รับเอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูตอยู่”
ด้านนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีหลายฝ่าย รวมถึงคณะผู้แทนต่างประเทศที่พำนักในประเทศไทยได้แสดงความคิดเห็น และแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย เรื่องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งสะท้อนว่า ยังคงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนั้น ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจง และทำความเข้าใจแก่คณะทูตและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศประจำประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำในเรื่องพัฒนาการทางการเมือง ความคืบหน้าในการดำเนินการตามโรดแม็ป การดำเนินการเพื่อการปฏิรูปในมิติต่างๆ รวมถึงแนวนโยบายและมาตรการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาสำคัญ อาทิ ปัญหาการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง การทำประมงผิดกฎหมาย และการลักลอบค้ามนุษย์ อีกทั้งได้ร่วมกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จัดการบรรยายสรุปเพื่อให้คณะทูตานุทูตรวมถึงสาธารณชนได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะเอกอัครราชทูตจากสหภาพยุโรป (อียู) ได้เข้าพบนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เพื่อหารือในประเด็นสำคัญต่างๆ ภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตร โดยนายดอนได้อธิบายถึงสถานการณ์ภายในประเทศ และแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการตามโรดแมปสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม ในขณะที่คณะเอกอัครราชทูตแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับฝ่ายไทย และชื่นชมการดำเนินการของรัฐบาลไทย ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างไทยกับอียู และเป็นปัจจัยบ่งบอกว่าคณะเอกอัครราชทูตจากอียูมีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างดี รวมถึงตระหนักถึงความพยายามของรัฐบาลในการบริหารจัดการกับประเด็นท้าทายต่างๆ ที่กำลังประสบอยู่ โดยพร้อมจะยืนเคียงข้างประเทศไทยในฐานะมิตรประเทศ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในสาขาต่างๆ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น