สะพัด! “คณะทำงาน ป.ป.ช.” ถอย! มีมติ “ไม่ถอนฟ้องคดีสั่งสลายพันธมิตร ปี 51” ปล่อย “สมชาย-พัชรวาท-สุชาติ” รับกรรม ย้ำเหตุไม่ถอนฟ้อง เชื่อ “พยานหลักฐานที่ผู้ร้องยื่นเข้ามาไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ” เตรียมลงนามรับรองมติ 24 พ.ค. ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ตัดสิน 26 พ.ค.นี้อย่างเป็นทางการ
วันนี้ (17 พ.ค.) มีรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาคณะทำงานที่มีนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551 ได้ประชุมกันเป็นนัดสุดท้ายเพื่อพิจารณาว่าท้ายสุดจะมีการยื่นถอนคดีดังกล่าวหรือไม่ ก่อนส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติในช่วงสัปดาห์สุดท้ายปลายเดือน พ.ค.นี้
โดยผลการลงมติ “คณะทำงานมีมติไม่ถอนฟ้อง” ในคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 51 เพราะมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าไม่ควรถอนฟ้องในคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องยื่นเข้ามาไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ นอกจากนี้ได้ชี้แจงเหตุผลต่อข้อร้องเรียนเป็นข้อๆ จนเสร็จสิ้นข้อสงสัยแล้ว”
ทั้งนี้ ภายหลังมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ให้คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายไปดูตามคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.) โดยอ้างพยานหลักฐานใหม่ว่ามีสิทธิ์ถอนฟ้องหรือไม่ ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีมติตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าวขึ้นมา
มีรายงานว่า ภายหลังประชุม นายสรรเสริญเปิดเผยว่า ที่ประชุมของคณะทำงานได้ข้อสรุปแล้วว่าจะเสนอแนวทางอย่างไร โดยให้เลขานุการของคณะทำงานฯ สรุปรายละเอียดและเรียบเรียงจัดทำเอกสาร เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานฯลงนามมติดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 24 พ.ค. 2559 ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันที่ 26 พ.ค.นี้ อย่างเป็นทางการ
“ขณะนี้คณะทำงานได้แนวทางที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีความเห็นชอบอย่างไรนั้น คงจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง สำหรับแนวทางที่เสนอนั้น ไม่ได้มีเป็นข้อๆ แต่เป็นเพียงภาพรวมที่ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความคิดเห็นต่างๆ” นายสรรเสริญกล่าว
ส่วนประเด็นที่สื่อมวลชนสงสัยว่าคณะทำงานฯ จะมีข้อเสนอแนะต่อประเด็นนี้ที่เกี่ยวโยงกับ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เพื่อให้ข้อเสนอแนะว่า ควรจะร่วมลงมติหรือไม่นั้น นายสรรเสริญกล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ของคณะทำงาน เพราะมีหน้าที่เพียงพิจารณากรอบการทำงาน ตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.ชี้แจงว่า แนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบที่สุด เนื่องจากอาจจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมขององค์กร นอกจากดูในประเด็นพยานเอกสารหลักฐานใหม่ที่ผู้ร้องยื่นมาว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ มีความเหมาะสมหรือไม่ และกฎหมายให้ทำได้หรือไม่ เนื่องจากต้องส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว และยังต้องดูระเบียบศาลฎีกาฯ ด้วยว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งต้องถูกต้องตามข้อกฎหมายด้วย
มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณาตามข้อเสนอของคณะทำงานฯ ว่า มีความเห็นอย่างไร ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ร้องหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องความถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมาย ป.ป.ช. เพราะ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ต้องดูตรงนี้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณาโดยนำ 2 สำนวนคดีที่คล้ายกัน คือ คดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 กับคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551 มาเปรียบเทียบกัน โดยดูว่าการดำเนินการสลายการชุมนุมในปี 2551 เป็นการใช้แผนปฏิบัติการฉุกเฉินในการสลายการชุมนุมหรือไม่ เนื่องจากการดำเนินการสลายการชุมนุมปี 2553 จะมีแผนการปฏิบัติงานตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
ส่วนกรณีความเหมาะสมที่ พล.ต.อ.วัชรพลจะร่วมลงมติถอนฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่นั้น พล.ต.อ.วัชรพลต้องพิจารณาเองว่าในเมื่อเป็นประเด็นทางสังคม และมีคนท้วงติงก็อาจจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเกี่ยวข้อง เนื่องจากประธาน ป.ป.ช.เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรหรือไม่ควรนั่งร่วมพิจารณา จะถอนตัวในการลงมติหรือไม่ คนอื่นคิดแทนไม่ได้