“ยะใส” ไม่สบายใจ ป.ป.ช.ดันถอนฟ้องคดีสลาย พธม. ซัด ป.ป.ช.บางคนไม่บริสุทธิ์ใจ ชี้ชัดถูกกลุ่มอำนาจพิเศษบงการ ไม่สนกระแสสังคม ตั้งธงไว้แล้ว ดักใช้หลักอะไรเป็นบรรทัดฐาน ติงผลักภาระให้ศาล ถ้าไม่รับถอนฟ้องจะรับผิดชอบยังไง แนะเอาเวลาทำคดีที่ค้างอีกเพียบ ชี้กระทบงานปราบโกง
วันนี้ (15 พ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวถึงกระแสข่าวกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ ในเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.2551 ว่า ตนไม่สบายใจที่มีข่าวจากวงใน ป.ป.ช.ที่ยังมีความพยายามที่จะผลักดันในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่กระแสสังคมไม่เห็นด้วย และมองว่าเรื่องนี้ส่อเจตนาที่ไม่สุจริตใจของกรรมการ ป.ป.ช.บางส่วน เพราะเท่าที่ทราบ กรรมการ ป.ป.ช.หลายท่านอึดอัดในความพยายามนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการท้าทายสังคมแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดกฎหมายเสียเอง ทำให้เรื่องนี้ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่าถูกบงการโดยกลุ่มคน และอำนาจพิเศษบางอย่าง การถอนฟ้องคดี 7 ต.ค.51 เป็นเหมือน “Saving private ryan ภาคพิสดาร” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เอาพลทหารไปรบในสงครามจำนวนมาก ทั้งๆ ที่รู้ว่าพ่ายแพ้ ซึ่งกรณีนี้ก็เช่นเดียวกันจะผลักดันให้ได้โดยไม่คำนึงว่าจะกระทบต่อหลักการ ขื่อแปของบ้านเมืองแค่ไหนก็ตาม แต่ทำเพื่อเป้าหมายของใครบางคน โดยที่ ป.ป.ช.ก็ไม่สนใจเสียงนกเสียงกาทั้งนั้น
“อนุกรรมการ ป.ป.ช.ที่ดูเรื่องนี้ก็อึดอัด เพราะมีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า ทั้งที่นักกฎหมายหลายคนก็ทักท้วงว่า เป็นเรื่องที่อยู่นอกเขตอำนาจ ป.ป.ช. ไปอยู่ในเขตอำนาจศาลแล้ว แต่ นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ก็บอกว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจ และอาจเป็นการกระทำที่มิชอบเสียเอง ซึ่งเรื่องที่เป็นข้อห่วงใยของ ป.ป.ช.ภายในกันเองยังมีอีกประเด็น คือ หากเรื่องนี้ทำได้ถอนฟ้องได้ จะมีเรื่องอื่นตามมาอีกหรือไม่ หรือจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้คดีอื่นผู้ถูกกล่าวหา ก็อาจใช้สิทธิเดินตามเอาอย่างร้องทุกข์ถอนฟ้องกันทั้งประเทศ แล้ว ป.ป.ช.จะใช้หลักอะไรเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยว่าถอนได้หรือไม่ได้ และอาจถูกมองว่าถูกเลือกปฏิบัติได้ในที่สุด อีกหน่อยคงมีผู้ถูกกล่าวหาคดีทุจริตจำนำข้าวขอใช้สิทธินี้บ้าง ป.ป.ช.จะอธิบายสังคมอย่างไร”
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ล่อแหลม และอ่อนไหวที่สุดจะถือเป็นการกดดัน และผลักภาระไปให้ศาลหรือไม่ เพราะคดี 7 ต.ค.51 อยู่ระหว่างการไต่สวนคดี ดังนั้น กรรมการ ป.ป.ช.ที่ผลักดันถอนฟ้องจะรู้ได้อย่างไรว่าศาลท่านเอาด้วย หรือยอมให้ถอนฟ้อง และอะไรทำให้มั่นใจกล้าผลักดันมติที่สุ่มเสี่ยงได้ขนาดนั้น และถ้าศาลท่านไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง ป.ป.ช.จะรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร หวังว่าคงไม่ออกมาบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของศาล ทาง ป.ป.ช. ต้องยุติให้เร็วที่สุด ไปต่อไม่ได้ก็ไม่ควรดื้อดึงเพราะกระทบ และสวนทางต่อบรรยากาศที่หลายฝ่ายอยากเห็นการปฏิรูป ควรเอาเวลาไปทุ่มเทคดีที่ค้างอยู่ที่ ป.ป.ช.มากมายที่กำลังจะหมดอายุความจะดีกว่า ในยุคที่อยากเห็นการปราบโกงอย่างจริงจัง แต่บรรยากาศใน ป.ป.ช.กับถูกปกคลุมด้วยวาระบางอย่างจนอาจกระทบต่อการทำงานปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่สังคมคาดหวัง ป.ป.ช.