xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษา กม.ชี้ กกต.มีอำนาจหน้าที่รับวินิจฉัยทำผิดประชามติ ถือเป็นผู้เสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกต.ถกร่วมที่ปรึกษา กม.เผย ฝ่าฝืนประชามติ มีหน้าที่รับวินิจฉัยตามอำนาจ ถือเป็นผู้เสียหาย เหตุ กม.ประชามติให้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนตาม พ.ร.บ.กกต. ไม่ทำเจอละเว้นหน้าที่ เตรียมพิจารณาต้องแก้ระเบียบหรือไม่

วันนี้ (16 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. ที่มีนายสุรินทร์ นาควิเชียร อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นประธาน เพื่อหารือกรณีก่อนการออกเสียง หากมีเรื่องร้องเรียนหรือเป็นกรณีที่ กกต.พบว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ กกต.มีอำนาจที่จะสืบสวนสอบสวนและมีคำวินิจฉัย ได้เหมือนกับกรณีร้องเรียนการเลือกตั้งในการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เห็นตรงกันว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติว่า ในการจัดการออกเสียงให้ถือว่าการดำเนินการของ กกต.เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.ป.กกต. ซึ่งหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของ กกต.ตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 12 พ.ร.ป.กกต.กำหนดว่าเมื่อมีการกล่าวหาหรือมีความปรากฏต่อ กกต.ว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ กกต.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว ดังนั้น กกต.จึงถือเป็นผู้เสียหายที่หากมีการร้องเรียนการกระทำผิดในการออกเสียงประชามติ กกต.ก็ต้องรับเรื่องและดำเนินการสืบสอบสวน และมีคำวินิจฉัยว่ามีผลต่อการออกเสียงหรือไม่ รวมทั้งอาจเป็นผู้เสียหายแทนเจ้าทุกข์ในกรณีที่ต้องมีการดำเนินคดีอาญาด้วย หากไม่ดำเนินการหรือดำเนินการเฉพาะเรื่องร้องคัดค้าน ก็เสี่ยงที่ กกต.จะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติ ซึ่ง กกต.ก็จะได้มีการนำผลการหารือดังกล่าวเข้าที่ประชุม กกต.เพื่อมีมติต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กกต.ได้วางแนวปฏิบัติว่าในกรณีก่อนการออกเสียงประชามติ หากมีการร้องเรียนการกระทำผิด กกต.ทำได้เพียงแนะนำผู้ร้องให้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติเป็นความผิดอาญาที่กฎหมายไม่ได้ให้ กกต.เป็นผู้เสียหาย กกต.จะรับพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะกรณีการร้องคัดค้านการออกเสียงที่จะเกิดขึ้นภายหลังการลงคะแนนออกเสียงแล้วเท่านั้น โดย กกต.ได้มีการออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยคำร้องเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... แต่เมื่อคณะที่ปรึกษากฎหมายมีความเห็นดังกล่าว ทาง กกต.ก็จะพิจารณาว่าจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขระเบียบหรือไม่ หรือจะออกเป็นมติ กกต. และให้เป็นแนวทางไปยัง กกต.จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไปกรณีมีการมายื่นเรื่องร้องเรียน


กำลังโหลดความคิดเห็น