xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการติง ส.ว.ส่อมีอำนาจมาก แนะ คสช.กลับมาเป็นผู้คุมเกม แจงผลหาก รธน.ไม่ผ่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (แฟ้มภาพ)
มธ.เสวนาวันปรีดี อาจารย์นิติ มช.ยกคำ “ปรีดี” รัฐธรรมนูญไม่เท่ากับประชาธิปไตย สงสัยสังคมไทยยอมรับรัฐประหารชอบธรรมได้อย่างไร ยัน ส.ว.ต้องไม่แต่งตั้ง ด้าน “สิริพรรณ” เทียบร่างรัฐธรรมนูญ ติง ส.ว.ส่อมีอำนาจมากเลือกนายกฯ ได้ถึง 2 สมัย แถมคงอำนาจ คสช.เมื่อ รธน.ผ่านจะเกิด กม.คู่ขนาน ชี้ระบบเลือกตั้งปันส่วนทำเสียงประชาชนถูกบิดเบือน แนะคำถามพ่วงควรตรงไปตรงมา ขณะที่ “ปริญญา” ชูเป็นผู้สร้างรอยต่อระบอบ ระบุฉบับล่าสุดไม่ได้แก้ปัญหาเมื่อปี 2517 สับ คสช.กลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียทางการเมือง แนะมาคุมเกมและบอกแนวทางหากโหวตไม่ผ่าน

วันนี้ (11 พ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาเรื่อง “การร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย : บทเรียนจากป๋วยและปรีดี” เนื่องในโอกาส ‘วันปรีดี พนมยงค์’ ประจำปี 2559 โดยมี รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมเสวนา

โดย รศ.สมชายระบุว่า หัวใจสำคัญที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากร ผลักดันเรื่องเสรีประชาธิปไตยในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2517 เช่น ทำให้เกิดการยอมรับมโนธรรมและความคิด ซึ่งไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชน เยาวชนมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง ทว่า ความคิดดังกล่าวก็แพ้ในการลงมติการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นโศกนาฏกรรมของปัญญาชนสาธารณะ ดังนั้น สภาจึงไม่ใช่พื้นที่ปัญญาชนเข้าไปผลักดันได้ อย่างไรก็ตาม อ.ปรีดีได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องคือจัดทำรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ พบว่าช่วงแรก อ.ปรีดี มีบทบาทผู้นำคณะราษฎร มีอำนาจแต่ขาดความจัดเจน แต่ในทางสาธารณะแสดงความเห็นเกี่ยวกับหลักการและเนื้อหารัฐธรรมนูญ มีชัดจัดเจนแต่ไม่มีอำนาจ คือ หลัง 14 ตุลา 2516

นายสมชายกล่าวว่า รัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่จัดเจนสำหรับ อ.ปรีดี ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญไม่เท่ากับประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญคือระเบียบการปกครองแผ่นดินของรัฐ แต่ไม่ใช่ว่าประเทศที่มีรัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตยเสมอไป อาทิ สมัยมุโสลินีของอิตาลี และสมัยถนอม ประภาสน์ ปกครองด้วยระบอบเผด็จการแต่ก็มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ขณะเดียวกัน จากการศึกษาของนักวิชาการต่างประเทศ เรียกว่า “รัฐธรรมนูญที่ไม่มีแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศแถบละตินอเมริกา แอฟริกา รวมถึงเอเชีย ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ ยังมีอีกหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น

นายสมชายกล่าวว่า นอกจากนี้ น่าสนใจสังคมไทยยอมรับอำนาจรัฐประหารเป็นความชอบธรรมได้อย่างไร เป็นคำถามที่ต้องช่วยกันคิด เพราะความเห็น อ.ปรีดี ให้ความหมายประชาธิปไตย โดยถือมติปวงชนเป็นใหญ่ทั้งในระดับชาติท้องถิ่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าคณะราษฎรให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2477 อย่างไรก็ดี หลายประเทศที่มี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดย อ.ปรีดีเห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะ ส.ว.จะมาจากทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ แต่ไม่ใช่การแต่งตั้ง เพราะถือว่าอภิสิทธิชน เป็นการผูกขาดอำนาจการปกครองไว้โดยเด็ดขาดตลอดกาล เท่ากับชาติจะมีรัฐอภิสิทธิชน โดยอภิสิทธิชนเพื่ออภิสิทธิชน อ.ปรีดียังระบุหลักการสำคัญการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ที่ทัศนะผู้ร่างจะยืนหยัดในอภิสิทธิชนหรือปวงชน เพราะจะสะท้อนเจตนาของผู้ร่างได้อย่างดี ทั้งหมดที่กล่าวมาควรจะเรียนรู้และต่อยอดทางความคิดของ อ.ป๋วย และอ.ปรีดี ให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ได้อย่างไร

“อ.ปรีดี เคยแสดงความเห็นไว้มาก แต่มีเรื่องน่าสนใจ คือ หมวดที่ 4 แนวคิดประชาธิปไตย ข้อ 4.5 เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร ซึ่ง อ.ปรีดีได้อธิบายว่า สิ่งที่เสนอควรต้องดูด้านของเผด็จการด้วย ไม่ใช่ดูฝ่ายประชาธิปไตย คือ ควรรู้เขารู้เรา เพราะระบบอำนาจนิยมไม่ได้ตั้งมั่นในอากาศ แต่มีเครือข่ายสนับสนุน ผ่านโครงสร้างทางรัฐธรรมนูญ เป็นเผด็จการเชิงเครือข่าย” นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวว่า ทั้งนี้ ได้มีงานวิชาการศึกษาเรื่องนี้ไว้ โดยรัฐธรรมนูญที่สร้างนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ขณะที่นักวิชาการญี่ปุ่น ได้ศึกษาเกี่ยวกับบุคคลที่เข้าไปนั่งในองค์กรอิสระ โดยเฉพาะประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มาหลากหลาย แต่หลังรัฐธรรมนูญ 2550 กลับมีที่มาเดียวกัน ขณะเดียวกัน ภายหลังจากจากรัฐประหารออกไป อ.ปรีดีเคยพูดในเยอรมันหลังหมดยุคนาซี ได้ถกเถียงว่าจะจัดการอย่างไรกับกฎหมายที่เกิดในยุคเผด็จการเพื่อให้ประเทศเกิดการพัฒนา ถ้าอยากให้สังคมไทยพ้นจากอำนาจนิยม

ด้าน รศ.ดร.สิริพรรณอภิปรายว่า งานของ อ.ปรีดี ที่สามารถประเมินการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้ คือ “ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ” โดยเป็นงานเขียนเมื่อปี 2517 หรือ 42 ปีที่แล้ว ซึ่งในงานเขียนดังกล่าว อ.ปรีดี ให้คำจำกัดความประชาธิปไตยว่า เป็นการปกครองที่ถือมติของปวงชนเป็นใหญ่ และมองว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันมาก่อนระบอบใดในโลก แต่มาสู่จุดสิ้นสุดเมื่อมีระบบทาสและศักดินาเข้ามา โดยตนมี 6 ประเด็นที่วิพากษ์การร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือ

1. บทเฉพาะกาล ซึ่ง อ.ปรีดี มองว่าบทเฉพาะกาลเป็นเนื้อหาที่จะนำไปสู่บทถาวรที่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นอำมาตยาธิปไตย โดยในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ 2559 นั้น ตั้งแต่มาตรา 272-279 ถือเป็นสาระสำคัญและหัวใจของรัฐธรรมนูญนี้ โดยตามมาตรา 272 ที่ระบุให้สมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 สามารถยกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อฯ ของพรรคการเมืองได้ โดยให้ ส.ส.กลับไปเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ แต่ในคำถามพ่วงประชามติ กลับให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ จะเห็นได้ว่าหากคำถามประชามติผ่าน จะทำให้ ส.ว. มีอำนาจมากในการโหวต ส่วนในมาตรา 265 ที่ให้คงอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ควบคู่กับการใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ดังนั้นจะทำให้เกิดสภาพกฎหมายสูงสุดคู่ขนาน

2. ประเด็น ส.ส.ประเภทที่ 2 หรือ ส.ว.นั้น อ.ปรีดีมองว่าควรมีไว้เพื่อช่วยพยุงประชาธิปไตยให้ทรงตัวได้ ไม่ใช่เป็นตัวถ่วงอำนาจ ส.ส. อีกทั้ง อ.ปรีดีก็ไม่ได้รังเกียจที่จะมีการเลือกตั้งทางอ้อม แต่ถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งถูกแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ใช้อำนาจคัดเลือกแล้ว เป็นการสรรหา ไม่เรียกว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งในบทเฉพาะกาลร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มา ส.ว.นั้นมี 250 คน โดย 50 คนแต่งตั้งจากที่ กกต.ดำเนินการคัดเลือก 194 คน มาจากการสรรหาจากคณะกรรมการที่ตั้งโดย คสช.และอีก 6 คนมาจากฝ่ายความมั่นคง โดยให้มีวาระ 5 ปีนั้น ซึ่งหากประเมินคำถามพ่วงฯ แล้ว ก็จะเห็นว่าอำนาจของ ส.ว.ชุดนี้สามารถเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อย 2 สมัย

3. ระบบการเลือกตั้ง อ.ปรีดี เชื่อในความเท่ากันของหนึ่งคนหนึ่งเสียง ไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งพวงใหญ่ เพราะทำให้เสียงของประชาชนมีความหมายแตกต่างกัน ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาค ถ้าวิเคราะห์ระบบเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญฯ แล้ว ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมนั้น ทำให้พรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และเสียงของประชาชนถูกบิดเบือน เพราะบางคนชอบพรรคแต่ไม่ได้ชอบตัวบุคคลในพรรค

4. การให้ความสำคัญกับคุณค่าของรัฐธรรมนูญ อ.ปรีดีได้ประเมินจุดยืนของผู้ร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไว้ 2 ด้านว่า ในด้านแรกจะต้องมีทัศนะที่ยืนหยัดในประโยชน์และมีบทบัญญัติของปวงชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ให้อภิสิทธิชนเป็นใหญ่ เพราะถ้าร่างโดยอภิสิทธิชนและให้ประโยชน์ต่ออภิสิทธิชนแล้ว ก็จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นอำมาตยาธิปไตย ไม่มีคุณค่าต่อประชาชน และด้านที่ 2 ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นแม่บทของกฎหมายทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติ และยังคงอำนาจ คสช.ไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ปี 2557 แล้ว คำถามคืออะไรจะเป็นแม่บทของกฎหมาย

5. วิธีการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน จะพบว่ามีมาตราที่มากขึ้น และมีเนื้อหาที่ยืดยาวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง อ.ปรีดีเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ดีควรจะมีความกะทัดรัด ไม่มีคำฟุ่มเฟือย ใช้คำง่ายที่สามัญชนเข้าใจได้ และถ้ามีบทบัญญัติที่เป็นประชาธิปไตยในร่างฉบับเดิม ก็ควรยกมาทั้งมาตรา ไม่ใช่ยกเลิกหรือขยายให้มีหลายมาตรา ซึ่งตนเห็นว่าในคำถามพ่วงฯ นั้นควรจะถามประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่า จะให้ ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกฯ หรือไม่ ไม่ใช่ใช้คำที่ประชาชนเข้าใจยาก

6. ในเรื่องของการทำประชามตินั้น ถือเป็นช่องทางให้เสียงประชาชนแสดงออกมา โดย อ.ปรีดีเห็นว่า ประชามติที่จะได้ผลสำหรับสังคมขนาดเล็ก แต่ทุกวันนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้การทำประชามติ ทำได้ในพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งผู้ทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น ทำไมไม่แจกตัวร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่แจกสรุปไปให้ และจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และผู้ที่ชี้แจงจะปราศจากอคติ และการห้ามไม่ให้นำเสนออีกด้าน ก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักสากลด้วย

“ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดในการรำลึกถึงก็คือ การนำแนวทางไปปฏิบัติ มากกว่าที่จะอ่านงานและวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจะถือว่า เป็นรำลึกถึงที่ดีที่สุด” รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

ขณะที่นายปริญญากล่าวว่า หลังจากที่คณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ อ.ปรีดีได้ดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 7 โดยมีเนื้อหาให้อำนาจสูงสุดจากเดิมเป็นของพระมหากษัตริย์มาให้แก่ราษฎรทั้งหลาย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นชอบ จึงถือว่า อ.ปรีดีได้ดำเนินการสร้างรอยต่อระหว่างระบอบราชาธิปไตยเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาได้ให้สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งทันที ต่างจากในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาที่กว่าจะให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งก็ต้องใช้เวลานับ 100 ปี และมีการประกันสิทธิเสรีภาพเอาไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 นั้น ตนเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาที่จำเป็นและครอบคลุมตามหลักประชาธิปไตย แต่คนทั่วไปกลับไปยกย่องเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ปี 2517 เนื่องจากว่า อ.ปรีดี รู้จุดอ่อนของระบบรัฐสภา จึงได้วางหลักไว้ 2 ประการ คือ ไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และวางหลักในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทย แต่มีจุดเปลี่ยนในรัฐธรรมนูญปี 2517 ที่มองว่า ส.ส.ที่เป็นอิสระจากพรรคการเมืองสร้างความวุ่นวาย จึงกำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค

นายปริญญากล่าวว่า ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นผู้แปรญัตติไม่เห็นด้วยให้ ส.ส.สังกัดพรรค เนื่องจากว่าหากเป็นแบบนี้แล้วก็จะทำลายหลักการประชาธิปไตย เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจให้พรรคมีมากกว่า ส.ส. แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น นายป๋วยซึ่งพยายามปกป้องหลักการของ อ.ปรีดี ก็ไม่สามารถฝืนเสียงส่วนใหญ่ได้ ซึ่งวิวัฒนาการในเรื่องนี้ มีมากขึ้น ตั้งรัฐธรรมนูญปี 2517 ส่งผลให้จากหลักการเดิมจาก ส.ส. เลือกนายกฯ มาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือก ส.ส.แทน ซึ่งพอเกิดปัญหาทางการเมืองมากขึ้น คนไทยก็ใช้วิธีง่ายๆ ตามที่ถนัดคือ การฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่มีมาแต่เดิม จนกระทั่งต้องมีการปฏิวัติและร่างรัฐธรรมนูญใหม่กันอีกครั้ง

นายปริญญากล่าวต่อว่า ซึ่งจากร่างฉบับนี้ ตนเห็นว่าก็ไม่ได้แก้ปัญหาตั้งแต่ปี 2517 เพราะในร่างนี้ได้ดึงเอา ส.ว.มาถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลแทน ส.ส. และในบทเฉพาะกาลที่มีการสรรหา ส.ว.250 คน ประกอบกับการเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วนผสมนั้น พรรคการเมืองทุกพรรคไม่มีเสียงถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สุด คือ พรรค ส.ว. หรือถ้าพูดให้ชัดก็คือพรรค คสช. อีกทั้งเจตนาของทาง คสช.เองต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติ เพราะมีความเชื่อว่าหากบอกว่าไม่ผ่านแล้วได้อะไร ประชาชนก็ตัดสินใจที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และกฎเกณฑ์ในการทำประชามติที่ออกมา ก็ไม่เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในวันนี้ คสช.จึงกลายสภาพมาผู้มีส่วนได้เสียทางการเมืองซึ่งไม่เป็นผลดี ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ดังนั้น ตนเสนอว่าควรปลดล็อกระเบิดเวลาที่จะเกิดขึ้นหลังจากการทำประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม คือ คสช.ต้องประกาศว่าการทำประชามติครั้งนี้เป็นเรื่องประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใดก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ตามสมควร โดยที่ คสช.เป็นผู้คุมเกม และต้องบอกด้วยว่าหากไม่ผ่านจะมีแนวทางอย่างไรให้ชัดเจน อีกทั้งต้องยอมรับผลจากการทำประชามติไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น