สนช.โหมลงพื้นที่แจงคำถามพ่วง 15 เวที และออกรายการช่อง “ทรูวิชั่นส์-เนชั่น” อีก 60 ตอน ตอนละ 9 นาที กรธ.ได้ 26 นาที ผนึกสถานีรัฐ-กองทัพด้วย มั่นใจฝ่ายความมั่นคงใช้กฎหมายประชามติเอาอยู่ ด้าน กกต.โชว์แอปฯ “ฉลาดรู้ประชามติ” เผยแพร่ร่าง รธน. เตรียมเปิดตัว 16 พ.ค.นี้
วันนี้ (3 พ.ค.) ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงแผนการลงพื้นที่ชี้แจงคำถามพ่วงประชามติ ว่าจะใช้เครือข่ายของ สนช.เองอธิบายหลักการและเหตุผลผ่านเวที สนช.พบประชาชน ที่ จ.นครนายก จ.ฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 28-29 พ.ค. ที่ จ.สงขลา และ จ.พัทลุง ระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย. ที่ จ.ลำปาง และ จ.ลำพูน ระหว่างวันที่ 2-3 ก.ค. ผ่านเวที การเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตร กระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีสวนร่วม ที่ จ.จันทบุรี ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค. ที่ จ.สุโขทัย ระหว่างวันที่ 26-27 มิ.ย. และ ที่ จ.นครพนม ระหว่างวันที่ 10-11 ก.ค.
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมวิป สนช.ก็เห็นชอบให้ลงพื้นที่ชี้แจงอีก 9 กลุ่มจังหวัด โดยมีสมาชิกแสดงเจตจำนงร่วมชี้แจงแล้ว 123 คน ทั้งนี้ เพื่อให้การชี้แจงครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ดังนี้ 1. กลุ่ม จ.ลพบุรี 2. กลุ่ม จ.ชลบุรี 3. กลุ่ม จ.ประจวบคีรีขันธ์ 4. กลุ่ม จ.อุดธรธานี 5.กลุ่ม จ.บุรีรัมย์ 6. กลุ่ม จ.ภูเก็ต 7. กลุ่ม จ.สงขลา 8. กลุ่ม จ.เชียงใหม่ 9. กลุ่ม จ.พิษณุโลก นอกจากนี้ สนช.ก็จะใช้เครือข่ายประชาสัมพันธ์ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ เผยแพร่และทำความเข้าใจกับประชาชน โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในฐานะประธาน กมธ. วิสามัญพิจาณาศึกษาข้อเสนอแนะเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้รับผิดชอบ
นพ.เจตน์กล่าวว่า สำหรับการร่วมงานกับ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อชี้แจง ทั้งสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ คำถามพ่วง และหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติ ผ่านรายการโทรทัศน์ช่องทรูวิชั่นส์ และเนชั่น จำนวน 60 ตอน แบ่งเป็น กรธ.ตอนละ 26 นาที ส่วน สนช. ตอนละ 9 นาที นอกจากนี้ก็จะมีการชี้แจงผ่านช่องของหน่วยงานรัฐ ตลอดจนสถานีของกองทัพบก และกองทัพเรือ ซึ่งกระบวนการประชาสัมพันธ์ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกฎหมายประชามติ
ทั้งนี้ กรธ.ก็ได้แบ่งเวลาให้ สนช.ที่จะลงพื้นที่ร่วมกันได้บรรยายหลักการและเหตุผลของคำถามพ่วง ตั้งแต่เวลา 16.45-17.30 น. อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลงพื้นที่ชี้แจงสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงประชามติ ไม่น่าจะมีปัญหาหรือการปั่นป่วน เชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงน่าจะใช้กฎหมายประชามติควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าหารือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยนำเสนอแอปพลิเคชัน “ฉลาดรู้ประชามติ” ที่ทาง กกต.จัดทำขึ้น เพื่อเผยแพร่เนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ และคำอธิบายสาระสำคัญทั้งหมด ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ ซึ่งประชาชนจะได้เรียนรู้ขั้นตอนกระบวนการออกเสียงประชามติ และศึกษาร่างรัฐธรรมนูญได้ง่าย ซึ่งการมาในวันนี้เพื่อที่ทาง กรธ.จะได้มีเวลาช่วยตรวจสอบเนื้อหาสาระทั้งหมด เพื่อความรอบคอบ ก่อนที่จะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นดังกล่าวในวันที่ 16 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น.
นายสมชัยกล่าวอีกว่า แอปพลิเคชัน “ฉลาดรู้ประชามติ” ยังอาจเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ต่างๆ ได้ อาทิ เว็บไซต์ของ กรธ. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงการเผยแพร่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ในการรณรงค์ช่วงก่อนการทำประชามติ ซึ่งต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีปัญหา