กกต.เผยถกเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป แจงแนวทางทำประชามติ เล่าข้อห้ามตามกฎหมาย ยึด 3 หลัก ไม่เท็จไม่ขยายต่อ ไม่หยาบ ไม่ปลุกระดม เพิ่มเวลาโหวตถึง 4 โมงเย็น พร้อมจัดหน่วยพิเศษให้คนพิการหากร้องขอ รับเจอถามเส้นแบ่งคำไม่สุภาพ บอกชาวบ้านรู้กันอยู่คำไหน สุดท้ายก็ต้องผ่านศาล ส่วนดีเบตจ้อผ่านทีวีรวม 12 ครั้ง ยันไม่เชิญต่างชาติสังเกตการณ์ แต่จะมาดูก็ไม่ห้าม
วันนี้ (2 พ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวหลังการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการออกเสียงประชามติร่วม กับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ณ สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประเทศไทย โดยมีนายเฆซูส มิเกล ซันส์ เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และคณะฯ ให้การต้อนรับว่า ได้มีการชี้แจงแนวทางการดำเนินการและการเตรียมความพร้อมในการออกเสียงประชามติว่า กกต.ได้ออกประกาศข้อห้ามอะไรทำได้ และอะไรทำไม่ได้ ซึ่งการออกประกาศของ กกต.ดังกล่าวยึดหลักการและวิธีการ โดยคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ให้ประชาชนออกเสียงโดยสุจริต ไม่ขัดหลักกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ข้อ คือ 1. การเสนอข้อมูลต้องไม่เป็นเรื่องเท็จ และไม่นำมาขยายต่อ 2. ถ้อยคำที่นำเสนอไม่ก้าวร้าว หยาบคาย รุนแรง 3. ไม่นำเสนอไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง
สำหรับการอำนวยความสะดวกกับประชาชนในการออกมาใช้สิทธินั้น นายสมชัยกล่าวว่า ได้ขยายเวลาการลงคะแนนออกเสียง จากเดิม 08.00-15.00 น. ขยายระยะเวลาเป็น 08.00-16.00 น. รวมทั้งเพิ่มโอกาสให้กับผู้พิการ และผู้สูงอายุ หากแจ้งความประสงค์จะลงคะแนนเป็นกลุ่มตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปก็สามารถแจ้งความประสงค์ให้จัดหน่วยเลือกตั้งพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกได้ นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย
นายสมชัยกล่าวว่า ทั้งนี้ผู้แทนฯ ได้ให้ความสนใจซักถามในประเด็นที่ว่าการใช้วาจาไม่สุภาพมีเส้นแบ่งและจะตัดสินได้อย่างไร ก็ได้ชี้แจงว่าประชาชนทราบกันดีอยู่แล้วว่าคำใดสุภาพหรือไม่ และสุดท้ายก็ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลเป็นผู้พิจารณา และสนใจสอบถามเกี่ยวกับการจัดให้มีดีเบต ซึ่งได้ชี้แจงว่า กกต.เสนอให้จัดในช่องฟรีทีวี 6 ช่อง จำนวน 12 ครั้งๆ ละครึ่งชั่วโมง โดย กกต.จะจัดเอง 6 ครั้ง และทางสถานีจัดอีก 6 ครั้ง
ส่วนประเด็นสุดท้าย ผู้แทนอียูได้สอบถามถึงการเข้ามาทำการสังเกตการณ์ของต่างประเทศจะทำได้หรือไม่ นายสมชัยตอบว่า ทาง กกต.จะไม่มีการออกจดหมายเชิญไปยังประเทศต่างๆ ในการส่งตัวแทนมาสังเกตการณ์ แต่หากประเทศใดมีความสนใจก็สามารถส่งจดหมายแจ้งความประสงค์เข้ามาได้ โดย กกต.ไทยจะไม่มีการปิดกั้น และพร้อมช่วยอำนวยความสะดวกในการบรรยายสรุป การจัดหาพนักงานท้องถิ่น โดยยินดีต้อนรับทุกประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดี