สะเก็ดไฟ
หวดไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ปฏิบัติการปูพรมถล่มโลกโซเชียลมีเดีย ของ คสช. ที่ไล่ต้อนบรรดาเพจล้อเลียนทางการเมือง เรียกว่า กวาดทีได้เป็นสิบ ๆ ชีวิต แถมยังยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ได้กระทบชิ่งไปถึงบรรดานักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแอดมินเพจ แม้ในประจักษ์พยานอาจไม่แน่ชัดว่า นักการเมืองฝั่งตรงข้ามพวกนี้ ให้การหนุนหลังหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ เมื่อปรากฏชื่อ ย่อมถูกสังคมตัดสินว่า เกี่ยวแน่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ปฏิบัติการครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ชัดขึ้นว่า เป็นยุทธศาสตร์ที่จะเก็บกวาดบรรดาปรปักษ์ทั้งหลาย ทั้งที่เคลื่อนไหวอยู่หน้าสื่อหลัก และที่เคลื่อนไหวผ่านโลกโซเชียลฯ อยู่นานพอสมควร เพราะมันเริ่มแรงทันทีที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ที่เป็นเสมือนกฎเหล็กในการทำประชามติครั้งนี้ประกาศใช้ ถือว่าเกื้อหนุนกันได้กับประกาศ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามยุยงปลุกปั่น ซึ่งจะว่าไปเป็นการติดดาบให้การควบคุมดูแลประชามติของ คสช. เข้มขลังขึ้นด้วยซ้ำไป
การใช้ยาแรงของ คสช. เที่ยวนี้ ยังเป็นการแสดงเจตนาที่ชัดว่า ต้องการให้ร่าง รธน. ฉบับนี้ผ่านประชามติ ไม่ว่าจะโดนคนนินทาหมาดูถูกอย่างไร ว่า เป็นการมัดมือชก ซึ่งการจับกุม 8 มือโพสต์ เป็นเหมือนการตัดไม้ข่มนาม เชือดไก่ให้ลิงดู สำหรับเพจอื่น ๆ ที่เข้าข่ายไปในตัว เพราะทันทีที่เจ้าหน้าที่ทหารรวบตัวบุคคลเหล่านี้ เพจอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ก็เงียบกริบไปในบัดดล
โดยเฉพาะเพจที่ไม่ได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง แต่เป็นนักเลงคีย์บอร์ด คนเหล่านี้ย่อมเกิดความเกรงกลัวว่า จะถูกสาวไส้เหมือนกับกรณีแรกหรือไม่ ยิ่งโทษที่ 8 มือโพสต์โดนเจ้าหน้าที่แจ้งเอาไว้ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่มีอัตราโทษสูงมาก พ่วงด้วย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แล้วมันอาจจะเลยเถิดไปไกลกว่าข้อหาดังกล่าวได้ ถ้าให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นคอมพิวเตอร์ และประวัติการใช้งาน ดังนั้น อาจไม่ใช่แค่ข้อหาเดียวโดด ๆ
แม้เพจที่โดนจะเป็นการล้อเลียน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ซึ่งผู้เสียหายเป็นตัวนายกฯ คนเดียว แต่อย่าลืมว่า นี่เป็นสัญญาณอีกอย่างที่เตือนไปยังเพจอื่น ๆ ให้ระมัดระวังการโพสต์อะไรที่เกี่ยวกับร่าง รธน. ในช่วงการทำประชามติ ซึ่งจะบอกว่า มาตรการกวาดล้างโซเชียลมีเดียครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ ป้องปรามข้อความอะไรที่อาจเบี่ยงเบนประเด็นเกี่ยวกับร่าง รธน. ก็คงไม่ผิดนัก
จะว่าไป ถ้าเพจไหนถูกรวบข้อหาบิดเบือนร่าง รธน. อาจโดนข้อหาแรง ๆ ได้เบื้องต้นถึง 3 กระทง นั่นคือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่าง รธน. พ.ศ.2559 ที่มีโทษสูงสุด 10 ปี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และประกาศ หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. เกี่ยวกับการห้ามยุยงปลุกปั่น โดยเฉพาะความผิดข้อหลัง ที่ได้ตีตั๋วขึ้นศาลทหารโดยอัตโนมัติ ซึ่งใคร ๆ ก็ไม่อยากลองของแน่
การจับกุมครั้งนี้ยังเหมือนเป็นการบ่งบอกให้กลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวรับรู้ว่า คสช. เอาจริง ไม่เหยาะแหยะให้ แม้แต่กลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ล่าสุด “บุรินทร์ อินติน” หนึ่งในคนกลุ่มนี้ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหา กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ต้องการกระแทกไปถึงสมาชิกที่เหลือ โดยเฉพาะบางคนที่ไม่ได้ใสสะอาด แต่มีแผลให้เจาะได้ ระวังถูกจับแล้วจะไม่ได้กลับเหมือนเพื่อน
แต่การใช้ยาแรงของ คสช. เที่ยวนี้ ก็เป็นเสมือนดาบสองคม แง่ดีอาจจะทำให้ปราบปรามได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ลดปริมาณเพจที่กระทบความมั่นคง รวมไปถึงบางเพจที่คาบเกี่ยวกับการหมิ่นเหม่สถาบันฯ ซึ่งที่ผ่านมา คสช. เองก็รู้สึกรำคาญใจ โดยมักเป็นจุดเริ่มต้นของข่าวลือต่าง ๆ นานา ที่พันแข้งพันขาให้ คสช. ต้องออกมาชี้แจงอยู่เสมอ ทั้งที่เป็นประเด็นหรอมแหรม คราวนี้เลยได้โอกาส ตัดให้เหี้ยนเลย
แต่ข้อเสียของมันอาจทำให้รัฐบาลถูกมองว่า ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจเผด็จการเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะการจับแบบกองโจร จับก่อนแล้วตั้งข้อหา อีกทั้งยังมีการหน่วงคดี เพราะนอกจากความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ แล้ว ยังพ่วงข้อหาขัดความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เข้าไปอีก เพื่อให้มาอยู่ในเขตอำนาจพิเศษอย่าง “ศาลทหาร” เข้าคอนเซปต์ จับเอง ตั้งข้อหาเอง ขังเอง ซึ่งอาจทำให้กระแสละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศมาอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป และองค์กรด้านนี้ในต่างประเทศ
มันอาจลดความชอบธรรมเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ในการประชามติครั้งนี้ ที่ประชาชนในประเทศมีสิทธิ์แค่กากบาทเลือกว่า จะรับ หรือไม่รับ ไม่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นที่อาจไปกระแทกความรู้สึกของผู้มีอำนาจได้เลย สุดท้ายอาจทำให้ รธน. ฉบับนี้ใช้ไปได้ไม่นาน กลายปฐมเหตุของความขัดแย้งหนใหม่ เพราะไม่ได้รับการยอมรับ ก็ขนาด รธน. ปี 50 ที่เปิดให้รณรงค์กันกว้างขวาง ยังถูกค่อนแคะว่า เป็นผลไม้พิษของเผด็จการมาแล้ว สุดท้ายก็ใช้ได้ไม่กี่ปี ก็ถูกฉีก
ขณะที่ในมุมของทหาร วันนี้ก็ชัดว่าเหตุที่ต้องเล่นยาแรง เพราะต้องการป้องปรามให้การทำประชามติราบรื่นที่สุด และเหมือนจะรับรู้อยู่แล้วว่า ต้องถูกโจมตีเรื่องการใช้อำนาจเผด็จการ ละเมิดสิทธิมนุษยชน หากใช้อำนาจดังกล่าว จึงมีความพยายามนำกฎหมายต่าง ๆ ออกมากาง เพื่อให้เห็นว่า ไม่ได้จับสุ่มสี่สุ่มห้า ทุกคนที่ถูกจับกุม จะไม่ใช่แค่ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่เป็นอาวุธของ คสช. อย่างเดียว แต่มีกฎหมายปกติอย่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาอ้างด้วย ประหนึ่งเป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้กับการกวาดล้างครั้งนี้ ดูสวยหรู
แม้จะฟังไม่ขึ้นเมื่อเทียบกับบางเรื่องที่ดูจุ๋มจิ๋มเกินไป แต่ถ้าดูนิสัยที่ผ่าน ๆ มา รัฐบาล และ คสช. มักไม่แคร์กับกระแสเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่าไหร่ แต่กลับตัดไฟตั้งแต่ต้นลมทุกครั้งที่มีจุดเสี่ยง ที่จะพาให้บานปลายได้ จนดูเหมือนระแวงเกินเหตุ เหตุหนึ่งอาจเพราะทหารไม่ใช่นักการเมือง เลยไม่จำเป็นต้องพะว้าพะวงกับคะแนนเสียง ต้องทำภาพลักษณ์ให้ดูดี ที่สำคัญ ภารกิจบนบ่ามันยิ่งใหญ่เกินกว่าจะมาติดหล่มเรื่องดังกล่าว เพราะมันอาจทำให้งานสำคัญเสียได้
จะเห็นว่า ตั้งแต่เข้ามา นอกจากการยกเลิกกฎอัยการศึก เรื่องการดูแลความมั่นคง คสช. แทบไม่ได้ผ่อนอะไรเลย แต่หวดหนักมาตลอด อยู่ที่ช่วงไหนจะถี่กว่ากันเท่านั้น เพราะถือคติว่า เมื่อใดที่ผ่อน ความเกรงกลัวของคนจะหมดไป ฝ่ายต้านจะสบช่องออกมาลองของ ครั้นเมื่ออยากจะกลับมาแรงอีกครั้งก็สาย เพราะคนดื้อยาไปเสียแล้ว